ส่วย : เครื่องถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจ

คําว่า “ส่วย” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “ภาษี” ที่รัฐบาลเรียกเก็บจากราษฎรเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ แต่สำหรับภาษาไทย “ส่วย” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อยู่ 2 ความหมาย คือ

1. รายได้แผ่นดินประเภทหนึ่งเรียกเก็บเป็นสิ่งของหรือเงินตราแทนการเข้าเดือนหรือรับราชการ, สิ่งของพื้นเมืองที่เมืองหลวงเรียกเกณฑ์จากหัวเมืองเป็นประจำเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ, บรรณาการจากประเทศราช

2. ชนชาติพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรพวกหนึ่ง อยู่ทางภาคอีสาน

ปัจจุบัน ภาษีส่วย ไม่มีการเรียกเก็บแล้ว เพราะประเทศไทยยกเลิกระบบไพร่และปฏิรูประบบภาษีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ส่วย” จึงเป็นคำสแลง เปรียบเปรยการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะของข้าราชการเพื่อแลกกับการอนุญาตให้กระทำความผิดหรือประโยชน์อันมิควรจากประชาชน เสมือนการเก็บภาษีอากรรูปแบบหนึ่งในการประกอบธุรกิจ

ล่าสุด คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทิ้งบอมบ์ เปิดโปง ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก จนเก้าอี้ผู้การทางหลวงร้อนเป็นไฟ ขอย้ายตนเองเข้ากรุเพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส

 

ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม “ส่วย” ถือเป็นสิ่งขีดขวางความเจริญของประเทศ เพราะ “ส่วย” ทำหน้าที่ขัดขวาง “มือที่มองไม่เห็น (Invisible hand)” ตามทฤษฎีของอดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect competition market) กลไกราคาของสินค้าและบริการจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) หรือความต้องการซื้อ และความต้องการขาย นั่นเอง ซึ่งกลไกการทำงานของตลาด (Market) ในการกำหนดราคาสินค้าและบริการจากอุปสงค์และอุปทาน นี้เองที่อดัม สมิธ ตั้งชื่อว่า “มือที่มองไม่เห็น”

ภายใต้สภาวะตลาดแข่งขันสมบูรณ์ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่มีผู้ซื้อและผู้ขายรายใดมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือตลาด ในการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ทุกคนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจึงเป็นเพียง “ผู้รับราคา (Price taker)”

การที่ทุกคนเป็นผู้รับราคา จึงก่อให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตนเอง และผู้ซื้อสามารถเลือกสินค้าและบริการที่ราคาและคุณภาพดีที่สุดแก่ตนเอง ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคจึงได้ประโยชน์จากการแข่งขัน

 

ฟาก ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect competition market) ในทางเศรษฐศาสตร์นิยมจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ตลาดผู้ขายรายเดียว (Monopoly market) 2.ตลาดผู้ซื้อรายเดียว (Monopsony market) 3.ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly market) 4.ตลาดผู้ซื้อน้อยราย (Oligopsony market) และ 5.ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic competition market)

ซึ่งตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์เป็นที่ปรารถนาของเอกชนภาคธุรกิจ เพราะสามารถเป็น “ผู้กำหนดราคา (Price maker)” สร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจของตนเอง

ตัวอย่างธุรกิจที่มีผู้ขายรายเดียวหรือผู้ขายน้อยราย เช่น การประปานครหลวง การประปาภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค ธุรกิจโทรคมนาคมผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้มีอำนาจเหนือตลาด จึงสามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการได้ ภาครัฐจึงต้องใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการกำกับมิให้ธุรกิจเหล่านี้ค้ากำไรเกินควร

ในทางกลับกัน ตัวอย่างธุรกิจที่มีผู้ซื้อรายเดียวหรือผู้ซื้อน้อยราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค ธุรกิจกระดาษและเยื่อกระดาษ ธุรกิจน้ำตาล เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดราคารับซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขาย

บ่อยครั้งที่ราคาที่รับซื้อไม่สัมพันธ์กับต้นทุนการผลิตของผู้ขาย แต่ผู้ขายก็ต้องจำใจขายเพราะไม่มีตลาดอื่นให้จำหน่ายสินค้า

 

ส่วนตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดนั้น เกิดจากผู้ขายสินค้าและบริการ สร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการของตนเอง จนกระทั่งมีอำนาจผูกขาดตลาดได้บ้าง จึงสามารถขายสินค้าและบริการของตนเองในราคาที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง สตาร์บัคส์ กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องสำอาง เป็นต้น

ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์เหล่านี้มี “อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to entry)” ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดขึ้นโดยการกลั่นแกล้งพยายามเอารัดเอาเปรียบคู่แข่งอย่างไม่ยุติธรรม หรือเกิดขึ้นโดยเทคโนโลยีก็ได้

หรือหากพิจารณาในมุมทุนนิยม อาจแบ่งเป็นอุปสรรคอันเป็นผลเนื่องจากต้นทุนสมบูรณ์ (Absolute cost barrier) อุปสรรคอันเนื่องจากการประหยัดจากขนาด (Economies of scale barrier) หรืออุปสรรคอันเนื่องจากการสร้างความแตกต่างในสินค้า (Product differentiation barrier)

 

ในโลกอุดมคตินักเศรษฐศาสตร์พยายามผลักดันให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ในทุกตลาดสินค้าและบริการผ่านนโยบายของรัฐ

แต่โลกแห่งความจริงมักสวนทางกับโลกอุดมคติเสมอ โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์มากมาย

ที่เกิดจากส่วยและการคอร์รัปชั่นก็ไม่น้อย เช่น ส่วยรถบรรทุกสามารถบรรทุกได้มากกว่าคู่แข่ง ส่วยฟุตปาธสามารถเช่าพื้นที่สาธารณะขายอาหารได้ในราคาถูก ส่วยฮั้วงานประมูลรัฐบาล ส่วยโควต้าส่งออก การลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แป๊ะเจี๊ยะส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน การลากงบประมาณแผ่นดินลงพื้นที่ของตนเองโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ซึ่งตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์นี้เองที่ก่อกำเนิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และขัดขวางการพัฒนาสินค้าและบริการในระยะยาว

ส่วยและการคอร์รัปชั่น ทำหน้าที่ขัดขวางมิให้ตลาดมีการแข่งขันสมบูรณ์ ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพต่ำในราคาสูง คอยขัดขวางการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เหนี่ยวนำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี สร้างปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ บั่นทอนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และท้ายที่สุดส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเสียไป

 

ขอปิดท้ายด้วยวลีเด็ดจากภาพยนตร์เรื่อง มังกรสร้างชาติ The Founding of a Republic (2009) ตัวละครเจียงไคเช็ก กล่าวกับบุตรชายว่า

“พวกโกงกินมันแทรกซึมเข้ามาถึงกระดูกของพรรคเราแล้ว ปัญหาไม่ใช่แค่สกุลข่ง การปราบคอร์รัปชั่นเป็นงานใหญ่ ต้องดูเวลา ดูว่าควรไม่ควร มันยาก… ถ้าแก้ก็สิ้นพรรค ไม่แก้ก็สิ้นชาติ”

ส่วนตัวละครเหมาเจ๋อตุงกล่าวกับหลี่จื้อเซินว่า

“เรื่องส่วนตัวใหญ่แค่ไหนก็เรื่องเล็ก เรื่องบ้านเมืองเล็กแค่ไหนก็เรื่องใหญ่”

สุดท้ายเจียงไคเช็กสิ้นชาติในที่สุด