ศิลปินหญิงที่ไม่ได้เป็นแค่ไม้ประดับในโลกศิลปะ : ผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณภายในผ่านภาพวาด (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
???????? ??????????? ???? ??????? ????????? ? ????????-??????? http://gallerix.ru

ย้อนอ่านตอนแรก (คลิก)

ชีวิตรักของฟรีด้าและริเวราเองก็ไม่ราบรื่น เพราะริเวรามีนิสัยเจ้าชู้ มากรักหลายใจ (ประมาณว่าคลำดูแล้วไม่มีหาง ก็เอาได้หมด)

ว่ากันว่าเขาถึงกับมีสัมพันธ์สวาทกับคริสตินา น้องสาวของฟรีด้าด้วยซ้ำไป

ด้วยความเจ็บแค้น ฟรีด้าตอบสนองด้วยการตัดผมดำขลับที่เป็นสัญลักษณ์และของรักของเธอทิ้ง

ผนวกกับความเจ็บปวดผิดหวังกับการแท้งลูกอีกครั้งในปี 1934 ทำให้เธอแยกกันอยู่กับริเวรา

และหันไปมีสัมพันธ์สวาทกับคนมากหน้าหลายตาทั้งชายและหญิง (ซึ่งเธอมีแนวโน้มที่จะเป็นไบเซ็กช่วลอยู่แล้ว สังเกตได้จากรสนิยมในการแต่งกายเป็นผู้ชายตั้งแต่สมัยยังสาวๆ)

แต่ทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันช่วยเหลือนักปรัชญาและนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์เรืองนามชาวรัสเซีย ลีออน ทรอตสกี้ และภรรยา ที่ลี้ภัยการเมืองมายังเม็กซิโก โดยทั้งคู่รับพวกเขามาอาศัยที่บ้านสีน้ำเงินของพวกเขา

ในช่วงนั้นเอง ทรอตสกี้และฟรีด้าก็แอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันด้วย

Kahlo, Self-Portrait With Cropped Hair 1940.jpg

ในปี 1939 ฟรีด้าย้ายไปอาศัยในกรุงปารีส ที่นั่นเธอได้แสดงนิทรรศการภาพวาดของเธอและได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกับศิลปินหัวก้าวหน้าที่นั่นอย่าง มาร์เซล ดูชองป์ และ ปาโปล ปิกัสโซ

ในปีเดียวกัน เธอหย่ากับริเวราอีกครั้ง และวาดภาพที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งของเธออย่าง The Two Fridas (1939) ที่แสดงภาพของฟรีด้าสองคนนั่งเคียงข้างกัน โดยมีหัวใจออกมาอยู่นอกร่างกาย

ร่างหนึ่งในนั้นสวมชุดขาวและมีหัวใจขาดเหวอะหวะและมีเลือดหยาดหยดลงบนชุดขาวของเธอ

ในขณะที่อีกร่างสวมชุดที่มีสีสันและมีหัวใจที่ปกติสมบูรณ์ สองร่างในภาพนี้เชื่อว่าเป็นตัวแทนของฟรีด้าในเวอร์ชั่นที่มีความรักและสิ้นไร้ความรักนั่นเอง

ในปี 1944 ฟรีด้าวาดภาพ The Broken Column ซึ่งเป็นภาพกึ่งเปลือยของเธอที่ลำตัวถูกฉีกกลางจนเผยให้เห็นกระดูกสันหลังที่เป็นเสาโบราณที่แตกร้าวอยู่ภายใน

เธอสวมเข็มขัดพยุงร่างกายและมีตะปูตอกอยู่ทั่วร่างกาย เธอแสดงออกถึงความเจ็บป่วยทรมานทางร่างกายของเธอออกมาในภาพวาดนี้

โดยในช่วงนี้เธอต้องรับการผ่าตัดหลายครั้ง และต้องสวมอุปกรณ์พยุงหลักพิเศษ

ฟรีด้าเพียรหาทางรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังของเธอตลอดมา ซึ่งก็ไม่ค่อยประสบผลเท่าไหร่นัก

ในช่วงปี 1950 สุขภาพของเธอเริ่มย่ำแย่หนักมาก ถึงแม้จะต้องใช้ชีวิตบนเตียงโรงพยาบาลอย่างยาวนาน และต้องผ่าตัดหลายต่อหลายครั้ง แต่เธอก็ยังคงวาดภาพต่อไป ในช่วงนี้เองที่ริเวรากลับมาคอยดูแลเธออีกครั้ง

ในปี 1953 เธอได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรกในเม็กซิโก

ถึงแม้ว่าเธอจะลุกออกจากเตียงไม่ได้เลย แต่เธอก็ไม่ยอมพลาดงานเปิดนิทรรศการของตัวเอง

โดยเธอเดินทางไปเปิดงานด้วยรถฉุกเฉิน และร่วมพูดคุยและฉลองงานเปิดกับผู้ร่วมงานอยู่บนเตียงสี่เสาสวยงามที่ตั้งอยู่กลางหอศิลป์ ซึ่งริเวราจัดเตรียมให้เธอเป็นพิเศษ

เธอมีความสุขอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่แผลเรื้อรังบนขาขวาของเธอลุกลามจนต้องตัดขาทิ้ง

ด้วยความท้อแท้สิ้นหวังและสุขภาพอันย่ำแย่ เธอต้องกลับไปอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอลง

โดยเธอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย ในการร่วมรณรงค์ทางการเมืองเพื่อประท้วงต่อต้านการที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการโค่นล้มประธานาธิบดี ฆาโกโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz) แห่งกัวเตมาลา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1954

เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันเกิดครบรอบปีที่ 47 ฟรีด้าก็เสียชีวิตลงในวันที่ 13 กรกฎาคม 1954 ด้วยวัยเพียงแค่ 44 ปี ในบ้านสีน้ำเงินอันเป็นที่รักของเธอ

มีรายงานว่าเธอเสียชีวิตจากอาการโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน

แต่ก็ร่ำลือกันว่าเธอน่าจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า

ผลงานศิลปะของฟรีด้ามีความโดดเด่นอยู่ตรงความซื่อบริสุทธิ์ จริงใจ เธอได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมป๊อปและวัฒนธรรมท้องถิ่นของเม็กซิกัน

เธอทำงานศิลปะในสไตล์นาอีฟ (Na?ve art) และศิลปะพื้นบ้าน ด้วยสีสันอันสดใส ผนวกกับการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในภาพเขียน เพื่อตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตัวตนของตัวเอง รวมถึงแนวคิดหลังยุคอาณานิคม (Postcolonialism), เรื่องราวทางเพศ, ชนชั้น และเชื้อชาติในสังคมเม็กซิโก

ภาพวาดของเธอมักจะมีองค์ประกอบและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเธออย่างมาก

และมักจะผสมผสานความเป็นจริงเข้ากับจินตนาการ

ผลงานของเธอถูกจัดให้อยู่ในสกุลศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ และเมจิคัลเรียลลิสม์ (Magical Realism)

ถึงแม้ภาพวาดของฟรีด้าจะถูกจัดให้อยู่สกุลศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ และเคยออกแสดงกับกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในยุโรป รวมถึงสนิทสนมกับเจ้าลัทธิอย่าง อองเดร เบรอตง แต่เธอก็ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นศิลปินในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ อันที่จริงเธอไม่เคยจำกัดความตัวเองว่าอยู่ในศิลปะตระกูลไหนเลยด้วยซ้ำ

“ฉันวาดความเป็นจริงส่วนตัวของฉัน ฉันวาดสิ่งที่ผ่านเข้ามาในหัวโดยไม่ได้ผ่านการครุ่นคิดหรือไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้น”

ผลงานของฟรีด้าได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติและวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของเม็กซิกัน

เนื้อหาในภาพเขียนของเธอส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกภายในออกมา ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ ความเศร้า ความเจ็บปวด ความผิดหวัง ภาพเขียนของเธอมักจะบ่งบอกถึงความร้าวรานในชีวิตคู่ ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย โดยเธอกล่าวถึงเหตุผลที่มักจะเขียนภาพเหมือนของตัวเองว่า

“ที่ฉันเขียนภาพเหมือนตัวเอง เพราะฉันมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และอีกอย่าง ตัวฉันเองก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้จักดีที่สุด”

หลังจากเสียชีวิต ฟรีด้าเริ่มมีชื่อเสียงจากการที่รัฐบาลเม็กซิกันเล็งเห็นคุณค่า รวบรวมผลงานของเธอและเปิดบ้านสีน้ำเงินของเธอให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 1958

ด้วยความที่งานของเธอถ่ายทอดท่วงทำนองและความรู้สึกนึกคิดของสตรีออกมาได้อย่างซื่อสัตย์ ชัดเจนและจริงใจ และแสดงออกถึงประสบการณ์และรูปลักษณ์ของสตรีเพศอย่างไร้การประนีประนอม ส่งให้ฟรีด้าได้รับการยกย่อง

และกลายเป็นแม่แบบของนักสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 ในเวลาต่อมา

ในปี 1983 มีหนังสือชีวประวัติของเธอตีพิมพ์ออกมา ซึ่งช่วยให้สาธารณชนเริ่มหันมาสนใจเธออีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กำกับฯ จูลี่ เทย์มอร์ และนักแสดงสาว ซัลมา ฮาเย็ก ก็ร่วมมือร่วมใจกันปลุกปั้นชีวประวัติของ ฟรีด้า คาห์โล ให้กลับมีชีวิตโลดแล่นขึ้นมาอีกครั้งในหนังชื่อ Frida (2002) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของฟรีด้าอย่างเปี่ยมสีสัน สวยงาม น่าสนใจ และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ตัวศิลปินและผลงานศิลปะของเธอ

จนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงหกสาขาในปี 2003 ซึ่งรวมถึงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (แต่ก็พลาดไปอย่างน่าเสียดาย) และคว้ารางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครอง

ซึ่งจากอานิสงส์ของหนังเรื่องนี้นี่เอง ที่ทำให้ชื่อของ ฟรีด้า คาห์โล กลับมาเป็นที่รู้จัก

และกลายเป็นศิลปินในดวงใจมิตรรักแฟนศิลปะจวบจนถึงทุกวันนี้ในที่สุด