“สงครามเอไอ” ในการเลือกตั้ง ’66

แม้ผ่านพ้นการเลือกตั้ง 2566 มาได้สัปดาห์กว่า แต่ยังมีสิ่งที่ยังคงเป็นประเด็นชวนขบคิดและตั้งคำถาม ถึงบทบาทอย่างสูงของการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรณรงค์หาเสียง หรือแม้แต่การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในการเลือกตั้งครั้งนี้ นับว่าหนักหน่วงที่สุด มากกว่าครั้งเมื่อปี 2562 เสียอีก เพราะการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายรัฐเท่านั้น แม้แต่กลุ่มการเมืองที่สนับสนนุพรรคต่างๆ ก็กระโจนร่วมสงครามข่าวสารเพื่อคุมกระแสข่าว

จนมาถึงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงที่ได้เห็นแล้วว่า ใครกุมพื้นที่สื่อและสร้างกระแสมวลชนบนโลกออนไลน์สู่คะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้งได้ในที่สุด

และผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งนับจากนี้ด้วย

 

การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 เรียกว่าเป็นศึกของภาพแทนแห่งยุคสมัย เช่น กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ ปะทะกับแฟนด้อมการเมือง โดยบ้านใหญ่ถือเป็นรูปแบบการเมืองไทยที่มีอิทธิพลมาหลายทศวรรษโดยเฉพาะการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 และนำชัยชนะมาให้กับพรรคการเมืองต่างๆ

จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ที่เกิดจากกลุ่มคนที่ไม่ได้มีพื้นเพบ้านตระกูลนักการเมืองแต่รวมตัวภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์การเมืองไทย ในขณะที่บ้านใหญ่เกือบทั้งหมดได้ถูกรวมกับฝั่งการเมืองอนุรักษนิยมนำโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคอนาคตใหม่ได้กลายเป็นตัวแทนของมวลชนฝั่งต่อต้านเผด็จการทหารในสนามการเลือกตั้ง และได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการคว้า 80 ที่นั่ง

แม้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แต่กลับส่งผลต่อเนื่องนำไปสู่การขับเคลื่อนมวลชนของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563-2564 โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นตัวจักรสำคัญในการเคลื่อนไหว และฝ่ายอำนาจรัฐเองก็เคลื่อนไหวตอบโต้บนโลกออนไลน์ผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทั้งเพจทางการและแอ็กเคาต์หลุม (บัญชีโซเชียลที่ไม่เผยตัวตน) จำนวนมากเพื่อคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวจนถึงโจมตีเป้าหมายผ่านการสร้างข่าวเพื่อปลุกปั่นและสร้างความสับสน

มวลชนเองก็เรียนรู้ที่จะต่อสู้กับไอโอฝ่ายรัฐ ทั้งการโต้กลับเองหรือการดำเนินเรื่องถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์มเห็นความผิดปกติของปฏิบัติการข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่มีเจตนาปลุกความเกลียดชังเพื่อนำไปสู่การคุกคามทั้งโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง

จึงมีการกวาดล้างบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปลุกความเกลียดชังหลายพันหลายหมื่นบัญชี อย่างเช่น ทวิตเตอร์ ที่กำจัดบัญชีผู้ใช้งานที่พบว่าเชื่อมโยงกับหน่วยข่าวกองทัพทั้งรัสเซีย จีนหรืออิหร่าน แม้แต่ไทยเองก็พบหลายบัญชีเชื่อมโยงกับหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร

แต่ต่อให้กำจัดไปมากแค่ไหน ก็ยังคงมีการสร้างบัญชีใหม่เพื่อดำเนินภารกิจทำลายประชาธิปไตยต่อไป

 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมก่อนการเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ Asia Centre เผยรายงานในชื่อ STATE-SPONSORED ONLINE DISINFORMATION : IMPACT ON ELECTORAL INTEGRITY IN THAILAND ได้ชี้ถึงปฏิบัติการไอโอโดยรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ได้กัดกร่อนความสุจริตของการเลือกตั้งในไทย โดยข้อมูลข่าวสารที่ถูกสร้างมีเจตนาเพื่อทำลายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและสร้างความสับสนปั่นป่วนไปยังประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดตามข่าวสาร โดยรายงานแบ่งการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนโดยรัฐ 4 ประเภท ได้แก่

หนึ่ง การใช้ทรัพยากรรัฐเพื่อสร้างและเผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนผู้อยู่ในอำนาจ เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกแก่รัฐบาล กองทัพ และสถาบันหลักของชาติ

สอง การใช้ข้อมูลบิดเบือนเป็นอาวุธเพื่อคุกคามนักการเมืองและนักกิจกรรมที่เป็นคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์-ศาสนา

สาม การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมือง พรรคการเมือง และนโยบายของพรรค

และสี่ การสร้างความเกลียดชังและขยายความแตกแยกทางอุดมการณ์ให้สุดโต่ง

เจมส์ โกเมซ นักรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการภูมิภาคของเอเชีย เซ็นเตอร์คาดการณ์ว่า “ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ประเทศไทยจะประจักษ์ถึงการขยับไปสู่การใช้ปฏิบัติการข่าวสารในการทำลายประชาธิปไตย แทนที่การยึดอำนาจโดยทหาร โดยปฏิบัติการข่าวสารจะกลายเป็นอาวุธในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับทหารผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยการปลุกปลั่นกลุ่มอนุรักษนิยมและใส่ร้ายขบวนการประชาธิปไตย”

โกเมซเสริมว่า “ไอโอในประเทศไทยมีความเป็นองค์กรสูง และหากไม่มีมาตรการจัดการปฏิบัติการเหล่านี้ อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนจะเป็นตัวชี้ขาดในการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้”

จากการติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ไอโอฝ่ายรัฐและผู้สนับสนุนที่มักเป็นกลุ่มการเมืองขวาจัด มักโจมตีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยว่ารับใช้รัฐบาลต่างชาติในการบั่นทอนความมั่นคง หรือสร้างข่าวเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกต่อนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม อย่างเช่น คลิปโฆษณาชิ้นล่าสุดของบางพรรคที่มีเจตนาโจมตีคนรุ่นใหม่ว่ากำลังทำลายค่านิยมเดิมที่อ้างว่าเป็นสิ่งที่ดีงามของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของไอโอฝ่ายรัฐในรอบนี้ ไม่อาจต้านทานกระแสมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีแต่เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ครั้งนี้ไม่เพียงกุมกระแสข่าวบนโลกออนไลน์ได้เกือบสมบูรณ์แบบ แต่ยังแปรสภาพออกเป็นมวลชนที่มีตัวตน รวมตัวฟังการปราศรัยหาเสียงระดับหลายพันจนถึงหมื่นในหลายจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลืออดของประชาชนที่ไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจ

และยังสะเทือนต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เดินหน้ายุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน แต่กลับไม่อาจดึงเสียงได้เต็มที่และยังถูกกระแสนิยมของก้าวไกลแย่งฐานเสียงอีกด้วย นำไปสู่คำถามนี้กับพรรคยอดนิยมนี้ด้วยว่า พวกเขาสามารถกุมกระแสมวลชนขนาดนี้ได้อย่างไร

อาศัยหัวคะแนนธรรมชาติอย่างที่ประกาศเพื่อร่วมขับเคลื่อนโดยลำพัง หรือว่ามีการจัดตั้งแบบเดียวกับไอโอฝ่ายรัฐและทำทุกอย่างเหมือนไอโอฝ่ายรัฐแต่เล็กกว่าคอยสนับสนุนกันแน่?

Digital Election Analytic Lab (DEAL) ได้เผยแพร่รายงานสรุปจำนวน 4 หน้าเกี่ยวกับพฤติกรรมการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า มีการจัดตั้งกลุ่มบัญชีที่คอยสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวสารเพจทางการของพรรคไปให้กับผู้สนับสนุนพรรคนี้และยังไปตอบโต้ข้ามชุมชนข่าวสารอีกพรรคหนึ่งด้วย และมีความถี่ของการเผยแพร่ข่าวสารและตอบโต้ในระดับที่สูง เช่น บางบัญชีโพสต์ต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักถึง 300 โพสต์ในช่วง 24 ชั่วโมง

และที่สำคัญสำนักข่าวก็พลอยเข้าไปร่วมในการเผยแพร่ข่าวสารของไอโอผู้สนับสนุนพรรคทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจไปด้วย โดยไปทำข่าวเหมือนปกติ แต่มองอีกด้าน ไม่ว่าทำข่าวในลักษณะเชิงบวกหรือลบ ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ข่าวของพรรคดังกล่าวได้ไปมีพื้นที่หน้าสื่อทั้งสื่อทั่วไปหรือสื่อเลือกข้างเรียบร้อย และข่าวถูกนำเสนอไปถึงผู้สนับสนุนพรรคซึ่งสร้างกระแสไปอีก

ข้อสังเกตเบื้องต้นต่อพฤติกรรมของเครือข่ายบัญชี (จากภาพด้านบน)

– จากรูปข้างต้น ตีความได้ว่ากลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค A และพรรค C โต้ตอบกันไปมาข้ามชุมชนอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับกลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค B ซึ่งดูเหมือนคุยกันภายในกลุ่ม และมีลักษณะแยกตัว ออกจากเครือข่ายบัญชีของพรรค A และพรรค C

– เมื่อเทียบกับพรรค B แล้ว ดูเหมือนพรรค A และพรรค C ใช้ Twitter ในการสื่อสารอย่างมาก โดยบัญชี Twitter ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก เป็นบัญชีทางการของพรรคและบัญชีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรค A รองลงพรรคคือบัญชีทางการของพรรค C

ข้อมูลนี้ตีความได้หลายทิศทาง เช่น หากผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ในไทยคือประชากรอายุราว 20-35 ปีอาจแสดงว่าฐานเสียงของพรรค A คือประชากรกลุ่มนี้ซึ่งใช้ Twitter เพื่อสื่อสารกับพรรค ทีมตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าบัญชีในเครือข่ายของพรรค A อย่างน้อยสามบัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีเทาในวงกลมสีฟ้าข้างต้น) มีพฤติกรรมที่ผิดปกติจากการใช้งาน Twitteของผู้ใช้ที่เป็นบุคคลทั่วไป คือมีลักษณะเป็นบัญชีที่ไม่พักผ่อน ตื่นตัวตลอดเวลาทั้งการโพสต์ รี โพสต์และการตอบกลับ บางบัญชีโพสต์แบบไม่มีช่วงพักตลอด 24 ชั่วโมง มากกว่า 300 โพสต์ เฉลี่ย 5 โพสต์ใน 1นาที

ทีมจึงตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นบัญชีของคนทั่วไป จะมีช่วงที่นอนหรือพักบ้างต่อให้เสพติดโซเชียลมีเดีย
แค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยของพรรค A มักแห่แหนกันตอบข้อความที่มาจากบัญชีทางการ
ของพรรค A โดยมากข้อความเหล่านี้ให้กำลังใจและสนับสนุนพรรคเช่น ใช้การแสดงสัญลักษณ์ การ
สนับสนุนด้วยอีโมจิอย่างเดียวเท่านั้นและโพสต์ค่อนข้างถี่ ทั้งนี้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นไปเพื่อต้องการเพิ่มยอดการมองเห็น (visibility) หรือไม่

นอกจากนั้น พรรคการเมืองนี้รู้ว่าคนชอบบริโภคข่าวสารแบบไหน ทำให้ TikTok แอพพ์ยอดนิยมจากบริษัท Bytedance ได้กลายเป็นเครื่องมือหาเสียงชั้นเยี่ยม พรรคการเมืองที่รู้จักทำคอนเทนต์ยังไงให้คนติดตามและใช้ประโยชน์ของอัลกอริธึ่มเพื่อกำหนดทิศทางและขยายฐานผู้สนับสนุนผ่านการสร้างคอนเทนต์และยกบุคคลเป็นไอคอนเพื่อนำกระแส นำไปสู่ผลลัพธ์ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ถือว่าเป็นความสามารถของทีมหาเสียงพรรคนี้ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ทำเอาไอโอฝ่ายรัฐถึงกับไปไม่เป็นได้ แต่ก็เป็นชัยชนะที่ได้สร้างรอยร้าวกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอื่นด้วยผ่านวาทกรรมโจมตีในช่วงปราศรัยหาเสียงและถูกขยายผลต่อผ่านหัวคะแนนธรรมชาติและไอโอฝ่ายสนับสนุนพรรคอีกด้วย

การเลือกตั้งครั้งต่อไป เราจะได้เห็นการตอบโต้ในทุกแนวรบ ระหว่างนักการเมือง พรรคการเมืองจนถึงผู้สนับสนุนพรรค แต่หวังว่าการเผชิญหน้านี้ จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง

ไม่ใช่ถูกทำลายหรือบั่นทอน จนฝ่ายเผด็จการกลับมาได้