ย้อนอดีตทางหลวงแผ่นดิน “ถนนมิตรภาพ”

ปริญญา ตรีน้อยใส
ถนนมิตรภาพ

ดูเหมือนว่า พระราโชบายในการใช้ระบบโลจิสติกส์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดยการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ออกไปยังภูมิภาคต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงประเทศราชและหัวเมืองไกล กับนครหลวงราชธานี และเป็นการนำความเจริญไปสู่พื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ภูมิทัศน์สยามประเทศเปลี่ยนไป จนรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของบรรดามหาอำนาจตะวันตก

หลังจากนั้น กิจการรถไฟยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ในรัชสมัยต่อๆ มา ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการเมืองของสยาม จนกระทั่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านคมนาคม จากระบบรางมาสู่ถนนหรือทางหลวง

รัฐบาลในเวลานั้น จึงกำหนดแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน ทั้งในภูมิภาคและปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ

 

เริ่มจากการขยาย ถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ผ่านอยุธยา ไปจนถึงลพบุรี ที่วาดฝันว่าจะเป็นนครหลวงแห่งใหม่ อันเป็นที่มาของถนนหรือทางหลวงสามสายหลัก ไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เริ่มจากภาคเหนือ ที่อาศัยแนวถนนประชาธิปัตย์ หรือถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ที่เดิมไปถึงแค่ลพบุรี ต่อขยายผ่านหลายจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือ จนถึงอำเภอแม่สาย เชียงราย มีการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 ธันวาคม 2493 ว่า ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สายตะวันออกนั้น ปรับจากทางเดิมที่เริ่มจากทางแยกเพลินจิต ไปทางปากน้ำ สมุทรปราการ และขยายต่อไปชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ไปจนถึงชายแดนเขมรที่บ้านคลองใหญ่ ตราด

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รัฐบาลมีประกาศให้ถนนสายนี้มีนามว่า ถนนสุขุมวิทย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิทย์ (ประสบ พิศาลสุขุมวิทย์ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมทาง

ส่วนถนนสายใต้ จะเริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ ผ่านท่าพระ ไปบางแค อ้อมน้อย จนถึงนครปฐม และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดที่ชายแดน ด่านสะเดา สงขลา ถนนสายนี้มีนามว่า ถนนเพ็ชร์เกษม เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงเพ็ชร์เกษมวีถีสวัสดิ์ (แถม เพชร์เกษม) อดีตอธิบดีกรมทาง อีกคนหนึ่ง

สำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เดิมมี ถนนสุระนารายณ์ ที่แยกจากลพบุรี เมืองแห่งพระนารายณ์มหาราช ไปโคราช เมืองแห่งท้าวสุรนารี และต่อขยายไปถึงหนองคาย และอุบลราชธานี

ต่อมามีการเปลี่ยนเส้นทาง โดยแยกก่อนถึงลพบุรี ที่สระบุรี ผ่านปากช่อง ไปถึงโคราช

ถนนสายใหม่ หรือทางหลวงแผ่นดินสายสระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา นี้ มีประกาศให้มีนามว่า ถนนสุดบรรทัด เพื่อเป็นเกียรติแก่ พ.ท.ประเสริฐ สุดบรรทัด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

ต่อมา ในยุคสมัยแห่งการต่อต้านคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และเทคนิคการก่อสร้าง ยกระดับถนนสุดบรรทัด ให้ได้มาตรฐานทางหลวงอเมริกัน จากทางหลวง เป็นทางหลวงพิเศษ ที่แยกทางวิ่งและมีเกาะกลาง ที่เป็นต้นทางของทางหลวงแผ่นดินในเวลาต่อมา

ทางหลวงสายนี้จึงเป็นที่รู้จักในนาม ถนนมิตรภาพ (ไทย-อเมริกา) มาจนถึงปัจจุบัน

คงจำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อนนั้น อดีตรัฐมนตรีคมนาคมท่านหนึ่ง เสนอแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ด้วยระบบรถไฟไฮสปีด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน

แต่ทว่าผู้มีอำนาจสูงวัย แต่ไร้เดียงสาคัดค้าน เลยทำให้แผนพัฒนาระบบขนส่งระบบราง เหลือแค่ปรับสภาพรางเดิม เพิ่มรางคู่ และซื้อขบวนรถมือสองจากต่างประเทศเท่านั้น

ส่งผลให้ทางหลวงแผ่นดินสี่สายหลัก คือ ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ และถนนเพชรเกษม มีปริมาณการสัญจรหนาแน่นสุดๆ แม้ว่าจะมีการสร้างทางกลับรถลอยฟ้า ทางคู่ขนาน ทางยกระดับ และทางสายใหม่ก็ตาม

ที่สำคัญ ภูมิทัศน์การคมนาคมของประเทศไทยในวันนี้ จึงไม่ตอบรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนขาด ในขณะที่ลาวก้าวสู่ระบบรถไฟไฮสปีด ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน •

 

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส