‘ปรับใจ’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

นกแก๊ก หนึ่งในนกเงือกที่มีอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีขนาดเล็กกว่านกเงือกตัวอื่น ประชากรค่อนข้างมาก พบเจอตัวได้ไม่ยาก มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับนกเงือกตัวอื่นๆ คือ ในช่วงเวลาทำรังวางไข่ ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงที่ปิดเหลือแค่ช่องเล็กๆ ไว้ เพื่อรับอาหารที่พ่อนกจะนำมาให้

นกแก๊กมีสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าแตกต่าง คือ พวกมันปรับตัวเก่ง

เราพูดกันเสมอๆ ว่า เมื่อถึงวันซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงกระทั่งยากต่อการดำรงชีวิตไปตามวิถีเดิมๆ

ขณะที่นกตัวอื่นพบกับชะตากรรม นกแก๊กนี่แหละจะอยู่รอด เพราะปรับตัวเก่ง

เช่น เมื่อต้นไม้ที่มีโพรงเหมาะสมสำหรับวางไข่เลี้ยงลูกหายาก นกแก๊กก็ใช้อะไรก็ได้ แม้จะเป็นไห หรือกล่อง อันเป็นวัสดุของคน

ใช้อะไรก็ได้ ที่ทำให้ลูกอยู่อย่างปลอดภัย และเติบโต

หลายครั้งที่พบเจอนกแก๊ก ผมนึกถึงเรื่องการปรับตัว

 

และเมื่อนึกถึงนก คงต้องนึกถึงต้นไม้ เพราะนกส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตตามต้นไม้

แต่มีนกหลายชนิดซึ่งเลือกที่จะอยู่บนพื้น

นกแก๊กนั้น มีวิถีชีวิตอยู่บนต้นไม้ แต่หลายครั้งที่พวกมันลงมาบนพื้นเพื่อหาอาหาร โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังฝนตก ที่แมลงจะอยู่ตามพื้นเพราะปีกเปียกชื้นเกินกว่าจะบินขึ้นสูง

มีนกอยู่บนต้นไม้และบนพื้น นั่นทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า

นกได้รับมอบหมายมาให้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเหมาะสม

ไม่ว่าแมลงจะอยู่บนพื้น, ในอากาศ ตามกิ่งไม้ในลำต้น

รวมทั้งในพื้นดินที่ถูกปกคลุมด้วยใบไม้ทับถม ในทุกพื้นที่จะมีนกผู้ซึ่งชำนาญทำงานอยู่ การได้อาหารเป็นแค่ผลพลอยได้

 

เกิดเป็นนก เป็นสัตว์ป่า ไม่สบายนัก เพราะงานหนักมาก พวกมันไม่ค่อยหยุดกิจกรรม กระโดดโลดเต้นหาจิกแมลง หาอาหารตลอด

ยิ่งในช่วงเวลาที่ต้องหาเลี้ยงลูกด้วยแล้ว งานจะหนักขึ้นเป็นสองเท่า

แต่พวกมันรู้จักแบ่งเวลาเพื่อพักผ่อน การพักของพวกมันก็มีวิธีต่างๆ กัน พวกนกเหยี่ยว การบินหรือร่อนไปตามลม คล้ายจะเป็นช่วงพัก

เหล่านกเป็ดน้ำ ชอบลอยตัวนิ่งๆ เอาหัวซบไหล่ หลับตา นานๆ ก็ลืมตาดูรอบๆ

นกตะขาบทุ่ง และนกยอดหญ้า ทำคล้ายกันคือ บินขึ้นไปสูงๆ แล้วหุบปีกดิ่งลงมา

ส่วนนกชายเลน หรือเหล่านกท่องน้ำ จะยืนชิดๆ ยืนขาเดียวหลับตารอเวลาน้ำลด

เมื่อเฝ้าดู และนกรวมทั้งสัตว์ป่าทำโน่นทำนี่ จะเข้าใจและเห็นว่า ทุกสิ่งที่ดำเนินอยู่ในธรรมชาตินั้น มีเหตุผล

มองพวกมันด้วยสายตา และ “เห็น” ผ่านหัวใจ

นกแก๊ก – นกแก๊ก สามารถปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่านกเงือกตัวอื่นๆ หลังฝนตก พวกมันใช้ทักษะกระโดดไปตามพื้น จิกแมลงเม่าอย่างคล่องแคล่ว

ผมบอกใครๆ เสมอว่า เริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการดูนก แรกเริ่มก็ไม่พ้นที่จะตั้งความหวังไว้กับการพบเห็นนกหายากๆ การได้มาร์กรายชื่อนกพร้อมวันเวลา สถานที่ พบเจอไว้ในหนังสือคู่มือดูนกมากขึ้นเรื่อย คล้ายเป็นความสุขแบบหนึ่ง

แรกๆ รายชื่อถูกมาร์กรวดเร็ว ครั้นผ่านไประยะเวลาหนึ่งเครื่องหมายเพิ่มขึ้นช้าๆ และแทบจะหยุดนิ่งเมื่อผ่านไปหลายปี

แม้ว่าจะไม่เคยพบเจอ แต่นกที่เหลือนั้น รูปร่างลักษณะจะอยู่ในหัว เรียกได้ว่า หากพบแค่แวบแรกก็รู้ว่าเป็นตัวไหน แม้ได้ยินเพียงเสียง หรือท่าทางบิน

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเมื่อผมอยู่ในป่าอย่างจริงจัง ใช้เวลาที่มีเกือบทั้งหมดในป่า

เฝ้ามองนกที่เคยเห็นด้วยความรู้สึกราวกับว่า ไม่เคยรู้จักนกชนิดนี้มาก่อน การได้เห็นเพียงแวบเดียว แล้วคิดว่า ได้ “เห็น” นกนั้นๆ แล้ว ทำให้ผมพลาดไปหลายสิ่ง

สิ่งหนึ่งอันทำให้รู้คือ เมื่อรู้น้อยนั้น มักจะคิดว่ารู้มากแล้วเสมอ

 

ในป่า ผมไม่ได้พบปะหรือพูดคุยกับใครๆ มากนัก และแน่นอน เมื่อเราเงียบ ดูเหมือนว่าจะได้ยินสิ่งต่างๆ มากมาย

นั่งนิ่งๆ ซ่อนตัวรอให้สัตว์ป่าอนุญาตให้พบ มีช่วงเวลาแห่งความว่างเปล่ามาก ช่วงเวลานี้แหละ ทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ

ในความว่างเปล่า ผมมักปรับระยะชัดของกล้องไว้ตรงจุดที่มีแสงเงาสวยๆ ตั้งความหวังว่า จะมีตัวอะไรมาอยู่ตรงนั้น

แต่คงพูดได้ว่า ไม่เคยมีตัวอะไรมาอยู่ตรงแสงสวยนั้นหรอก

อีกทั้งสภาพแสงสวยนั่นจะอยู่ไม่นาน ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นสูง สภาพแสงก็เปลี่ยนไป

 

หลังฝนตก นกแก๊กเข้าประจำที่ พวกมันใช้ทักษะในการกระโดดไปตามพื้นได้อย่างรวดเร็ว ปากใหญ่จิกคาบแมลงเม่าอย่างคล่องแคล่ว

ได้เฝ้าดูนกแก๊ก สิ่งที่ได้คือ แรงบันดาลใจ พวกมันสอนให้รู้ว่า ฝึกฝนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง จำเป็นและสำคัญ ยึดติดกับวิถีเดิม อาจทำให้ชีวิตยุ่งยาก

เรื่องง่ายๆ ที่รู้ นั่นคือ ปรับตัวนั้นไม่ยาก แต่ปรับใจก็เป็นเรื่องที่เราต่างรู้ว่าไม่ง่าย

 

กับความเปลี่ยนแปลงนั้น เหล่าสัตว์ป่ารับมือได้ หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ

พวกมันสอนให้รู้ถึงการปรับตัว ส่วนเรื่องของการปรับใจ คงต้องหาวิธีด้วยตัวเราเอง

ผมไม่รู้หรอกว่า เหล่าสัตว์ป่าคิดอย่างไร เมื่อต้องปรับตัว ใช้วิธีการใดเพื่อ “ปรับใจ”

สิ่งที่รู้นั่นคือ มีหลายเรื่องราวที่พวกมันรู้

และผมไม่มีวันเข้าถึง •

 

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ