ดราม่าแห่งการค้นพบ โครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ดราม่าแห่งการค้นพบ

โครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ

 

สัปดาห์นี้ ที่โรงละครถนนเบย์ (Bay street theater) ในมหานครนิวยอร์ก “ละครเพลงเกลียวคู่ (Double Helix a Musical)” กำลังเปิดตัวอย่างน่าตื่นเต้น

บทของละครเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของหนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือเรื่องราวของ “การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ”

และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ สองชื่อที่ผุดขึ้นมาทันทีในห้วงความจำก็คือ เจมส์ วัตสัน (James Watson) และฟรานซิส คริก (Francis Crick) แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (The University of Cambridge)

ทุกคนเรียนมาเหมือนกันหมด โครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอในตำนาน คนทำ ต้องชื่อ “วัตสัน” และ”คริก”

แต่เรื่องราวเเห่งเกลียวคู่ในละครบรอดเวย์ อาจจะไม่เหมือนกับที่เราคุ้นชิน เพราะตัวเอกของละครเพลงเรื่องกลับไม่ใช่สองนักวิทยาศาสตร์ในตำนาน

แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์สาวอีกคน ผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบครั้งสำคัญนี้

ภาพเจมส์ วัตสัน กับฟรานซิส คริก กับแบบจำลองโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ

มาเดลีน มายเออร์ (Madeline Myers) นักประพันธ์บทเพลงดาวรุ่งแห่งวงการละครบรอดเวย์ผู้แต่งคำร้องและทำนองเผยว่าละครเพลงเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก “โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)” นักเคมีผู้ปิดทองหลังพระจากวิทยาลัยคิงในลอนดอน (King’s college London)

มาเดลีนเผยว่าเมื่อสองสามปีก่อน เรื่องราวของโรซาลินด์ได้จุดประกายความสนใจของเธอ และยิ่งเธอเริ่มค้นคว้าเรื่องราวลึกลงไปเท่าไร เธอก็พบกับดราม่าและจุดหักมุมเยอะขึ้นเท่านั้น

สำหรับมาเดลีน นี่คือเรื่องที่ยุ่งเหยิง ดราม่า น่าตื่นเต้น และสะเทือนอารมณ์ที่สุดที่เธอเคยเจอมา

ภาพถ่าย 51 ภาพการกระเจิงรังสีเอ็กซ์ในตำนาน ที่เป็นต้นกำเนิดของโครงสร้างบันไดเวียนของดีเอ็นเอ

ที่จริง บรอดเวย์ในนิวยอร์กนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ที่นำเสนอมุมมองที่ต่างไปของการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอก่อนหน้านี้ ในปี 2015 ก็มีละครเวที “Photograph 51” ของแอนนา ซีกเลอร์ (Anna Ziegler) ที่เปิดตัวอย่างอลังการในลอนดอน ที่เอานิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) มารับบทโรซาลินด์ แฟรงคลิน

โดยทั่วไป ผู้คนจะรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่ในตำนานมาจากบันทึกส่วนตัวของเจมส์ วัตสัน ในตอนอายุ 24 ปี ในช่วงที่กำลังอยู่ในสังเวียนแห่งการแข่งขันกันไขปริศนาแห่งดีเอ็นเอร่วมกับฟรานซิส คริก อยู่

บันทึกนี้ วัตสันตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปี 1968 เป็นหนังสือชื่อ The Double Helix (ซึ่งต่อมา ดร.สิรินทร์ วิโมกข์สันถว์ และ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แปลและเผยแพร่เป็นภาษาไทย โดยใช้ชื่อไทยว่า “เกลียวชีวิต” ในปี 1975)

แม้หลายคนจะมองว่าหนังสือเกลียวชีวิต หรือ The Double Helix นี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในทางประวัติศาสตร์ แต่เจมส์ก็ออกตัวไว้ค่อนข้างชัดในบทนำของเล่มว่านี่เป็นบันทึกความรู้สึกและทัศนคติส่วนตัวของเขาในช่วงเวลานั้นเท่านั้น ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

และด้วยเนื้อหาที่เน้นแนวคิดส่วนตัว ชัดเจนว่ามีอคติ พวกนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์หลายคนจึงค่อนขอดว่าหนังสือเล่มนี้ส่งผลเสียมากกว่าผลดี

เพราะเปิดโปงด้านมืดของการแข่งขันการทางวิทยาศาสตร์ออกมาจนเละเทะ ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการวิจัยดูเสื่อมเสีย ซึ่งในความเป็นจริง มันก็เละอย่างที่เจมส์เขียนนั่นแหละ แต่แค่ไม่ค่อยมีใครออกมาสาธยายสาวไส้ให้กากินในที่สว่างแบบนี้ก็แค่นั้น

แต่จุดที่โดนด่ามากที่สุด ก็คือ หนังสือเล่มนี้ เขียนให้ทุกอย่างหมุนรอบตัวเจมส์ ประวัติข้างใน มันจึงบิดเบี้ยวไปค่อนข้างมาก มากเสียจนแม้แต่ฟรานซิสคู่หูของเขา ยังออกมาเขียนคอมเมนต์ห้ามเจมส์ตั้งแต่ตอนก่อนที่หนังสือจะออกว่าหนังสือนี้มีอคติ และไม่ควรเผยแพร่สู่สาธารณะ

แต่เจมส์ไม่ฟัง

 

เมื่อยั้งไม่อยู่ ฟรานซิสก็เลยแสดงความเห็นของเขาเกี่ยวกับหนังสือของเจมส์ออกมาอย่างชัดเจน เขาไม่พอใจกับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

“สิ่งใดที่คุณเห็นว่าสำคัญและมีผลกระทบกับคุณ ก็จะถูกเอามาเชื่อมโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ แต่สิ่งอื่นๆ กลับถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ และถ้าคุณตีพิมพ์หนังสือออกมาในตอนนี้ โดยที่ผมนั้นไม่เห็นชอบด้วยประวัติศาสตร์จะสาปแช่งคุณ” ฟรานซิสเขียน

หนังสือคือตัวบอกเรื่องราว ใครเขียนก่อน คนนั้นก็คือคนจารึกประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเขียนให้ใครดีใครร้ายขนาดไหนก็ได้ แม้จะยอมรับว่าที่เจมส์เขียนก็มีหลายส่วนที่ตรงกับความเป็นจริง ทว่าสำหรับฟรานซิสหนังสือเกลียวชีวิต อย่างดีก็เป็นได้แค่หนังสืออ่านเล่นแนวอัตชีวประวัติส่วนตัวของเจมส์เท่านั้น

แต่ฟรานซิสไม่ใช่คนที่โดนเนื้อหาในหนังสือโจมตี คนที่ได้ผลกระทบเต็มๆ ตัวจริงก็คือโรซาลินด์ นักเคมีสาวเชื้อสายยิว ในหนังสือของเจมส์ บทบาทของเธอในการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน

แค่ตกผลึกและถ่ายรูปการกระเจิงรังสีเอ็กซ์ของโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอก็แค่นั้น

แต่ในความเป็นจริง โรซาลินด์นั้นคือผู้เชี่ยวชาญตัวจริง “ภาพถ่าย 51 (photograph 51)” ที่โด่งดังจนเป็นไอคอนของการค้นพบครั้งนี้ก็เป็นภาพที่มาจากการทดลองของเธอ

 

โรซาลินด์เริ่มทำงานวิจัยดีเอ็นเอเมื่อราวปี 1951 โดยการชักชวนของนักชีวฟิสิกส์ จอห์น แรนดัลล์ (John Randall) ที่วิทยาลัยคิง และที่นั่น เธอก็ได้พบกับมอว์ริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins) มือขวาของจอห์น ซึ่งจอห์นคาดหวังให้ทั้งคู่ทำงานร่วมกัน

ทว่า โรซาลินด์อาจจะไม่ใช่คนที่ทำงานด้วยง่ายที่สุด เธอเป็นคนทำอะไรรวดเร็ว มีความมั่นใจ พร้อมลุยทะลุทะลวงในแทบทุกเวลาเพื่อให้งานเดินหน้า ในขณะที่มอว์ริสนั้นจะทำอะไรช้ากว่า ไม่ชอบปะทะ ออกแนวช้าแต่ชัวร์

ในเมื่อบุคลิกไปกันไม่ได้ จอห์นเลยตัดสินใจให้ทั้งสองคนแยกกันทำ มอว์ริสจะร่วมงานกับเออร์วิน ชากาฟฟ์ (Erwin Chargaff) นักชีวเคมีชื่อดังจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผู้ค้นพบว่าเบส A จะจับคู่กับ T และเบส C จะจับคู่กับ G

ส่วนโรซาลินด์จะร่วมงานกับรูดอล์ฟ ซิกเนอร์ (Rudolf Signer) จากมหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) ในสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งถือว่าแจ๊กพ็อต เพราะตัวอย่างดีเอ็นเอจากเบิร์นนั้นมีความบริสุทธิ์มากจนเธอสามารถตกผลึกดีเอ็นเอได้อย่างรวดเร็ว

 

ผลึกดีเอ็นเอที่เธอได้ มี 2 รูปแบบ คือ A และ B ขึ้นกับความชื้นในการตกผลึก แบบ A ตกผลึกออกมาในสภาวะที่มีความชื้นต่ำ และให้แบบแผนการกระเจิงรังสีเอ็กซ์ที่สวยงาม ข้อมูลเยอะ แต่วิเคราะห์ยาก ส่วนผลึกแบบ B ที่พบในสภาวะที่มีความชื้นสูงนั้นจะให้แบบแผนกระเจิงรังสีเอ็กซ์ที่เบลอๆ ไม่ชัด รายละเอียดก็ไม่ค่อยมี แต่กลับวิเคราะห์ได้ง่ายกว่า

ด้วยนิสัยขาลุย โรซาลินด์ทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดดันสุดตัวเพื่อวิเคราะห์ผลึกแบบ A และแทบไม่สนใจผลึกแบบ B เลย

แต่ใช่ว่าเธอจะไม่รู้ว่านี่คือโครงสร้างเกลียวอย่างที่เจมส์ปรามาส ที่จริง ในโน้ตจากเล็กเชอร์ของเธอในปลายปี 1951 โรซาลินด์ได้บรรยายไว้ค่อนข้างชัดว่าโครงสร้างที่เธอพบในผลึกนี้ประกอบไปด้วย “เกลียวขนาดใหญ่ มีหลายสาย มีฟอสเฟตอยู่ด้านนอก พันธะระหว่างฟอสเฟตเชื่อมในเกลียว และจะถูกก่อกวนด้วยน้ำ”

ในปีต่อมา ด้วยความยากเย็นเข็ญใจของการวิเคราะห์แบบแผนการกระเจิงรังสีเอ็กซ์ที่ยุ่งเหยิงของผลึกแบบ A ทำให้โรซาลินด์เริ่มท้อ จนเธอเริ่มสงสัยว่าจริงๆ แล้วโครงสร้างในผลึกนี้มันเป็นเกลียวจริงๆ หรือเปล่า ส่วนผลึกแบบ B นั้นเธอรู้ชัดว่ามันเป็นโครงสร้างเกลียว แต่ไม่ว่าจะยังไง โรซาลินด์ก็ไม่สนใจผลึกนี้เพราะคิดว่าวิเคราะห์ไปก็เสียเวลา

เธอเชื่อว่าผลจากผลึกแบบ B น่าจะตีความอะไรไม่ได้ เพราะมีความชื้นในผลึกมีเยอะ น่าจะมีโมเลกุลน้ำมากมายในผลึก แต่สิ่งหนึ่งที่โรซาลินด์ลืมไป (เพราะเป็นนักเคมี) ก็คือ ปกติแล้ว เซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นมีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ โครงสร้างแบบ B นี้ต่างหากที่เธอควรจะดู

 

ในต้นปี 1953 โรซาลินด์เริ่มได้ผลชัดเจนมากขึ้น เธอเริ่มสรุปว่าโครงสร้างดีเอ็นเอจะต้องมีสองสาย จับกันเป็นเกลียวคู่ แต่ในรายละเอียด เธอยังไม่รู้ว่าเบสอะไรจะจับคู่กับอะไร อย่างไร

พอดีในตอนนั้น เธอกำลังจะย้ายงานไปอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง เป้าหมายหลักของเธอก็เลยเน้นไปเพื่อปิดจ๊อบให้เร็วที่สุด ทว่าท้ายที่สุดแล้ว เธอก็ปิดไม่ทัน เรย์มอนด์ โกสลิง (Raymond Gosling) ลูกศิษย์ปริญญาเอกของเธอ ถูกโอนย้ายให้ไปอยู่กับทีมมอว์ริส พร้อมกับผลการทดลองหลายๆ อย่างของแลบของเธอรวมทั้ง “ภาพถ่าย 51” ด้วย

ในตอนต้นปี 1953 เจมส์ได้ไปเยี่ยมห้องแล็บที่คิง และมีโอกาสได้พบกับโรซาลินด์ ด้วยบุคลิกที่เเข็งกร้าวของเธอทำให้เขาไม่ถูกชะตากับเธออย่างรุนแรง และเป็นมอว์ริสที่ช่วยพาเขาออกมาจากการเผชิญหน้ากับโรซาลินด์

และก็เป็นมอว์ริสอีกนั่นแหละ ที่เปิดผลภาพถ่าย 51 ของโรซาลินด์ที่ได้มาจากเรย์มอนด์ ให้เขากับฟรานซิส

และนั่นคือยูเรก้าโมเมนต์ของเจมส์และฟรานซิส!!!

 

เจมส์มั่นใจในทันทีว่ารูปการกระเจิงรังสีเอ็กซ์แบบนี้ต้องมาจากโครงสร้างที่เป็นเกลียวอย่างแน่นอน

ในหนังสือเกลียวชีวิต เจมส์ตัดสินว่าโรซาลินด์พลาดจนมองไม่ออกว่าภาพถ่าย 51 นั้นน่าจะมาโครงสร้างเกลียว แล้วยกตนข่มท่านต่อว่าแค่เห็นภาพ เขาและฟรานซิสก็สามารถตีความโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่ออกมาได้แล้วอย่างละเอียดแทบทุกแง่มุม

“ซึ่งเป็นความมั่นใจที่ไร้สาระ” แมตธิว คอบบ์ (Matthew Cobb) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester) และแนธาเนียล คอมฟอร์ต (Nathaniel Comfort) จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (John Hopkins University) ไม่เชื่อที่เจมส์อ้างแม้สักประโยค

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่นักเคมีมือฉกาจอย่างโรซาลินด์จะตีความผลของตัวเองไม่ออกและก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่ภาพถ่าย 51 แค่ภาพเดียวจะทำให้นักผลึกศาสตร์ด้อยประสบการณ์อย่างเจมส์และฟรานซิสสร้างภาพโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่ออกมาได้เป็นสามมิติ จนได้ดีเทลครบถ้วน” ทั้งสองคนเขียนบทความแสดงความเห็นของพวกเขาลงในวารสาร Nature ในปี 2023

พวกเขาสองคนคือผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอ คนหนึ่งกำลังเขียนชีวประวัติของเจมส์ และอีกคนกำลังเขียนของฟรานซิส และเมื่อพวกเขาค้นคว้าข้อมูลลึกลงไปเรื่อยๆ พวกเขาก็พบว่าเรื่องนี้มีกลิ่นตุๆ

แม้จะดังอยู่แค่สองคน แต่โครงสร้างบันไดเวียนเกลียวคู่ในตำนาน ไม่ใช่ผลงานของคนสองคน!!

 

ในความเป็นจริง วารสาร Nature ฉบับเดือนเมษายน 1953 นั้นไม่ได้มีแค่เปเปอร์ของเจมส์และฟรานซิสแค่เปเปอร์เดียวเท่านั้นที่บรรยายโครงสร้างดีเอ็นเอ แต่มีถึง 3 เปเปอร์ที่ออกมาแบบแบ๊กทูแบ๊ก ฉบับแรกแน่นอนว่าต้องเป็นของเจมส์และฟรานซิส ฉบับที่สองนั้นเป็นของมอว์ริสและทีม และฉบับสุดท้ายนั้นเป็นของโรซาลินด์และเรย์มอนด์นักเรียนของเธอ

คำถามคือแล้วคนอื่นๆ ในทีม รวมทั้งโรซาลินด์ด้วยหายไปอยู่ตรงไหน ทำไมถึงไม่ได้เครดิต

หลังจากเปเปอร์ทั้งสามออกมาไม่นาน นักเขียนของนิตยสาร Time โจแอน บรูซ (Joan Bruce) ก็ขอมาทำสกู๊ปข่าวเรื่องการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ทางชีววิทยานี้

โจแอนมองภาพงานวิจัยโครงสร้างเกลียวคู่ดีเอ็นเอครั้งนี้เป็นความสำเร็จของทีมนักวิจัยกลุ่มใหญ่ 2 ทีมที่ทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดี ทีมนักทดลอง ทำแล็บจริง ลุยจริง ตกผลึกและสร้างภาพการกระเจิงรังสีเอ็กซ์ที่นำไปสู่การหาโครงสร้างของดีเอ็นเอ ทีมนี้นำโดยโรซาลินด์และมอร์ริส ในขณะที่อีกทีมคือทีมนักทฤษฎีที่นั่งคิด นั่งตีความ สร้างแบบจำลอง จนได้โครงสร้างโมเลกุลดีเอ็นเอเกลียวคู่ที่สวยงามออกมาเป็นสามมิติ ซึ่งก็คือทีมคู่หูดูโอเจมส์และฟรานซิส

น่าเสียดายที่บทความของโจแอนไม่เคยถูกตีพิมพ์ออกมา และกว่าที่งานนี้จะได้พิจารณาให้เข้ารับรางวัลโนเบล โรซาลินด์ก็เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ไปเสียก่อนแล้ว เลยทำให้คนที่อยู่ในลิสต์เข้ารับรางวัลโนเบลในปี 1962 จึงมีแค่เจมส์ ฟรานซิส และมอว์ริส

และนั่นทำให้เจมส์และฟรานซิสได้หน้าไปเต็มๆ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ระดับตำนาน ผู้ไขปริศนาแห่งพันธุกรรม

ในขณะที่โรซาลินด์นั้นกลับไม่ได้เครดิตเกี่ยวกับการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเออย่างที่เธอควรจะได้

 

หลายคนตั้งคำถามว่าทำไม โรซาลินด์ถึงถูกมองข้าม หรือว่าเป็นเพราะเธอเป็นผู้หญิงยิวที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่เรื่องความเท่าเทียมกันยังเป็นประเด็น หรือเพียงเพราะว่าเธอโชคร้าย อายุสั้นทำให้เธอชวดรางวัลโนเบลไป

แต่ก็เป็นไปได้ว่าบางทีเราอาจจะคิดมากไป เพราะในนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอในการพบปะสังสรรค์กันของราชสมาคม (Royal Society Conversazione) เป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี 1953 ทุกคนจาก 3 เปเปอร์แห่งโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร nature ในตำนานฉบับนั้นล้วนถูกเชิญให้เซ็นชื่อเพื่อเป็นเกียรติบนชิ้นงานในนิทรรศการนั้นทั้งหมด

และถ้าดูดีๆ ในเปเปอร์ในปี 1954 ของคู่หูเจมส์และฟรานซิส ก็มีพูดถึงความสำคัญของผลงานของโรซาลินด์ว่าการค้นพบแห่งศตวรรษนั้น ถ้าไม่ใช่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ ก็คงแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นหากไม่มีข้อมูลจากโรซาลินด์

มองในแง่ดี เจมส์และฟรานซิสก็อาจจะไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลดทอนความสำคัญของโรซาลินด์และยึดเอาเครดิตทั้งหมดไว้แค่สองคน

 

ทว่า หลายกลุ่มกลับมองว่าอาจเป็นเพราะไดอารีเกลียวชีวิตของเจมส์ ที่มีเนื้อหาบิดเบี้ยวและไม่ให้ค่าความมีส่วนร่วมของโรซาลินด์เท่าที่ควร

ทำให้เกิดกระแสสังคมขึ้นมาซัพพอร์ตโรซาลินด์และโจมตีเจมส์ซ้ำเติมจากที่เคยโดนแบนเรื่องเหยียดเพศและเหยียดผิวอย่างหนักอยู่แล้ว

ตั้งแต่ละครบรอดเวย์ ไปจนถึงการประชันแร็พของเด็กประถมในแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงทวิตเตอร์เหน็บแนมที่ว่า “วัตสันและคริกค้นพบอะไรในปี 1953?…ข้อมูลของแฟรงคลิน” (ซึ่งแรงมากกกก)

“นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่” สกอตต์ ชวาร์ตซ์ (Scott Schwartz) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของโรงละครถนนเบย์ให้สัมภาษณ์

แม้ในตอนนี้ สถานการณ์เรื่องการเหยียดกันจะดีขึ้นมากแล้ว แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอยู่ และถ้ามองย้อนกลับไป ประวัติศาสตร์ก็คือบทเรียนที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นถึงความผิดพลาดแห่งอดีต ที่เราต้องตระหนักก็คือประวัติศาสตร์นั้น มองได้หลายมุม จะปักใจเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร คงต้องหาข้อมูลให้ดี…

เพราะบางที ภาพจำที่เราถูกปลูกฝัง อาจจะเป็นแค่ภาพลวงตา