‘อรรถจักร์’ ชี้พลัง ‘พลเมือง-การเคลื่อนย้ายทางสังคม’ ทำให้ ‘ก้าวไกล’ ชนะเลือกตั้ง

หมายเหตุ : เนื้อหาบางส่วนว่าด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกล ผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ในภาพรวม และความเปลี่ยนแปลงในสนามการเมืองเชียงใหม่ มาจากบทสัมภาษณ์ “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรายการเอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี

 

: อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายชัยชนะของก้าวไกลผ่านเรื่อง “สำนึกใหม่” ของประชาชน ส่วนอาจารย์เกษียร เตชะพีระ มองว่าชัยชนะนี้เกิดจาก “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่” ที่ก่อให้เกิด “อำนาจนำทวนกระแส” ในสังคม ในมุมอาจารย์ มองว่าชัยชนะของก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้บ่งชี้อะไรบ้าง?

ผมคิดว่าสอดคล้องกันไป ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์นิธิพูดถึงเรื่องสำนึกใหม่ หรืออาจารย์เกษียรพูดถึงโครงสร้างความรู้สึก ทั้งสองส่วนคือสิ่งเดียวกัน

แต่สิ่งที่ผมอยากจะขยายเพิ่มขึ้น ก็คือว่า สำนึกใหม่คืออะไร? โครงสร้างความรู้สึกคืออะไร? ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้ง สิ่งที่เกิดขึ้นที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสำนึกใหม่หรือโครงสร้างความรู้สึก ผมคิดว่ามันสัมพันธ์กันอยู่สองเรื่อง

เรื่องหนึ่ง ฐานที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มันทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยสำนึกถึงสิ่งที่เราเรียกว่าความเท่าเทียมมากขึ้น แล้วสำนึกความเท่าเทียมที่มีพัฒนาการมา ค่อยๆ เปลี่ยนมา มันได้เริ่มเปลี่ยนคนในสังคมไทยให้กลายเป็น “พลเมืองผู้กระตือรือร้น” มากขึ้น และเป็น “พลเมืองผู้กระตือรือร้นทางด้านการเมือง” มากขึ้น

ความรู้สึกเท่าเทียมเมื่อมาบวกกับสิ่งที่ผมใช้คำว่าพลเมืองผู้กระตือรือร้น มันจึงเกิดปรากฏการณ์ของการเคลื่อนไหวอย่างลึกซึ้งของการโหวตครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การโหวต ก่อนหน้านี้ก็เกิดแล้ว และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือกระบวนการหลังจากนี้ไป

ผมคิดว่ามันมีความสำนึกของความเท่าเทียมและพลเมืองผู้กระตือรือร้น มันจะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมไทยไปอย่างมากในอนาคตนี้

 

: ผลเลือกตั้งที่ออกมาอาจสะท้อนว่าโครงสร้างความคิดเดิมของสังคมไทย โดยเฉพาะสิ่งที่ชนชั้นนำในอดีตพยายามจะนำเสนอความเชื่อเรื่องของความซื่อสัตย์ ความเชื่อเรื่องของความเป็นคนดี กำลังถูกสั่นคลอนหรือไม่?

ผมคิดว่าความคิดในสังคมไทย ความคิดหลักที่มันฝังแน่นในสังคมไทย แล้วสถาปนาเป็นโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่คลุมสังคมไทยอยู่ มันมีด้วยกัน 3 มิติ

มิติแรก คือ กระบวนการทำให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ทางชนชั้น เราเห็นชัดๆ อย่างที่สำนักงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) นำรูปเด็กให้ของผู้ใหญ่ (มาสาธิตว่า) ต้องทำอย่างไร

อันที่สอง คือ กระบวนการที่ทำให้ชะตากรรมต่างๆ เป็นเรื่องของปัจเจกชน

อันที่สาม คือ กระบวนการที่ทำให้ปัญหาสังคมเป็นปัญหาของปัจเจกชน

นึกออกไหมครับ สมมุติว่า “จน-เครียด-กินเหล้า” ก็คือ “จน” ผลักไปอยู่ที่เรื่องปัจเจกชน อันนี้คือกรอบใหญ่ที่คลุมสังคมไทยอยู่

แต่กระบวนการที่เปลี่ยนมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มันทำให้คนจำนวนมากที่สำนึกถึงความเท่าเทียมกัน สำนึกถึงความเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น แล้วเขาเริ่มสัมพันธ์ว่าเขาเป็น “พลเมืองผู้สำนึกเกี่ยวข้อง” มันไปสั่นคลอนหลักสามอันที่พูดเมื่อสักครู่นี้

อย่างที่ผมยกตัวอย่าง ไอ้ (คลิป) การให้ของผู้ใหญ่ที่กระทรวงวัฒนธรรมทำ ถูกคอมเมนต์เสียเละเทะเลย

ดังนั้น หลักสามอย่าง ก็คือ ลำดับชั้นทางอำนาจ การทำให้ชะตากรรมเป็นเรื่องส่วนบุคคล และปัญหาสังคมก็เป็นเรื่องของบุคคลอีก กรอบใหญ่อันนี้มันถูกสั่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ไอ้ความเข้าไปสั่นในหลักสามอันนี้เอง มันจึงทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าเขาจำเป็นหรือเขาต้องเลือกก้าวไกล หรือเลือกเพื่อไทย เพราะทั้งสองพรรคนี้ โดยเฉพาะก้าวไกล คือคนที่ทำให้เขารู้สึกว่าโอกาสที่จะเท่าเทียมของเขามีมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แน่นอน ในส่วนหนึ่งเลือกเพื่อไทย ก็รู้สึกว่าเพื่อไทยเคยให้โอกาสเขาในการที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่ความเท่าเทียมมากขึ้น

ดังนั้น 24 ล้าน (เสียง) คือการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของการสั่นคลอนของหลักคิด-หลักความรู้สึกใหญ่ของสังคมไทย

 

: การชนะเลือกตั้งตามพื้นที่ชนบทหลายแห่งของก้าวไกล พิสูจน์ว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยเปลี่ยนไปแล้วหรือใช้ไม่ได้แล้วใช่หรือไม่?

ตัวทฤษฎีสองนคราฯ โดยตัวของมันเอง คงใช้ไม่ได้ แต่ตัวทฤษฎีสองนคราฯ จะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยในแง่ที่ว่า เราสามารถหยิบทฤษฎีสองนคราฯ มามองว่า เดิมเป็นแบบนี้ แต่มันมีความเปลี่ยนแปลง มันจึงทำให้สองนคราเปลี่ยนไปเป็น “หนึ่งนคราสามมิติ” อะไรทำนองนั้น

ความเปลี่ยนแปลงในชนบทเกิดขึ้นอย่างไพศาล สิ่งที่เกิดขึ้นในชนบทสองด้าน ด้านหนึ่ง ก็คือว่าชาวนา ชาวไร่ หรือเกษตรกรแบบเดิม ไม่มีอีกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือพี่น้องชาวนาชาวไร่เขาล้วนแล้วแต่มีอาชีพบนฐานความชำนาญการเฉพาะด้านของเขาสูงมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากโควิดน่าสนใจมาก พี่น้องแรงงานจากอีสานกลับบ้าน แล้วจำนวนไม่น้อยเลยตัดสินใจที่จะอยู่บ้าน ไม่ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ทางเหนือไม่มีงานวิจัย แต่เท่าที่ผมสอบถาม ก็คล้ายๆ กัน

แปลว่าอะไร? แปลว่าในช่วงโควิด พี่น้องแรงงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อกลับบ้านแล้ว เขาพบว่าบ้านเขาเป็นโอกาสใหม่ หน้าต่างแห่งโอกาส เพราะมันเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้ประกอบการในชนบท พี่น้องแรงงานก็สามารถเติบโตได้ ผู้คนกลุ่มนี้และความเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทของที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดของพี่น้องในชนบท

เขาไม่ใช่ “พลเมืองผู้สงบเงียบ” อีกแล้ว เขาคือ “พลเมืองผู้กระตือรือร้น” ดังนั้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากที่ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นสองนครา เราเริ่มเปลี่ยนกันอย่างไพศาลและลึกซึ้ง

 

: พื้นที่เลือกตั้งที่เคยเป็น “เมืองหลวงของเพื่อไทย” อย่างจังหวัดเชียงใหม่ก็มีความเปลี่ยนแปลง กลายเป็นว่าผู้สมัครของก้าวไกลได้ที่นั่งมากที่สุด อาจารย์ในฐานะคนพื้นที่ ประเมินผลเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างไร

จริงๆ ผมก็คิดผิดเหมือนกัน ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ผมก็โทร.คุยกับเพื่อน เพื่อนเก่าโรงเรียนมงต์ฟอร์ด แล้วก็เพื่อนที่เคยร่วมกิจกรรมมา ทั้งหมดนี่ก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าก้าวไกลคงจะได้สัก 1 หรือ 2 คน ทุกคนพูดแบบนี้หมดเลย บางคนถึงกับบอกว่า เฮ้ย นัดเลี้ยงกันเลย ผมว่า (ก้าวไกล) น่าจะได้ 3 เขาบอกเลี้ยงกันเลย เขาบอก (ก้าวไกล) ได้คนเดียว นี่ยังไม่ได้ไปทวง

โอเค ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชียงใหม่สองด้าน ด้านแรก คือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทำให้เขตพื้นที่ต่างๆ กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเข้มข้นมากขึ้น

ในช่วงโควิดเอง แม้เศรษฐกิจมันพังลงไป แต่พบว่าในพื้นที่ชนบทจำนวนมาก เขาก็ยังที่จะสามารถสร้างผู้ประกอบการรายย่อยของเขาสืบเนื่องมาได้ ดังนั้น ตัวพี่น้องประชาชนก็เปลี่ยน

อันที่สอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “การเคลื่อนย้ายทางสังคม” ที่คนเข้ามาในเชียงใหม่มันกระจายตัวมาก การเคลื่อนย้ายทางสังคมเหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับคนในเชียงใหม่เองด้วย ที่เดิมอาจจะอยู่แถวข่วงสิงห์ ก็ย้ายตัวเองไปอยู่สันทราย ดอยสะเก็ด หมู่บ้านจัดสรรขยายตัว

ดังนั้น เราจะพูดได้เลยว่าพื้นที่ชนบทในละแวกใกล้เมือง ที่สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ เช้าไปเย็นกลับ ไม่ใช่พื้นที่ชนบท กลายเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางจำนวนมาก ทั้งคนเชียงใหม่ ทั้งคนต่างถิ่น

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายทางสังคมของพี่น้องประชาชนเอง มันจึงทำให้ระบบคิดเขาเปลี่ยน ท้ายสุดแล้ว เขาจึงรู้สึกสื่อสารได้กับก้าวไกล

ในขณะที่เพื่อไทยเอง ผมคิดว่าเขายังเล่นเกมแบบเดิม คือ เล่นเกมโดยเลือกคนในระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ซึ่งทำให้เขาพลาดไป การที่เขาโยกคุณทัศนีย์ (บูรณุปกรณ์) ไป (จากการลงสมัครเขต 1 เป็นเขต 3) ซึ่งอันนี้ก็พลาดอีก

เพราะคุณทัศนีย์พยายามจะแสดงตัวเองกับคนรุ่นใหม่มานานพอสมควร ซึ่งถ้าอยู่ (เขต 1) อาจจะพอสู้กับคุณพลอย เพชรรัตน์ (ใหม่ชมพู) ลูก (อดีต) รองนายก อบจ. (ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล) ได้

อันนี้คือการตัดสินใจที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เชียงใหม่ แต่ต้องย้ำนะครับ ว่าสิ่งที่ผมพูดถึงการวิเคราะห์หรือการเคลื่อนย้ายของผู้คน ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยน ฉลาดหลังเหตุการณ์นะครับ ฉลาดหลังจากที่ก้าวไกลชนะแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้