ศึกษา ระยะห่าง ระหว่าง จิตร ภูมิศักดิ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

ศึกษา ระยะห่าง

ระหว่าง จิตร ภูมิศักดิ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ระยะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนและพิมพ์ “นิราศเมืองนนท์” เมื่อปี พ.ศ.2507 เส้นทางวรรณกรรมยังอยู่ในเทศะอันห่างกับ จิตร ภูมิศักดิ์

เพราะเป็นห้วงเวลาที่ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ “ลาดยาว”

อยู่ระหว่างการเขียน “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

เมื่อมองผ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็จะสัมผัส “นิราศนี้ดีชั่วตัวคนเขียน เป็นนักเรียนถือดีเชื่อผีสาง ที่ร้องร่ำคร่ำครวญถึงนวลนาง ก็ตามอย่างของคุณครูสุนทร”

นั่นก็คือ อยู่ในขนบแห่ง “สุนทรภู่”

หากเทียบ “ย้อน” กับ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็จัดได้ว่าเป็น จิตร ภูมิศักดิ์ ในระยะที่เขียนบทความ และจ่าหน้าซองถึง ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์

ดังที่มีการจดจารบันทึกเอาไว้ว่า

วัยเยาว์ สุขสม

ของ จิตร ภูมิศักดิ์

จิตรชอบอ่านและเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม จากบันทึกประจำวันในวัยเยาว์ของเขาจะเห็นได้ว่ามีความนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด สนใจอ่านหนังสือ เช่น โบราณวัตถุ, พงศาวดารกัมพูชา, ประชุมจารึกสยาม

และบารมีแก่กล้าถึงกับเขียนเรื่อง “กำเนิดลายสือไทย” ลงในหนังสือพิมพ์ “เยาวศัพท์” ของคณะสมาคมนักเรียนแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2493 เมื่อเข้าเป็นน้องใหม่แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียน “วิทยานุกรม” อันเป็นงานในแบบสารานุกรม พจนานุกรม เขียนได้เพียงตัว ก. ก็เลิก

นอกจากนั้น ยังเขียนบทความทางภาษาและวรรณคดีไปลงในนิตยสารที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ขณะนั้น

ทั้ง วงวรรณคดี ทั้ง ปาริชาติ ทั้ง วิทยาสาร

คำ พยากรณ์

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นักโหราศาสตร์และนักวรรณคดีในแนวคลาสสิค บรรณาธิการนิตยสาร “ปาริชาติ” เคยเขียนถึงจิตรอย่างยกย่องบนฐานแห่งการพยากรณ์

“หนุ่มน้อยนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเรื่องมากำนัล ‘ปาริชาติ’ 1 เรื่อง

เรื่องนี้เป็นดวงชะตาพยากรณ์ได้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ จักเป็นศิลปินผู้สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์สำคัญผู้หนึ่งในอนาคต ด้วยทำนองเขียนและวิธีอ้างอิงที่ไม่ซ้ำแบบกับของใคร

จากการค้นคว้าเอกสารและการติดต่อไต่ถามผู้ใหญ่ของ จิตร ภูมิศักดิ์

ต่อไปเด็กหนุ่มผู้นี้จะเป็นแก้วอีกดวงหนึ่งของคนไทย ถ้าหากเขาไม่ละทิ้งความพิสมัยในวรรณคดีนั้นเสีย”

นี่ย่อมเป็น “เส้นทาง” เดียวกันกับที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สนใจ

คน ปราจีนบุรี

เริ่มต้น ที่ศรีประจันต์

จุดร่วมอันทรงความหมายยิ่งโดยพื้นฐาน ทั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ ทั้ง สุจิตต์ วงษ์เทศ ล้วนเป็นคนปราจีนบุรี คนหนึ่งอยู่ “ศรีประจันต์” คนหนึ่งอยู่ “ศรีมหาโพธิ”

ความสนใจอันเป็นจุดเริ่มต้น สนใจประวัติศาสตร์ สนใจโบราณคดี สนใจวรรณคดี

เพียงแต่คนหนึ่งหนักไปทาง “เขมร” คนหนึ่งหนักไปทาง “ลาว”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกผ่าน “นิราศเมืองนนท์” “แต่สักครู่มาถึงท่าน้ำ เรือประจำออกด้นชลสาย มาถึงบางนายไกรคิดไม่วาย

นี่บ้านนายไกรทองคนสองเมีย

เขาเก่งกล้าสามารถฉลาดเฉลียว วิชาเชี่ยวเชิงไสยไม่เสื่อมเสีย รับอาสาพระพิจิตรสนิทเนีย ร่ายมนต์เคลียเข่นฆ่าชาละวัน”

ทุกอย่างเดินไปตาม “ขนบ” ดำรงลักษณะแห่ง “นิราศ” ครบถ้วน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เช่นเดียวกับ ขรรค์ชัย บุนปาน นั่นก็คือ เริ่มต้นจากรัก “การอ่าน” ท่องไปในโลกแห่ง “หนังสือ” พื้นฐานอย่างสำคัญที่ควร “เน้น” อีกครั้ง

1 การสะสมความจัดเจนมาจากการเคี่ยวกรำ ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างที่ระบุ “โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากกว่า 12 ปี”

เป็น 12 ปี จากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เป็น 12 ปี จากโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แม้จะเป็นศิษย์สายตรงของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล แต่ก็แนบแน่นอย่างเป็นพิเศษอยู่กับ ศรีศักร วัลลิโภดม

และต่อสายถึง มานิต วัลลิโภดม

 

บ้านนอก ขอกตื้อ

รากฐาน ตัวตน

พื้นฐานที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด คือ พื้นฐานอย่างที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุหนักแน่นและจริงจัง นั่นก็คือ “หมู่บ้าน”

“เนื่องจากเกิด ‘บ้านนอกขอกตื้อสะดือจุ่น’ และเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย ‘หนีเรียน’ ไปตามหมู่บ้านเกือบทั่วประเทศ”

เพื่อ 1 สำรวจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดี และ 1 ก็มีโอกาสได้ “พบภาษาและวรรณกรรมแตกต่างและหลากหลาย” แม้จะถ่อมตัวว่ายัง “ซึมซับได้ไม่ครบถ้วน” แต่ที่ได้มาอย่างแน่นอน คือ ลักษณะ “บ้าน-บ้าน”

แม้จะเป็น “ปัญญาชน” แต่ก็ติดดินเป็นอย่างยิ่ง

ยังสามารถ “ทอดน่อง” ร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน ได้อย่างคล่องใจ

ต้องยอมรับว่าการเป็น “นักศึกษา” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อยู่ในห้วงสำคัญห้วงหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งภูมิปัญญา นั่นก็คือ เป็นยุคระหว่าง “สฤษดิ์-ถนอม”

จึงซึมซับคำประกาศที่ว่า “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำก็จะย่ำไปงานบอล เสพเสน่ห์สโมสร” และส่วนหนึ่งแปรมาเป็น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจยังมิได้รับรู้ความเป็นจริงได้อย่างถ่องถ้วน แต่เมื่อเข้าสู่ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

ทุกอย่างดำเนินไปในลักษณะประสบการณ์ “ตรง” ยิ่งเมื่อย้ายวิกจากที่นั่งทำวารสารอยู่ในคณะโบราณคดี และสะสมความจัดเจนจากนิตยสาร “ช่อฟ้า” ด้วยการเปิดทางให้โดย สำราญ ทรัพย์นิรันดร์

ทุกประสบการณ์จึงเป็นเหมือนกระดานหกให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ทะยานไปอยู่ในวงจรแห่ง “สยามรัฐ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ระยะ จิตร ภูมิศักดิ์

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ในห้วงที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน “นิราศเมืองนนท์” ในห้วงที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าไปอยู่ในร่มเงาแห่ง “สยามรัฐ”

จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มีการแปรเปลี่ยน

เป็นการแปรเปลี่ยนจากถูกจำขัง ณ คุกลาดยาว ออกมาอยู่โลกภายนอกระยะหนึ่ง แล้วก็ “จร” ไปยังเขตป่าเขา แล้วก็สร้างตำนานดังที่ หงา คาราวาน จดจารเอาไว้ผ่านบทเพลง “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินเข็ญ”

เส้นทาง จิตร ภูมิศักดิ์ กับ เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงยังห่างไกลกัน

ต้องใช้ “เวลา” อีกยาวนาน กว่าจะเข้ามา “ใกล้”