8 พรรคผุด ‘ทรานซิสชั่นทีม’ ใช้งานนำการเมือง ลดขัดแย้งปม ปธ.สภา-แบ่งเค้ก ครม.

การเลือกตั้งปี 2566 พรรค “ก้าวไกล” ชนะใจประชาชนกวาดคะแนนเสียงแบบถล่มทลาย ทำให้ได้เก้าอี้ ส.ส.สูงสุดทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ แม่ทัพใหญ่ขวัญใจด้อมส้ม “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรค จึงเดินหน้าจีบพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยรวบรวมเสียงเพื่อฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลทันที

โดยก้าวแรกของการจับขั้วรัฐบาล เริ่มต้นด้วยการถือฤกษ์วันครบรอบการทำปฏิวัติรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ด้วยการให้ทั้ง 8 พรรค 312 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคไทยรวมพลัง (พทล.) พรรคเป็นธรรม (ปธ.) และพรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ผลักดันวาระร่วม 23 ข้อ 5 แนวทางขับเคลื่อนประเทศ

ขณะที่ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในฐานะแกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาล และว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินสายพบภาคธุรกิจและภาคเอกชน เพื่อรับฟังข้อเสนอ ปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลต่างๆ พร้อมทั้งปลุกความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายใต้นโยบายของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีได้

ทว่า การฟอร์มทีมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ก็ไม่ราบรื่น เกิดสารพัดกระแสข่าวลือกระเพื่อมขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการ “ดีลลับ” เพื่อหวังพลิกสูตรขั้วรัฐบาล เปลี่ยนให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านแทน หากท้ายที่สุดไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อตั้งรัฐบาลได้

โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีคะแนนเสียงอยู่ในมือ 141 เสียง น้อยกว่าพรรคก้าวไกลแค่ 10 เสียงเท่านั้น หากเปลี่ยนใจและถอนตัวร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ย่อมส่งผลทำให้สมการการเมืองเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีการพูดถึงหลังฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลนอกจากนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกันแล้ว ประเด็นร้อนเรื่องการจัดสรรแบ่งเค้กโควต้ารัฐมนตรีและเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกจับตามองมากไม่แพ้กัน

โดยสูตรการแบ่งเค้กโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ มีกระแสออกมาว่า พรรคก้าวไกลจะขอรับผิดชอบเน้นกระทรวงทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่พรรคเพื่อไทยรับผิดชอบกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

โดยพรรคก้าวไกลจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 คือรวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหัวหน้าพรรคด้วย ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 เช่นกันคือต้องรวมตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของหัวหน้าพรรค จึงจะเป็นการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม

ส่วนเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลายฝ่ายต่างจับจ้องว่าบทสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะก่อนหน้านี้ 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ต่างเปิดศึกชิงกันดุเดือด โดยศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงยืนยันจำเป็นต้องมีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้กับพรรคก้าวไกล เพราะนอกเหนือจากการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ยังมีอีก 3 วาระสำคัญที่พรรคจำเป็นต้องมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้ช่วยขับเคลื่อน

ขณะที่เพื่อไทยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ประธานสภา’ ควรเปิดทางผลักดัน ‘ทุกนโยบาย’ ของ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น

แน่นอนว่าด้วยปฏิกิริยาของทั้ง 2 พรรค ที่มีต่อเก้าอี้ “ประธานสภา” ซึ่งเปรียบเสมือนประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีท่าทีว่าจะยอมถอยให้กันเช่นนี้

ย่อมถูกนำมาเป็นประเด็นตีความกันว่าจะเป็นชนวนทำให้เกิดรอยร้าวจนลุกลามบานปลายถึงขั้นต้องแยกทางกันหรือไม่

 

โดยการเปิดโต๊ะเจรจาร่วมกันครั้งแรกของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นที่พรรคประชาชาตินั้น มีการคาดการณ์ว่าประเด็น “เก้าอี้ประธานสภา” และการแบ่งเค้กรัฐมนตรี จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยด้วย แต่ทว่า กลับไม่มีเรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ ผลการหารือของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีข้อสรุปและมีมติร่วมกัน ใช้งานนำการเมืองเพื่อลดแรงขัดแย้งในเรื่องประธานสภาที่ก้าวไกลจะไปหารือกับเพื่อไทยเป็นการภายใน รวมถึงจะยังไม่พิจารณาตัวบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ “ทรานซิสชั่นทีม” โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการประสานงานฯ พร้อมกับตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 คณะ จากทั้งหมด 23 คณะ เพื่อหาทางออกร่วมกันแก้ไขปัญหาประเทศ พร้อมกลั่นกรองเป็นนโยบาย บริหารประเทศที่จะแถลงต่อรัฐสภาในฐานะฝ่ายบริหาร

ขณะที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะหารือกันภายหลัง พร้อมยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล

และยืนยันความสัมพันธ์แน่นปึ้กจะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อตั้งรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งพรรคการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลคะแนนออกมาไม่เป็นไปตามเป้า ด้วยเหตุผลสำคัญของประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับสภาวะ “เบื่อลุง” ที่อยู่ยาว อยู่นาน จึงทำให้ผลคะแนนออกมาพ่ายแพ้ฝั่งประชาธิปไตย

แต่ทว่า ตราบใดที่พรรคก้าวไกลยังไม่หลุดพ้นบ่วงอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพื่อโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รวมถึงการถูกตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการลงสมัครรับเลือกตั้งกรณีถือหุ้นสื่อ ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะมีโอกาสสูงที่เรื่องนี้จะถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด

หากท้ายที่สุดพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อรอส้มหล่น มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสูตรกลับมาเป็นอีกขั้วหนึ่งย่อมเป็นไปได้

ประกอบกับมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวกับลูกพรรคด้วยว่า ให้รอก่อน เผื่อได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ยิ่งทำให้สังคมเกิดความสงสัยและคำถามมากมาย ว่าจะมีการงัดสูตรใดขึ้นมาต่อสู้หรือไม่

แน่นอนว่า เส้นทางการเมืองท่ามกลางข่าวลือสารพัด “ดีลลับ” หลังจากนี้ไปจะต้องจับจ้องชนิดกะพริบตาไม่ได้เลย