มุกดา สุวรรณชาติ : สิทธิมนุษยชน…วาระแห่งชาติ ทำอย่างไรจึงจะเป็นจริงในชาตินี้

มุกดา สุวรรณชาติ

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมิติของเรื่องนี้ มีเรื่องกรอบระยะเวลา 2 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2561-2562 มีหลักการ 4 สร้าง 3 ปรับปรุง 2 ขับเคลื่อน และ 1 ลด

นี่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

4 สร้าง

1. สร้างจิตสำนึกให้รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้อื่น

2. สร้างระบบติดตามการละเมิดสิทธิ ที่ไหนบ้าง ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง

3. สร้างวัฒนธรรมเคารพสิทธิของผู้อื่นทุกเรื่อง

4. สร้างเครือข่ายดูแลเรื่องสิทธิ

3 ปรับปรุง ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงฐานข้อมูล 2.ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม 3.ปรับปรุงทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

2 ขับเคลื่อน คือ 1.ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ 2.หาองค์กรหรือกลุ่มจังหวัดที่เป็นต้นแบบ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำตาม เมื่อมีความสำเร็จเกิดขึ้น

1 ลด คือการลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดูจากแนวทางที่กำหนดมา คิดว่าชาตินี้คงไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะจากอดีตถึงปัจจุบันมีปัญหา 3 ข้อที่ไม่มีทางแก้ไขได้ใน 2 ปี ต่อให้ 10 ปี ก็ยังยาก

1. จิตสำนึกที่รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้อื่น

2. การใช้กฎหมายที่เหมาะสม เสมอภาค และยุติธรรม

3. ทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งกระบวนการยุติธรรม

ทั้ง 3 ข้อถูกบูรณาการ ภายใต้การเมืองแบบอำนาจนิยม จนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้าน…งง…ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นเรื่องร้ายแรง อะไรเป็นเรื่องเล็กน้อย

 

1.จิตสำนึกที่รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้อื่น

ในเรื่องจิตสำนึก ไม่เคยสั่งสอนให้เคารพสิทธิคนอื่นทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา ขยายมาถึงการต่อสู้ทางการเมือง การใช้กฎหมาย การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม

จึงมีเรื่องเล็กๆ ตั้งแต่การขู่ตะคอก การรับน้องใหม่ในระบบโซตัส การฝึกทหาร เหตุเสียชีวิตของนักเรียน นักศึกษาก็มาจากความไร้จิตสำนึกเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะปล่อยปละละเลยไม่หาคนผิด เมื่อโตขึ้น มีอำนาจมากขึ้นก็สร้างความเสียหายมากขึ้น ทำแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตนเองทำผิด ไปละเมิดสิทธิคนอื่น ฟังเสียงสนับสนุนของสื่อ บางส่วนก็บอกว่าดี บ้างก็ยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ มีเรื่องมาถึงศาล บางทีก็บอกว่าทำได้ บางทีก็ลงโทษ

ลองดูตัวอย่าง…

ขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่ผิดใช่ไหม?

9 กรกฎาคม 2558 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 2 แนวร่วม กปปส. เป็นจำเลยในข้อหาขัดขวางผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง กรณียกพวกไปปิดล้อมสำนักงานเขตดินแดงเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กปปส. เป็นการชุมนุมโดยสิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่จะมีการข่มขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง ในข้อเท็จจริงจำเลยพร้อมพวก 30-50 คน ไม่ได้ข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จำเลยขัดขวางการเลือกตั้งนั้น ศาลเห็นว่าหากจะจัดการเลือกตั้งจริงๆ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการให้มีการเลือกตั้งต่อไปได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

เรื่องนี้ทุกคนเห็นภาพในทีวี ทั้งการปิดล้อม การปะทะกัน

คดีขัดขวางการเลือกตั้งมีอยู่ที่ศาลอาญาอีกเกือบ 10 สำนวน

สิทธิการเคลื่อนไหว ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ทำได้แค่ไหน

เมษายน-พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา ปิดถนน ถูกปราบ ถูกฆ่าตายเกือบร้อย บาดเจ็บเป็นพัน ถูกจับเป็นพัน

2556-2557 มีการชุมนุมขับไล่นายกฯ ของกลุ่ม กปปส. มีการ Shutdown กรุงเทพฯ ปิดยึดพื้นที่สำคัญทางราชการและทางธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำเลยคือ ศรส. ของรัฐบาล ทำอะไรไม่ได้เลย ผู้ชุมนุมปิดถนนวางสิ่งกีดกั้นทำให้การจราจรติดขัด สร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล บุกยึดพื้นที่กระทรวงมหาดไทย ปิดศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ห้ามข้าราชการเข้าไปทำงาน ปิดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีเหตุปะทะ มีการใช้อาวุธและความรุนแรงเกิดขึ้น

เป้าหมายของการ Shutdown กรุงเทพฯ เพื่อให้ข้าราชการและหน่วยงานราชการหยุดทำงาน หวังผลให้รัฐบาลล้มเหลวในการสั่งการ จนท้ายที่สุดต้องยอมลาออกจากรัฐบาลรักษาการ แล้วจะใช้มาตรา 7 ตั้งนายกฯ คนใหม่ อีกเป้าหมายคือ เพื่อรองรับแผนการขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

มกราคม 2557 รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ มีผลบังคับใช้ 22 มกราคม ถึง 22 มีนาคม 2557 เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข ระงับ ยับยั้งเหตุร้ายแรงที่เกิดจากกลุ่มบุคคลที่ก่อความไม่สงบ ปิดยึดสถานที่ราชการ ไล่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ออกจากสถานที่ราชการ ตัดน้ำไฟ พยายามเข้าควบคุมตัวผู้บริหาร ขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

กปปส. ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม

ศาลแพ่งไต่สวนพยานหลักฐาน ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า การชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุม เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ดังนั้น โจทก์และผู้ชุมนุมย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษาห้าม ศรส. นำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับ และห้ามดำเนินการตามประกาศและข้อกำหนดที่ออกมา รวม 9 ข้อกับโจทก์และประชาชน นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2557 เช่น…

ห้ามรัฐบาลใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม ห้ามขัดขวางการเข้าออก ห้ามขัดขวางการส่งเสบียง อุปกรณ์ ห้ามรื้อเต็นท์ ที่พักผู้ชุมนุม ห้ามรื้อสิ่งกีดขวางของผู้ชุมนุม ห้ามปิดกั้นถนนเข้าออก ห้ามอพยพหรือสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากอาคาร ฯลฯ การชุมนุมจึงมีต่อได้อย่างสบาย ไม่ถูกขัดขวางและปิดล้อม

26 มกราคม กปปส. สามารถปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ถึง 33 เขต

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีการเคลื่อนไหวขัดขวางการเลือกตั้ง และเกิดการปะทะที่หลักสี่ มีคนเสียชีวิต มือปืนป๊อปคอร์น ถูกจับจากกรณีนี้

ตกลงแล้ว การใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองในบ้านเรา ทำได้แค่ไหน?

 

2.การใช้กฎหมายที่เหมาะสม เสมอภาค และยุติธรรม

คดีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ขับรถไล่ชนตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย ตัดสินได้ 3 แบบ

เรื่องเกิดเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 สมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยขับรถกระบะไล่ชนตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน รอลงอาญาไว้ 2 ปี รายงานตัวที่คุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง

27 ธันวาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ได้มีการพิจารณา ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า พฤติการณ์จำเลยเป็นการพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานมั่วสุมลงโทษจำคุก 1 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์คงลดโทษ 1 ใน 3 คงรับโทษจำคุก 34 ปี

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้ ให้จำคุกนายปรีชา 4 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกในความผิดฐานมั่วสุม 8 เดือน รวมโทษจำคุกนายปรีชา 2 ปี 16 เดือน

การยึดทำเนียบรัฐบาล กับการบุกโรงแรมที่พัทยา

การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 สิงหาคม 2551

ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออกจากทำเนียบ แต่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ยอมออกและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป

หลังเหตุการณ์ อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 6 แกนนำกลุ่มพันธมิตร

วันที่ 28 พฤษภาคม 2558 6 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสุริยะใส กตะศิลา ถูกพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญาแต่ได้ประกัน

24 กรกฎาคม 2560-ศาลอุทธรณ์

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาฐานบุกรุกนั้นชอบแล้ว…แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยมิได้เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเห็นควรพิพากษาลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงพิพากษาแก้ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

บางคนอาจจะคิดว่าคุ้ม ติดคุก 8 เดือน ยึดทำเนียบรัฐบาลได้นาน 3 เดือน

กรณีคนเสื้อแดงรวมตัวประท้วงพร้อมกับปิดโรงแรมที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

5 มีนาคม 2558 ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และ 14 แกนนำเสื้อแดง กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552

21 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

โดยตัดสินจำคุก นายอริสมันต์ กับพวก เป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งภายหลังฟังคำพิพากษา ทางญาติได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา พวกนี้คิดว่าไม่คุ้ม เข้าไปไม่กี่ชั่วโมง โดน 4 ปี

 

3.ทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งกระบวนการยุติธรรม และ กสม.

ตัวอย่าง…คดีที่ผู้ชุมนุมถูกจับในปี 2553 เฉพาะคดีที่ศาลแขวงปทุมวันพบว่าผู้ที่ถูกจับกุมตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าร่วมชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกจับในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 จำนวน 30 ราย วันที่ 15-16 อีก 20 ราย

ส่วนใหญ่ถูกตัดสินให้จำคุก 6 เดือนโดยศาลชั้นต้น และบางส่วนก็ถูกตัดสินให้ปรับ 2,000 บาทและรอลงอาญา 1 ปี

ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็เมตตาให้รอลงอาญา 2 ปีและปรับ 3,000 บาท และส่วนใหญ่จะถูกขังประมาณ 20 วัน

ที่ถูกจับในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าร่วมชุมนุม อีก 40-50 ราย ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ส่วนใหญ่จะถูกคุมตัวตั้งแต่ 7 วัน 10 วัน คนที่อยู่นานที่สุดประมาณ 2 เดือน และอีกประมาณร้อยรายที่โดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกนอกเคหสถาน ศาลตัดสินโทษอาญาให้รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 1,000-5,000 บาท ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 7 วันถึง 1 เดือน ในบางคนอาจอยู่นานกว่านั้น

ผู้ที่โดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศมีจำนวนนับพันคน ถูกลงโทษหนักเบาแตกต่างกันและถูกจับขังอยู่ในจำนวนวันที่ต่างกัน โดยสรุปแล้วคนเหล่านี้ถูกลงโทษส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

แต่มีจำนวนมากที่ไม่ได้ร่วมเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง แต่เนื่องจากหน้าที่การงานมีความจำเป็นที่ทำให้ออกมาจากบ้านในเวลากลางคืนจึงถูกจับกุมและถูกลงโทษ มีบางคนถูกยิงตายไปด้วย

 

จะตักเตือนและลงโทษอย่างไร จึงจะยุติธรรม

แต่ถ้าเทียบคดีของผู้ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 กับคดีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551 หรือคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556-2557

ความผิดเพียงแค่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เข้าร่วมชุมนุมปิดถนน หรือบางคนแค่ผ่านทางมาก็ถูกจับในขณะที่ตั้งด่านตรวจความเรียบร้อยโดยเจ้าหน้าที่ ยังมีโทษปรับหรือจำคุก แล้วมวลชนจำนวนมากที่เข้าไปร่วมยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง

ที่เราเห็นภาพร้องรำทำเพลงอยู่ในคลิปที่นำออกมาเผยแพร่ คนเหล่านั้นไม่มีความผิดเลยหรือ ถ้ามีโทษ ก็น่าจะร้ายแรงกว่าพวกที่เข้าร่วมชุมนุมปิดถนนธรรมดา ไหนๆ เราก็ต่อต้านการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว ถ้าฟ้องคดีแพ่งหมด ประมาณ 8,000 คน จะเฉลี่ยชดใช้ค่าเสียหายให้การท่าอากาศยาน เพียงคนละ 100,000 บาท

การชุมนุมในปี 2553 แกนนำถูกฟ้องหลายข้อหาและอยู่ระหว่างดำเนินคดี มวลชนที่เข้าร่วมก็ถูกฟ้อง ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว ถูกจับติดคุก ก็มี ถูกยกฟ้องก็มี ที่ตายไปก็ไม่รู้จะไปฟ้องคนยิงที่ศาลไหน

แต่การชุมนุมทางการเมือง ยึดสนามบินทำไม คดีอาญายังไม่ไปไหนเลย มีคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นคดีสากล เป็นความผิดร้ายแรง จะดำเนินคดีแบบไทยๆ ไม่ได้

ดังนั้น วันนี้ครบ 9 ปีของการยึดสนามบิน จึงยังเลื่อนต่อไป คงต้องรอตอนบ่ายของชาติหน้า

ถ้าหากจะตั้งใจสร้างทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ก็จะต้องมีมาตรฐานกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้กฎหมายให้เหมือนกัน มิฉะนั้นคนส่วนหนึ่งจะเข้าใจว่าพวกตนมีสิทธิพิเศษ สามารถชุมนุมที่ไหน ยึดสถานที่ใดก็ได้ ทั้งยังไม่เห็นใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น ถ้าคิดว่าทำความผิดละเมิดสิทธิผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับโทษ วันหลังก็จะทำซ้ำอีก?

ผู้ถูกยิงเสียชีวิตในวัด 6 คน ยังเงียบ 1 คนในโรงเรียนเตรียมทหารก็ต้องเงียบหายไปเช่นกัน เสียงร้องขอความยุติธรรม ไม่ดังเท่าเสียงแห่งอำนาจ…ชาตินี้…ต้องไปสร้างอำนาจมาก่อน