ย้อนหลังแลหน้า อาการเซ ‘หุ้นไทย’ ผวา! ว่าที่รบ.ใหม่ชำแหละนโยบาย ทลายทุนผูกขาด

ย้อนหลังแลหน้า อาการเซ ‘หุ้นไทย’ ผวา! ว่าที่รบ.ใหม่ชำแหละนโยบาย รื้อโครงสร้าง-ทลายทุนผูกขาด

 

หลังประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาพร้อมกับผลการเลือกตั้ง ที่ถือว่าได้สร้างความประหลาดใจ (เซอร์ไพรส์) สูงมาก เมื่อพรรคก้าวไกลโกยคะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งบครั้งนี้ และกำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่ผ่านมา เลือกตั้งใหม่ก็จะมาพร้อมกับความคาดหวังใหม่ๆ และวาดฝันกันไปต่างๆ นานา ลุ้นไปกับพรรคการเมืองที่จะแกนนำเลือกตั้ง แม้ก่อนการเลือกตั้ง คาดเดาว่าจะไปตกกับสีแดง หรือหลากสี ไม่ใช่ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยสีส้ม

ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ความกังวลหลายฝ่ายเตรียมลงเสา ประกอบกับความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและบุคคลขึ้นนั่งนายกรัฐมนตรี ถึงวันนี้ยังไม่ชัดเจน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เตรียมลงทุน ทั้งนายทุนไทย และนายทุนจากต่างชาติ จึงมองว่าบรรยากาศการเมืองไทยยังไม่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องธรรมดา ต้องนิ่ง สงวนท่าทีต่อการตัดสินใจลงทุนที่มีแผนจะเดินหน้าทันทีหลังเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการลงทุนที่ต้องร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากมีเหตุใดเกิดขึ้น!!

เชื่อว่าไม่มีใครยอมเสี่ยงกับการนำเงินจำนวนมากมาลงทุนทั้งที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไรแน่นอน

ภาพของการชะงักลงทุน ไม่แตกต่างจากการลงทุนตรงในตลาดเงินตลาดทุนไทย

 

ย้อนดูสถานการณ์ตลาดทุนไทย พบว่า ปี 2562 ที่มีการจัดเลือกตั้งและก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 นักลงทุนต่างชาติ เทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

ย้อนไปอีกปี 2561 พบว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 287,695.54 ล้านบาท ปี 2562 ขายสุทธิต่ออีก 44,791.24 ล้านบาท ปี 2563 จะขายออกแบบไม่เหลือชิ้นดี เพราะเกิดการระบาดโควิด-19 ตัวเลขการขายสุทธิอยู่ที่ 263,147.50 ล้านบาท และปี 2564 การขายออกอีก 50,553.36 ล้านบาท

ก่อนที่ปี 2565 เห็นการกลับมาซื้อสุทธิในหุ้นไทย เนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเซ็กเตอร์หลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศไทย และแรงหนุนสำคัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทำให้มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยกว่า 202,694 ล้านบาท

ปีก่อนหน้านี้ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่า เมื่อภาคการท่องเที่ยวฟื้นแล้ว เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2565 เห็นยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 11 ล้านคน ทั้งที่เริ่มเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด รับนักท่องเที่ยวจริงๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีเท่านั้น

แต่เมื่อผ่านต้นปี 2566 มาได้ไม่เท่าไหร่ พบว่า เศรษฐกิจโลกพลิกตัวอีกครั้ง ไม่ได้สดใสขยายตัวได้เท่าที่ควร ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมากเทียบกับจีดีพีรวมของประเทศ

ทำให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ระหว่างฟื้นตัว จึงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ สะท้อนจากการเทขายสะสมต่อเนื่อง ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 2 มิถุนายน 2566 มีการขายสุทธิสะสมแล้วกว่า 101,326.47 ล้านบาท

 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวแบบศักยภาพ ก็ต้องมาสะดุดขาตัวเองอีกครั้ง เพราะเดิมคาดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะเป็นส่วนสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้น ฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้บ้าง แต่ตลาดไม่ได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวในเชิงบวกเลยแม้แต่น้อย สะท้อนจากดัชนีหุ้นไทยที่เคลื่อนไหวในแดนลบเป็นหลัก จนหลุดระดับจิตวิทยาที่ 1,500 จุด หลังเลือกตั้งแล้วเสร็จเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทั้งที่ก่อนหน้าเลือกตั้งดัชนีปรับขึ้นไปได้ดีแตะบริเวณ 1,570 จุดด้วยซ้ำ

ความกังวลหลักอยู่ที่ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งความมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายพรรค อาทิ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการต่อต้านทุนผูกขาด ที่อาจเข้ามากดดันผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากไม่ว่าจะถามนักธุรกิจ นักลงทุน หรือนักวิเคราะห์ไม่ว่าจะกี่สำนัก ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้ขอเพียงจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน เรื่องอื่นค่อยมาว่ากันทีหลัง

พร้อมกันนี้ สิ่งที่สร้างความกังวลไม่แพ้ประเด็นจัดตั้งรัฐบาลจะได้เร็วหรือช้า ก็ยังกังวลเรื่องนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากสุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกล นำตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องดูว่านโยบายที่หาเสียงไว้ อะไรที่ทำทันที หรืออะไรที่ต่อไปก่อน

ด้วยนโยบายหลักๆ ที่ประกาศเป็นเรือธง อาทิ การทลายทุนผูกขาด การกระจายอำนาจ การเก็บภาษีคนรวย การรื้อโครงสร้างของประเทศใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลค่อนข้างเป็นนโยบายหนักที่อก ที่อาจมีผลกระทบวงกว้าง!!

 

จากสำรวจความเห็นกูรูด้านตลาดทุนตลาดหุ้น สะท้อนในหลายแง่มุม

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลงบางส่วนมาจากตลาดเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะเอาจริงในการทลายทุนผูกขาด แต่มีสาเหตุใหญ่อื่นๆ ที่เป็นผลกระทบเกี่ยวเนื่องด้วย ทั้งจากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงด้วย ต่างชาติขายออกเพราะความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเกิดจากกรณีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความยากลำบากมาก

ในส่วนของมาตรการทางภาษีของก้าวไกลนั้น ประเมินว่าการเก็บภาษีจากกำไรเงินลงทุน (Capital Gain Tax) มีความเป็นธรรมต่อนักลงทุนรายย่อยมากกว่าภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) เพราะการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ พันธบัตร ที่ดิน หรือฝากเงินไว้ในธนาคาร ล้วนต้องเสียภาษีเช่นกัน แต่การซื้อขายหุ้นกลับไม่เสียภาษี ซึ่งมองที่ความเป็นธรรม การเก็บภาษีจากกำไรเงินลงทุนดูเหมาะสมที่สุด แต่ยังต้องมีการศึกษาผลกระทบจากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียให้ชัดเจนที่สุดอีกครั้ง

สอดคล้องกับนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่มองว่า ขณะนี้นักลงทุนทุกกลุ่มยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องรอการประกาศจาก กกต.อย่างเป็นทางการ ที่หากประเมินตามไทม์ไลน์แล้วขั้นตอนต่างๆ จะผ่านการพิจารณาข้อร้องเรียนทุกอย่างเรียบร้อย ยังต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน หรือจะทราบผลช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566

ซึ่งระหว่างทางกว่าจะถึงช่วงเวลานั้น หากเสียงเปลี่ยนแปลง จะทำให้ผลการจับขั้วการเมืองอาจเปลี่ยนแปลงอีกได้ ซึ่งเป็นปัจจัยต้องติดตามต่อ จึงยังมีความไม่แน่นอนรออยู่อีกมาก

รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลในแนวทางของพรรคก้าวไกล นโยบายหลักที่เน้นแนวทางการปฏิรูปประเทศมากกว่าการดำเนินด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาจผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น

ก็ได้แต่หวังว่าความชัดเจนจะรีบมีออกมาดึงความเชื่อมั่นคืน เพื่อไม่ให้เห็นภาพการไต่ระดับร่วงลงจนรุ่งริ่งของดัชนีหุ้นไทยเหมือนช่วงวิกฤตที่ผ่านมาอีกครั้ง