“กาถา-คาถา” ชาวล้านนา แบ่งได้กี่แบบ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กาถา”

“กาถา” บางท้องที่ออกเสียงสั้นเป็น “ก๊ะถา” หรือใช้คำว่า “กั๊ดถา” ด้วยซ้ำ

แปลว่า คาถา

จารีตวัฒนธรรมในสังคมกึ่งผี กึ่งพราหมณ์ กึ่งพุทธ จะมีบทบริกรรมที่เรียกว่า “คาถา” เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว พม่า อินโดนีเซีย ไทย และล้านนา

คนล้านนาโบราณก็นิยมมีคาถาประจำตัวใช้กันหลายบท

คนล้านนาเชื่อว่า ลูกผู้ชายจะต้องมีคาถาอยู่กับตัว เพื่อปกป้องคุ้มครองตัวเอง ครอบครัวและบริวาร จากคนร้าย สัตว์ร้าย ตลอดจนภยันตรายนานา

คาถาที่คนล้านนาใช้มีหลากหลาย คาถาชื่อเดียวกันก็อาจจะมีตัวบทไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ชื่อและแหล่งที่มามาจากแหล่งเดียวกัน มีทั้งแบบร้อยแก้ว ร้อยกรอง ใช้ทั้งภาษาบาลี ภาษาขอม ภาษาล้านนา หรือภาษาของชนเผ่า เช่น ข่ามุ ไทยใหญ่ และพม่าปะปนกันไป

คาถามีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างไสยศาสตร์กับความเชื่อแบบพราหมณ์ จึงเชื่อกันว่าคนที่จะใช้คาถาให้ขลังนั้นน่าจะเป็น “คนดิบ” คือคนที่ไม่ผ่านการบวชเรียน ทั้งนี้เนื่องจากคำสอนในพุทธศาสนาถือว่า คาถาบางบทนั้นคือ “เดรัจฉานวิชา” เช่น จำพวกคาถาคุณไสย

ใครที่บวชเรียนมาก่อนจะ “ถือ” คาถาได้ไม่ดีนัก

คนที่มีคาถาและถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อๆ ไปนั้นถือเป็นครู ใครอยากเรียนคาถาต้องนำพานข้าวตอก ดอกไม้ ธูป-เทียน เงินบูชาครู ที่เรียกว่า “ขันตั้ง” มา “ขึ้นครู” การถ่ายทอดคาถาอาจจะถ่ายทอดด้วยวาจา ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้ใครมาแอบได้ยิน เพราะเชื่อว่า คนที่มาแอบฟังจะได้คาถาตัวจริงไป ส่วนคนที่รับคาถาจะได้สิ่งที่หมดความขลัง การแอบเรียนคาถาแบบนี้ คนล้านนาเรียกว่า “คาถาลอดช่อง”

สำหรับวิชาคาถานั้นมีหลายแบบ สามารถแบ่งได้ประมาณนี้คือ

คาถาประเภทพุทธมนต์ ใช้เพื่อการรักษาพยาบาล เช่น คาถาเคลื่อนก้างขวางคอ คาถาแก้โรคตาแดง คาถารักษามะเร็งฟ้าม้าน (รักษางูสวัด) คาถาไล่ผีที่สิงในตัวคน เป็นต้น

คาถาประเภทมหานิยม ทำให้คนอื่นรัก ชอบพอในตัวเอง เช่น คาถาพระเจ้าห้าพระองค์ คาถามหาเสน่ห์ คาถาสาวหุม (ทำให้สาวหลงรัก) คาถาพระร่วง (ทำให้คำพูดที่จะเปล่งออกไป สัมฤทธิผล)

คาถาใช้ขับไล่ภยันตราย หรือป้องกันตัวเอง เช่น คาถาจักเข็บขบ (ป้องกันตะขาบกัดและป้องกันสัตว์มีพิษอื่นๆ มีงู เป็นต้น) คาถาหับปากสัตว์ (ป้องกันสัตว์ร้ายกัด) คาถาไล่มด (ใช้เสกใบไม้กวาดบ้านเรือน ป้องกันมดมารบกวน) คาถาหว่านทราย (เสกทรายหว่านไปรอบบ้านเพื่อป้องกันภัย)

คาถาที่ใช้กระทำกับผู้อื่น เป็นคาถาที่ให้คุณให้โทษกับผู้อื่น เช่น คาถาผ่าจ้าน (ทำให้คนรักแตกแยกกัน)

คาถามัดจิต (เสกให้คนรัก ส่วนมากมักจะเสกใส่น้ำ หมาก หรืออาหาร แล้วนำไปให้สาวที่ตนหมายปองกิน)

บทคาถาบางบท คล้ายกับมีที่มาจากบทสวด เช่น คาถาทำน้ำมนต์ให้ขายของดี บทคาถามีดังนี้ :

พุทฺธ สํ มิ สํ สิ โม นา

ธมฺม สํ มิ โม นา สํ สิ

สงฺฆ สงฺ มิ สิ โม นา สํ

บางครั้งคาถาเป็นคำลามกหยาบโลน เช่น คาถาทุดเลือด เพื่อทำให้เลือดหยุดไหล หรือ

คาถาบางบทก็ไม่เป็นภาษา ไม่มีความหมายใดๆ เช่น คาถานกเค้า ใช้เมื่อต้องการให้คนนิยม บทคาถามีว่า : กุรุ กุรุ กุริ กุริ

และบางบทคาถาก็เป็นการสื่อตรงไปตรงมา เช่น คาถาเป่าพิษ ใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อย หรือมีแผลพุพอง บทคาถาคือ : โอม กูจักหยิบพิษมึงออก กูจักถอดพิษมึงหนี พิษกูดีพิษอยู่ อุ่งสวาหะ โอม พิษตะกลม พิษตะกำ โอม พิษตาดำ โอม พิษตาแดง โอม สวาหะ อุ่งนะแหย่ พลังยุเท อุ่งสวาหะ

ยกตัวอย่างมาพอเป็นสังเขป ให้เห็นว่า การใช้คาถามีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน แล้วแต่ผู้ร่ายคาถา

ส่วนจะได้ผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง ผนวกกับความศรัทธาของผู้ใช้เป็นสำคัญ