เศรษฐกิจ / “สมคิด” สร้างเครือข่ายล้างจน ผสานพลังดรีมทีมเศรษฐกิจ ลุยเฟส 2 สวัสดิการแห่งรัฐ

เศรษฐกิจ

“สมคิด” สร้างเครือข่ายล้างจน

ผสานพลังดรีมทีมเศรษฐกิจ ลุยเฟส 2 สวัสดิการแห่งรัฐ

ภายหลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดแนวคิดสร้างงานคนจน เกิดคำถามตามมาทันทีว่าทำได้จริงไหม เพราะปัญหาความยากจนสะสมหยั่งรากลึกในสังคมไทยมานานหลายสิบปี

ตัวเลขคนจนที่ชัดเจนสามารถวัดได้จากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง ล่าสุดในปี 2560 มีผู้มาลงทะเบียนสูงกว่า 14.1 ล้านคน ผ่านคุณสมบัติ 11.6 ล้านคน

ตัวเลขนี้สูงกว่าการลงทะเบียนในปี 2559 มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 7.7 ล้านคน

ในปีแรกที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะแจกอะไร แต่พอปีแรกรัฐแจกเงินให้คนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาทตามระดับรายได้ ทำให้ปีที่ 2 ยอดลงทะเบียนสูงกว่าปีแรกมาก

ในปีที่ 2 ของสวัสดิการไม่ได้แจกเงิน แต่เป็นการให้วงเงินเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ด้วยการแจกบัตรสวัสดิการ เพื่อนำไปใช้ซื้อของร้านธงฟ้าคนละ 200-300 บาท/เดือน ขึ้นรถเมล์ ขสมก. 500 บาท/เดือน รถไฟ 500 บาท/เดือน และรถ บ.ข.ส. 500 บาทต่อเดือน คาดว่าต้องใช้เงิน 4.1 หมื่นล้านบาท มากกว่าการแจกเงินในปีแรกใช้เงินไป 1.7 หมื่นล้านบาท

แต่รัฐบาลมองคุ้ม เพราะการแจกบัตรเป็นการช่วยแบบตรงจุด ทำให้การใช้งบฯ มีประสิทธิภาพมากกว่า

เมื่อแจกบัตรนำไปใช้สวัสดิการเรียบร้อยแล้ว นายสมคิดสั่งการให้กระทรวงการคลังลุยเฟส 2 ต่อทันที ด้วยการสร้างรายได้ให้กลุ่มคนจนที่ลงทะเบียนไว้กว่า 11.4 ล้านคน เป้าหมายคือให้มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาทต่อปี เพื่อจะได้พ้นเกณฑ์ความยากจนที่กระทรวงการคลังตั้งไว้

แผนที่กระทรวงการคลังวางไว้เบื้องต้น คือ หางานให้ทำ และฝึกอบรมอาชีพ ถือเป็นแนวทางพื้นๆ ที่พูดถึงกันมานาน

แต่ครั้งนี้กระทรวงการคลังไม่โชว์เดี่ยว ดึงกระทรวงแรงงาน มาอบรมอาชีพ และส่งต่อกลุ่มผู้อบรมไปยังบริษัทเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย

ส่วนกระทรวงพาณิชย์เข้าช่วยด้านการตลาด และให้แบงก์รัฐ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและการออม

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รองนายกฯ ฝากว่า ในช่วงเวลาที่เหลือ 1 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยหายจน กระทรวงการคลังจะสรุปแนวทางทั้งหมดช่วงเดือนธันวาคม 2560 นี้ และเริ่มดำเนินการช่วงต้นปี 2561

ในส่วนของการหางาน นายอภิศักดิ์ ได้หารือกับ ส.อ.ท. แล้วว่าให้เข้ามาช่วยรับแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมบอกว่ารับไหว เพราะปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทยกว่า 3 ล้านคน สามารถใช้แรงงานไทยทดแทนได้

ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุน และการสร้างอาชีพนั้น ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เข้ามาช่วย มีการจัดโครงการพิเศษเรื่องเงินฝากและสินเชื่อ โดยในส่วนธนาคารออมสินเตรียมแพ็กเกจปล่อยสินเชื่อ วงเงินปล่อยกู้ไว้ 1 หมื่นล้านบาท ผู้ที่มากู้เงินต้องผ่านอบรมมาก่อน จึงจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ นอกจากนี้ ธนาคารออมสินมีโครงการ “ออมก่อนกู้-กู้ก่อนออม” เพื่อสนับสนุนการออมในกลุ่มคนจน โดยผู้ที่ออมก่อนกู้นั้นจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษมากกว่าปกติ 2 เท่า ส่วนผู้ออมหลังการกู้เงินได้ดอกเบี้ยมากกว่าปกติถึง 3 เท่า

ด้าน ธ.ก.ส. ใช้วิธีสำรวจความต้องการเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแบบเจาะลึก เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ นอกเหนือจากสินเชื่อสนับสนุนการปลูกพืชแล้ว จะใช้กระบี่โมเดล คือให้เอสเอ็มอีหัวขบวน ช่วยให้ความรู้ในการทำการเกษตร ดึงคนจนเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ในจังหวัดกระบี่มีเอสเอ็มอีหัวขบวนปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ส่งโรงแรมและรีสอร์ต

ดังนั้น จึงให้เป็นผู้นำในการอบรมการปลูกผัก ซึ่ง ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินทุนลงทุนเพาะปลูก ทำให้คนจนอยู่ในกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดย ธ.ก.ส. มีเกษตรกรต้นแบบ 2,000 รายทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกสินค้าเกษตรทุกประเภท เช่น ผักไฮโดรโปรนิกส์ กล้วยแปรรูป และหญ้าเนเปียร์

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ นอกเหนือมาช่วยตลาดแล้ว ยังมาช่วยสร้างอาชีพ ด้วยการดึงธุรกิจแฟรนไชส์มาเสริมอาชีพให้คนจน เน้นธุรกิจขนาดเล็กใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก เช่น ก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ซาลาเปา กาแฟโบราณ ขณะนี้มีอยู่ในมือแล้ว 40-50 ธุรกิจแฟรนไชส์ วางเป้าหมายผลักดันให้คนจนมีอาชีพล็อตแรก 2 หมื่นราย หากใครขาดเงินทุน สามารถขอสินเชื่อที่แบงก์รัฐ วงเงินประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อราย แบบไม่ต้องมีหลักประกัน

หากใช้หลักประกันจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันให้

จากแผนงานแก้จนที่วางไว้ข้างต้น สอดรับกับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจชุดใหม่อย่างเหมาะเจาะ เช่น “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพาณิชย์ เพราะในช่วงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีผลงานเด่นสร้างเครือข่ายร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้คนจนรูดซื้อของได้เป็นอย่างดี ซึ่งในเฟส 2 กระทรวงพาณิชย์ต้องมีส่วนร่วมในการหาตลาดให้สินค้าที่คนจนผลิตออกมา นายสมคิดมีแนวคิดให้นำไปวางขายในร้านธงฟ้าประชารัฐอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้น คาดว่านายสนธิรัตน์สนองแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังดึง “นายลักษณ์ วจนานวัช” อดีตผู้จัดการ ธ.ก.ส. มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์เป็นผู้บริหารมือดีจาก ธ.ก.ส.

ล่าสุดนายสมคิดให้การบ้าน ธ.ก.ส. จัดทำโครงการเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมด้วยการปลูกสินค้าเกษตรชนิดอื่นนอกเหนือจากข้าวและยางพารา เช่น กล้วยหอม มะพร้าว

โดยนายสมคิดต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ ไปชี้เลยว่าตรงนี้ควรปลูกพืชอะไร เพื่อเกษตรกรไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง

ส่วน “นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม น่าจะมาช่วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนนโยบายเครือข่ายบัตรแมงมุม และกระตุ้นรถ ขสมก. ให้ติดตั้งอี-ทิกเก็ต รวมถึงการแก้ปัญหาเครื่องอีดีซี ตามสถานีรถไฟให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้คนจนสามารถนำบัตรไปใช้บริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น

สำหรับ “นายศิริ จิระพงษ์พันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ น่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการติดตั้งเครื่องอีดีซีในร้านก๊าซหุงต้ม

ขณะนี้มีเสียงบ่นว่า คนจนยังไปใช้สิทธิ์ซื้อก๊าซจากบัตรคนจนได้น้อยมาก

ดูจากการวางนโยบาย และเครือข่ายทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

ความหวังที่นายสมคิดอยากเห็นว่าในปี 2561 คนจนมีงานทำมากขึ้น

มีเงินหมุนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

อาจจะไม่ใช่นโยบายเลื่อนลอยอีกต่อไป

แต่จะสำเร็จแค่ไหนคงต้องดูการขับเคลื่อน และความต่อเนื่องของนโยบาย

เพราะหลายนโยบายที่ดี

แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี นโยบายที่เคยทำถูกนำไปวางไว้บนหิ้งให้ฝุ่นจับ!