E-DUANG : “การรุก” อาจแปรเปลี่ยนเป็น “ตั้งรับ”

หากมองเพียงฉากหน้า กรณี “น้องเมย” เรื่อยมาจนถึงกรณี”อาวุธสงคราม “กลางทุ่งนาในจ.ฉะเชิงเทรา

เหมือนกับเป็นกระบวนการ”รุก”

รุกเพราะว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาแสดงท่าทีและความเห็นเยี่ยงนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่

รุกเพราะว่าสามารถโยงไปยัง”โกตี๋”ได้

แต่หากสำรวจกระบวนการไหวเคลื่อนจากกรณี”น้องเมย”ก็จะได้คำตอบว่า ที่คิดว่า”รุก”นั้นไม่ใช่

ตรงกันข้าม พลันกลับกลายเป็น”ตั้งรับ”

ยิ่งลองไปสำรวจกระบวนการตวาดที่ตลาดปลา ปัตตานี และกระบวนการหวังเล่นงาน”แบมุส”ที่แยกสำโรง สงขลา

ก็จะรู้ว่าเป็น “ตั้งรับ” มิใช่ “รุก”

 

การประเมินผลในแต่ละมาตรการว่าเป็น “การรุก” หรือว่าเป็น”การ ตั้งรับ”จะถือเจตนาเพียงด้านเดียวย่อมไม่ถูกต้อง

จำเป็นต้องคำนึงถึง “ผล”

เพราะว่าภายในกระบวนการที่คิดว่า “รุก” นั้นสามารถเกิดการผิดพลาด เพลี่ยงพล้ำได้ตลอด 2 รายทาง

อย่างเช่นที่ตลาดปลา สาเหตุมาจาก”คุมอารมณ์”ไม่อยู่

อย่างเช่นกรณี “แบมุส” สาเหตุมาจากการเอาวัตรปฏิบัติอัน เป็นนิสัยของตนไปเป็นมาตรต่อคนดีอย่าง”แบมุส”

หรือกรณี”อาวุธสงคราม”สาเหตุ 1 เพราะโยงไปยัง “โกตี๋”

และอีกสาเหตุ 1 เพราะรีบร้อนในการฉกฉวยไปเป็นข้ออ้างที่จะไม่”ปลดล็อก”ให้พรรคการเมือง

เพียงอ้าปากคนก็เลยเห็นลิ้นไก่

 

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.เปิดเกม”รุก”หลายอย่างต่อปรปักษ์ทางการเมืองของตน

แต่เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2560 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน

ยิ่งเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 2560 ยิ่งมีหลายสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีกับคสช.และรัฐบาลเท่าใดนัก

กลายเป็น “ตั้งรับ” มากกว่าจะ “รุก”

จึงนำไปสู่บทสรุปและเสนอคำถามเชิงประเมินและเห็นว่าเป็นช่วง “ขาลง” เพราะว่าอยู่ในอำนาจมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

เวลาจึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ

อาจทำให้ “รุก” แปรเปลี่ยนเป็น”รับ”ได้