‘เอลนีโญ’มาแล้วร่วมขย่ม ศก. เอกชนคาดทำระบบทรุด 3.6 หมื่นล้าน รัฐปาดเหงื่อเร่งงัดแผนสู้

บทความเศรษฐกิจ

 

‘เอลนีโญ’มาแล้วร่วมขย่ม ศก.

เอกชนคาดทำระบบทรุด 3.6 หมื่นล้าน

รัฐปาดเหงื่อเร่งงัดแผนสู้

 

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ถือเป็น 6 เดือนที่มีความท้าทาย และมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามเป็นอย่างมาก

แม้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเติบโตอย่างสดใสอีกครั้ง ในช่วงปลายปีนี้

แต่ทว่าปัจจุบันมีอีกหนึ่งปัจจัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้หลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อเพาะปลูกแล้ว

โดยประเด็นเรื่องความแห้งแล้งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญอย่างมากกับการเพาะปลูกพืช ซึ่งพืชผลต่างๆ ล้วนแต่เป็นวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการแปรรูปให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออก

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลยังมั่นใจว่าสามารถป้องกันเรื่องนี้ได้ แม้ปัจจุบันจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่

 

กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้เตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วงไว้แล้วโดยได้มีการสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ประเมินแผนดำเนินการไว้ล่วงหน้า

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 43,870 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57% ของความจุอ่างรวมกัน มากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

นอกจากการเตรียมความพร้อมรับมือฝนทิ้งช่วงของกรมชลประทานแล้ว ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นและหลายจังหวัดอาจประสบปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตร

ขณะนี้ กอนช.ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้า ทั้งด้านการเกษตร ด้านอุปโภคบริโภคเพื่อผลิตน้ำประปา และน้ำในภาคอุตสาหกรรม เพื่อชี้เป้าพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันและช่วยเหลือประชาชนคู่ขนานไปกับการสร้างการรับรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังต้องดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ควบคู่ไปด้วย หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2566

อาทิ เร่งรัดซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ ระบบระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ หรือเครื่องจักรเครื่องมือ ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก

และให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์แผนการส่งน้ำ จัดรอบเวรการส่งน้ำ ตามปริมาณน้ำที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ต่อไป

 

แม้ภาครัฐจะกางแผนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้แล้ว ทางภาคเอกชนก็ยังไม่วางใจ โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการประชุมและมีความกังวลในเรื่องของภัยแล้งเป็นอย่างมาก หากในพื้นที่เกษตรขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหารโดยตรง ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบถึงค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง และในที่สุดก็จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ให้มีโอกาสสูงขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภัยแล้ง อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 36,000 ล้านบาท ดังนั้น กกร. จึงได้มีการทำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว

และมองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

สอดคล้องกับมุมมองของ สมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่คาดหวังว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งบริหารจัดการเพื่อให้น้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกแหล่งอุตสาหกรรม และท่องเที่ยว ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันมีน้ำฝนเข้ามาเพิ่มเติมแล้ว แต่ปริมาณฝนในปี 2566 มีปริมาณลดลง โดยคาดว่าฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ 40% พื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าปกติ 60% แต่น้ำต้นทุนยังเพียงพอในการใช้ระหว่างที่ฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน และคาดว่าฝนจะมาอีกครั้งในเดือนสิงหาคม แต่สิ่งที่กังวลคือปี 2567 น้ำต้นทุนในภาคตะวันออก อาจจะลดหนักหากไม่เร่งบริหารจัดการน้ำอาจเกิดปัญหาได้ ขณะนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็ว

สำหรับข้อเสนอจากภาคเอกชนที่อยากให้รัฐบาลรีบทำการช่วยเหลือ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน จำเป็นจะต้องเตรียมระบบสูบและผันน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มาสะสมไว้เป็นน้ำต้นทุนให้มากขึ้น อาทิ อ่างประแสร์ ผันน้ำจากอ่างบางพระ แม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ระยะกลาง ควรเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี รวมถึงเร่งรัดการรับมือภัยแล้งต่างๆ ให้เร็วขึ้นในช่วง 1-3 ปีนี้

และระยะยาว จำเป็นต้องมองการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว สังคมเมือง ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แหล่งน้ำต้องเพียงพอ

 

จากข้อเสนอเรื่องการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออก หรืออีอีซีนั้น ทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมระบบสูบกลับน้ำทั้งโครงข่าย อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งได้เริ่มสูบน้ำไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2566 ให้ได้ประมาณ 250,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือ 7.50 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน

เมื่อสิ้นฤดูฝน กรมชลประทานจะมีการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต มาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งในปี 2566 วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2566

แม้ว่าภาครัฐจะงัดแผนสกัดแล้งมาโชว์ให้เห็นกันจะจะ แต่ภาคเอกชนก็ยังไม่สามารถสลัดความกังวลออกไปได้ แผนรับมือในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกบทพิสูจน์ส่งท้ายรัฐบาลชุดเก่า ว่าจะสามารถพาไทยฝ่าวิกฤตธรรมชาติไปได้

หรือจะทิ้งปมให้ทีมรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสางปัญหาซ้ำซากนี้ต่อไป