บันทึกการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 แม้ว่าจะเสร็จลงอย่างเรียบร้อย แต่ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งสมควรบันทึกไว้ว่า

การเลือกตั้งที่ถูกออกแบบใหม่ภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขาดความสมบูรณ์ นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากในอดีต

จะถือเป็นพัฒนาการทางการเมืองในทางที่ดีขึ้นหรือเลวร้ายมากขึ้น อาจเป็นคำถามที่ต้องมาวิเคราะห์กัน

 

1.การเลือกตั้งที่ กกต.ทำงานแบบราชการ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ถูกออกแบบมาในฐานะองค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานไม่ติดยึดกับกฎระเบียบของราชการเพื่อหวังผลในการปฏิรูปทางการเมืองของไทย

การมีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มาจากการสรรหาจากผู้มีคุณสมบัติสูงมากและผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ควรจะสามารถกำกับดูแลและนำองค์กรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการทำงานตามการเสนอของสำนักงานที่มีความเป็นราชการค่อนข้างสูง

บัตรเลือกตั้งแบบเขต ต้องมีแค่ตัวเลข ไม่สามารถมีชื่อพรรค โลโก้พรรคได้ เพราะกฎหมายเขียนชัดเจน ในส่วนบัตรบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีแต่ไม่ได้บอกว่าต้องมีในบัตรเขต

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หลายประเทศยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ด้วยสาเหตุว่าในกฎหมายให้เลือกที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ จึงเลือกวิธีการที่ง่ายต่อราชการคือให้ประชาชนมาใช้สิทธิที่สถานทูตโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะยากลำบากหรือไม่

การรายงานผลการนับคะแนนแบบไม่เป็นทางการ แม้ว่าประชาชนและสื่อมวลชนจะเรียกร้องต้องการ แต่เมื่อไม่มีกฎหมายบอกว่าต้องรายงานแบบ Real time กกต.ก็จะออกแบบการรายงานผลตามที่ตนเองคิดว่าเหมาะสม ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็ใช้เวลานานมาก

ไม่นับรวมกรณีที่ กกต.เชื่อสำนักงาน ที่คำนวณจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัด โดยเอาราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยมาคิดรวม ดีว่ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ไม่เช่นนั้นหากมีการร้องหลังเลือกตั้ง เรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุถึงขนาดการเลือกตั้งเป็นโมฆะ สร้างความเสียหายตามมาอย่างใหญ่หลวง

 

2.ระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้คนและพรรคต่างคนต่างหาเสียง

การไม่แก้มาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องรับสมัคร ส.ส.เขต ก่อนสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้หมายเลขของผู้สมัครแต่ละเขตต่างกัน และยังเป็นคนละหมายเลขกับหมายเลขพรรคการเมืองในบัตรบัญชีรายชื่อ

ในด้านประชาชนจึงมีความยากลำบากในการจดจำทั้งหมายเลขผู้สมัครและหมายเลขของพรรคการเมือง พร้อมทั้งต้องจดจำว่าบัตรใดเลือกคน บัตรใดเลือกพรรค

สำหรับผู้สมัครของพรรคการเมืองในพื้นที่ การหาเสียงจึงมุ่งเน้นบอกเฉพาะหมายเลขของตนเพื่อลดความสับสนของประชาชน ยิ่งในกรณีที่มีการใช้เงินจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยิ่งมุ่งเน้นที่หมายเลขของตนเองมากกว่าหมายเลขของพรรค

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา นอกเหนือจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่มีสัดส่วนคะแนนเขตต่อบัญชีรายชื่อที่ดูเป็นเหตุผลต่อกันแล้ว พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้คะแนนเขตรวมทั้งประเทศมาก กลับมีคะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อที่น้อยผิดปกติแบบทิ้งห่างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือชาติไทยพัฒนา

ราวกับได้ยินเสียงพูดในสนามเลือกตั้งว่า เบอร์เขตเลือกผมเถอะ ส่วนบัญชีรายชื่ออย่างไรก็ได้

 

3.การทุจริตเลือกตั้ง การซื้อขายเสียงที่รุนแรงขึ้น

แม้ไม่มีรายงานการทุจริตการเลือกตั้งจาก กกต. แต่จากข้อมูลจากสื่อมวลชนและจากการรายงานของประชาชนในพื้นที่ถึงการซื้อขายเสียงพบว่า การทุ่มเทเงินเพื่อการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้งกลับรุนแรงกว่าในอดีตมาก

ตัวเลขจำนวนเงินขึ้นไปถึง 1,000-1,500 บาทต่อหัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

รูปแบบการซื้อเสียงไปไกลขนาดการเก็บบัตรประชาชนเพื่อไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และขนคนนับพันคนกระจายออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตอย่างเป็นระบบ

ในขณะที่รูปแบบพื้นฐานคือ การใช้หัวคะแนน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน อสม. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่นำเงินไปให้และบอกให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครก็ยังคงใช้เป็นปกติ

โดยกลไกต่างๆ ที่ กกต.สร้างขึ้น เช่น การมีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง การตั้งรางวัลจูงใจให้แก่ผู้แจ้งเหตุทุจริต การมีแอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด เพื่อการแจ้งเหตุออนไลน์ ยังเป็นกลไกที่ใช้ไม่ได้ผล

 

4.กระแสที่เหนือกระสุน

การเลือกตั้งคราวนี้ สร้างความเสียหายแก่พรรคการเมืองที่เดินแนวทางการใช้เงินซื้อเสียงอย่างมหาศาล เนื่องจากแม้จะมีการใช้เงินซื้อเสียงจำนวนมาก แม้บ้านใหญ่ที่มีทั้งอิทธิพลในพื้นที่และมีเงินเป็นปัจจัยหลักในการหาเสียง กลับพ่ายแพ้แก่พรรคการเมืองที่มีกระแสสูง เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติในหลายพื้นที่

สิ่งที่เป็นกระแสในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการแข่งขันต่อสู่ระหว่างสองกระแส คือ กระแสไม่เอาลุง เบื่อลุง ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาปกครองประเทศอีก ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้อานิสงส์จากกระแสนี้เต็ม ๆ คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือกระแสของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เน้นความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนในซีกฝั่งนี้ ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับกระแสความนิยมในบัตรบัญชีรายชื่อราวร้อยละ 13 เท่ากับคะแนนนิยมในการสำรวจโพลของหลายๆ สำนัก ที่ระบุว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในสัดส่วนที่แทบจะใกล้เคียงกัน

กระแสดังกล่าวยังสร้างความเสียหายให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เหลือซึ่งเลือกข้างไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ที่ได้คะแนนนิยมในบัตรบัญชีรายชื่อน้อยเกินปกติ

 

5.พรรคการเมืองขนาดจิ๋วที่ได้ประโยชน์จากความสับสนในการลงคะแนน

มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 6 พรรค ที่จับสลากได้หมายเลขพรรคเป็นอันดับต้น ๆ คือ หมายเลข 1-6 ได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่ 175,182 คะแนน ถึง 273,428 คะแนน

ทั้งๆ ที่พรรคเหล่านี้ได้คะแนนรวมของ ส.ส.เขตทั้งประเทศเพียงหลักพันต้นๆ ถึงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

สิ่งที่คาดว่าเป็นไปได้ที่สุด คือ การที่ประชาชนจดจำหมายเลขของผู้สมัครเขตที่มีการแข่งขันรุนแรงในพื้นที่ซึ่งมักเป็นหมายเลขต้นๆ และไปกาในบัตรบัญชีรายชื่อ รวมแล้วทั้งประเทศนับล้านคน

บัตรดังกล่าวไม่ถูกนับเป็นบัตรเสียแต่ทำให้เจตนาของประชาชนที่เลือกผิดแผกไปจากความเป็นจริง

 

บทสรุป

การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 จึงเป็นการเลือกตั้งที่ยังจำเป็นต้องทบทวนในด้านกติกาวิธีการ ให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการให้หมายเลขของผู้สมัครเขตและหมายเลขของพรรคเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กกต.ที่จัดการเลือกตั้งง่ายขึ้น พรรคการเมืองหาเสียงง่าย ไม่มีการแบ่งแยกแตกสามัคคีในพรรค ในขณะที่ประชาชนก็เกิดความสะดวก ไม่สับสนในการใช้สิทธิ

ยกเว้นผู้มีอำนาจในการกำหนดกติกาจะเห็นประโยชน์จากความสับสน ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้คงให้บทเรียนแล้วว่า ฝ่ายประชาชนเขาจำแม่น ไม่สับสน

แต่ฝ่ายท่านแหละ ที่สับสน ถึงได้พ่ายแพ้มากมายมากที่สุดเท่าที่เคยเลือกตั้งกันมา