การพักผ่อนสมัยปฏิวัติ 2475 : ถนนและการส่งเสริมการท่องเที่ยวสมัยประชาธิปไตย

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การพักผ่อนสมัยปฏิวัติ 2475

: ถนนและการส่งเสริมการท่องเที่ยวสมัยประชาธิปไตย

 

ถนนหลวง

: การปฏิวัติระบบคมนาคมแห่งระบอบใหม่

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนโฉมการเดินทางอย่างใหม่ด้วยการสร้างโครงข่ายระบบทางหลวงขึ้น ซึ่งแต่เดิมที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้รางรถไฟเป็นหนทางในการรวมศูนย์อำนาจ เส้นทางรถไฟจึงเป็นเสมือนประตูแห่งอำนาจในการควบคุมดินแดนต่างๆ ให้มีเอกภาพ (วิภัส เลิศรัตนรังษี, 2558)

แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างรุนแรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อกบฏบวรเดชที่ฝ่ายกบฏยึดกุมระบบรางรถไฟเป็นเส้นทางหลักด้วยมีข้าราชการในกรมรถไฟที่จงรักภักดีกับระบอบเดิมช่วยเหลือ ทำให้รัฐบาลเผชิญความยากลำบากในการขนกำลังพลปราบปรามฝ่ายกบฏ

แต่เมื่อการปราบกบฏจบสิ้นลงแล้ว รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวผนวกกับการบริหารตามหลัก 6 ประการในการสร้างความสุขสมบูรณ์และการอำนวยการคมนาคมให้กับเทศบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ (2476) อันกระจายตัวทั่วประเทศที่อยู่ห่างไกลเส้นทางรถไฟ

ต่อมา รัฐบาลพระยาพหลฯ อนุมัติแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินขึ้นทั่วประเทศ( 2479) เพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ เข้าหากันขึ้น และอำนวยประโยชน์สุขในการคมนาคมค้าขาย แผนสร้างทางหลวงแผ่นดินถือเป็นการปฏิวัติระบบคมนาคมโดยใช้ถนนแทนระบบรางและทางน้ำ (อัมพิกา สวัสดิ์วงศ์, 2558)

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เจตจำนงของรัฐบาลคณะราษฎรที่สร้างระบบทางหลวงขึ้นสมัยประชาธิปไตยเพื่อเป็นโครงข่ายการคมนาคมที่สร้างความเจริญและเชื่อมโยงการค้าขายและความสุขสมบูรณ์ให้กับประชาชาติ หรือกล่าวอีกอย่างคือ “ถนนแห่งความเจริญ”

ด้วยนโยบายการคมนาคมใหม่ที่มุ่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมด้วยถนนโดยเปลี่ยนจุดเน้นจากรถไฟตามแบบเดิมมาสู่ถึงการสร้างทางหลวงด้วยโครงการก่อสร้างทาง 18 ปี (อิจิโร คากิซากิ, 2549)

รถบัสท่องเที่ยว (2480) และนิตยสารท่องเที่ยวสัปดาห์ (2485) สมัยประชาธิปไตย
เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร, น้องนนท์

ถนน : การคมนาคมแห่งระบอบใหม่

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายคมนาคมที่เน้นการสร้างโครงข่ายทางถนนเชื่อมภูมิภาค จังหวัดต่างๆ รวมทั้งเชื่อมอำเภอต่างๆ เข้าหากัน โดยมีโครงการก่อสร้างทาง 18 ปี

รายงานเมื่อปี 2479 นั้น มีทางหลวงที่สร้างเสร็จแล้ว คือ ถนนไปทางภาคตะวันออก เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ สายฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สัตหีบ

ถนนในภาคตะวันตก เช่น สายนครปฐม-กาญจนบุรี สายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ การสร้างถนนในภาคอีสาน เช่น สายชนบท-มหาสารคาม สายขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ถนนในภาคเหนือ เช่น สายเด่นชัย-แพร่ สายลำปาง-เชียงราย-เชียงแสน

การสร้างถนนลงภาคใต้ เช่น สายบ้านชะอำ-หัวหิน สายกระบุรี-ชุมพร สายตะกั่วป่า-ท่านุ่น-พังงา สายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง สายหาดใหญ่-สตูล สายสงขลา-สะเดา และสายโคกโพธิ์-ปัตตานี-นราธิวาส

ส่วนทางหลวงที่กำลังก่อสร้างอีกจำนวนมาก เช่น สายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา สายกรุงเทพฯ-ขาณุฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สายบ้านพาชี-อรัญประเทศผ่านนครนายก ปราจีนบุรี สายเพชรบูรณ์-หล่มเก่า สายพิษณุโลก-สุโขทัย สายขอนแก่น-เชียงคาน สายเลย-นครพนมผ่านอุดรธานีและสกลนคร สายอุบลฯ-นครพนม สายอุบลฯ-มหาสารคาม สายพังงา-กระบี่ และสายตันหยงมัส-เบตง เป็นต้น

รวมทั้งรัฐบาลได้ขยายและปรับปรุงถนนบางสายในกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น มีการจัดระเบียบจราจรและตั้งตำรวจจราจรขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน

ต่อมารัฐบาลสร้างป้ายกิโลเมตรที่ 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นจุดเชื่อมโยงทางหลวงแผ่นดินสายประธานสายต่างๆ อันหมายความว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเจริญที่แผ่กระจายไปทั่วประชาชาติไทย

รัฐบาลจอมพล ป.ประกาศว่า “รัฐบาลปัจจุบันเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งที่จะบำรุงประชาชนพลเมืองให้ได้รับความสุขกายและสุขใจ จึ่งได้ส่งเสริมการตากอากาศเพื่ออนามัยเป็นงานใหม่ของชาติขึ้น คู่ขนานไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับอาหารดี อันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อร่างกายและทั้งส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแกร่งแห่งพละกำลัง” (กรมสาธารณสุขฯ, 2483, 34)

ทางเกวียนปูด้วยไม้ไผ่สานเพื่อรับเสด็จเจ้านายครั้งระบอบเก่า Photo : Disapong Netlomwong กับการสร้างทางหลวงสมัยประชาธิปไตย (2484) เครดิตภาพ : สมุดภาพกรมทางหลวง

การส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับพลเมือง

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 การส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เริ่มอย่างชัดเจนเมื่อ 2479 ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ กระทรวงเศรษฐการนำเสนอโครงการบำรุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแผนและวัตถุประสงค์ของการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3 ประการคือ

1. งานโฆษณาชักชวนนักท่องเที่ยว

2. งานรับรองนักท่องเที่ยว

3. งานบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก

เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2479 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการบำรุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระทรวงเศรษฐการได้มอบงานนี้ให้กรมพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมามอบหมายให้แผนกส่งเสริมพาณิชย์และท่องเที่ยวดำเนินการ

แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว รับจัดการเดินทาง สำรองที่พัก จัดซื้อตั๋วโดยสาร ช่วยเหลือให้ความสะดวกและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ

ต่อมาเมื่อกระทรวงคมนาคมรับโอนกรมรถไฟมาสังกัด (2484) มีการจัดทำนิตยสารท่องเที่ยวขึ้นด้วยในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ป.อินทรปาลิตเล่าถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2482 ที่สวนอัมพรไว้ในพลนิกรกิมหงวนว่า เขาเห็นร้านส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวของกรมพาณิชย์ ติดไฟสว่างไสวหลายพันแรงเทียน ภายในร้านมีภาพวิวและข้อมูลท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ มากมายเพื่อเชิญชวนคนไปท่องเที่ยว ตากอากาศยังสถานที่ต่างๆ ของไทย

บทความเรื่อง “การเปลี่ยนอากาศเพื่ออนามัย” (2483) ชี้ให้เห็นความสำคัญการตากอากาศว่า “การทำงานอันคร่ำเคร่งโดยไม่มีการหยุดพักเพื่อพักผ่อนอารมณ์เลยนั้นย่อมทำให้กำลังกายและกำลังปัญญาอ่อนเพลียเหนื่อยล้าอาจเป็นเหตุนำมาซึ่งโรคภัยหรือทำให้สมองทึบได้

ถ้าได้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจโดยไม่ข้องแวะกับกิจการอันหนักใจหรืองานอันสมองตองหมกหมุ่นเสียบ้างแล้วก็จะช่วยบำรุงให้สุขภาพดีขึ้น อารมณ์สดชื่นขึ้น…

เหตุนี้ การไปพักตากอากาศจึ่งนิยมกันว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสุขภาพของร่างกายและเพื่อบำรุงปัญญาให้สามารถต่อต้านกับภารกิจอันจะต้องประสบต่อไปในอนาคตได้ดีขึ้น” (กรมสาธารณสุขและกรมประชาสงเคราะห์, 2483, 33)

รัฐบาลเรียกร้องให้พลเมืองพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แต่เพียงตัดขาดออกจากการทำงานเท่านั้น แต่ต้องตัดขาดออกจากกิจการงานบ้านด้วย ดังนั้น การพักตากอากาศ จึงมิใช่แค่การหยุดจากการทำงานเท่านั้น แต่เป็นการอยู่ในสถานที่ใหม่ที่สวยงาม พาจิตใจเพลิดเพลินจึงถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจด้วย

การตัดถนน มุกดาหาร นครพนม 2481 สมุดภาพกรมทาง

ดังนั้น รัฐบาลเห็นว่า การพักผ่อนยังสถานที่ตากอากาศ จึงทำให้จิตใจแช่มชื่น เพลินตาเพลินใจ ตัดความวิตกกังวลในเรื่องการงานต่างๆ ทำให้สมองได้พัก ปอดได้สูดอากาศที่สดชื่นบริสุทธิ์ การไปพักที่สถานที่ตากอากาศจึงเป็น “เครื่องบำรุงสุขภาพแห่งร่างกาย”

อีกทั้งการตากอากาศยังทำให้คนที่มีอาการสมองมึน นอนไม่หลับอย่างยาวนาน มักเกิดจากจิตใจหมกหมุ่นกับงานมากเกินไป หากไปพบแพทย์ มักจะได้รับคำแนะนำให้ “ไปตากอากาศเสียบ้าง ” หรือ “เปลี่ยนอากาศเพื่ออนามัย” เสียบ้าง (กรมสาธารณสุขฯ, 33-34)

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยพยายามส่งเสริมพลเมืองให้มีสุขภาพพลานามัยให้สมบูรณ์แข็งแรงทั้งการกิน ออกกำลังกายและพักผ่อนเพื่อสร้างชาติ ด้วยการสร้างหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและสถานตากอากาศแห่งใหม่แห่งยุคประชาธิปไตยเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงการพักผ่อนได้อย่างเสมอภาค สะดวกและประหยัดมากกว่าหัวหินครั้งระบอบเก่า

สมัยประชาธิปไตยเดินทางท่องเที่ยวด้วยถนน (2484) และป้ายกิโลเมตรที่ 0 แสดงแผนผังถนน สมัยคณะราษฎร
การท่องเที่ยวในเพชรบุรี ราว 2482 เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ (2479-2481) เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร
ท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม (15 ธันวาคม 2485) และคู่มือชีวิตอนามัย (2483)
นักท่องเที่ยวที่เพชรบุรี ราวต้นทศวรรษ 2480 เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิต