มนัส สัตยารักษ์ : การตรวจสอบสำนวนการสอบสวน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 องค์กรตำรวจของไทยได้รับการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป รูปแบบและโครงสร้างหลักยังเหมือนเดิมที่ก๊อบปี้จากประเทศตะวันตกมาเกือบจะทั้งดุ้น แม้แต่ท่าเดิน

ในปีที่ผมเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (2502) เราเดินแบบกองทหารอังกฤษ กำมือหลวมๆ แล้วคว่ำ เหยียดแขนตรงขณะแกว่งยกขึ้นเสมอไหล่ อาจจะมีการยักไหล่เล็กน้อยเป็นธรรมชาติ อย่าให้เว่อร์เกินไปจนเหมือนเต้นรำหรือเป็นคอนดั๊กเตอร์นำแถวกองดุริยางค์

ผมเคยเสนอในคอลัมน์นี้ก่อนรัฐประหาร ให้ตำรวจเปลี่ยนการเดินแถวเป็นแบบอเมริกันหรืออังกฤษ ไม่ต้อง “เตะฉาก” แบบเกาหลีเหนือหรือจีน ตำรวจไทยไม่ต้องเดินสวนสนามแบบนั้น เราต้องการความพร้อมเพรียงและเป็นระเบียบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องแข็งกระด้างอย่างทหารเกาหลีเหนือ

ในแนวทางปฏิรูป ก็จะได้ค่อยๆ แยกตำรวจออกจาก “เหล่า” ตามที่หลายคนต้องการและเรียกร้องมาตลอดเวลา ตำรวจก็จะไม่ถูกมองว่าเป็น “ทายาทอสูร” อีกต่อไป

สําหรับงานสอบสวนนั้น ก็เหมือนงานอื่นๆ ที่ซับซ้อน ต้องระมัดระวังเพราะเกี่ยวเนื่องกับชีวิตและอิสรภาพของผู้คน ตำรวจหนุ่มต้องการประสบการณ์เป็นครู ใครโชคดีก็ได้อยู่ในหน่วยที่มีรุ่นพี่และผู้บังคับบัญชาที่เป็นครูที่ดี ท่านจะสอนโดยใช้สถานการณ์จริงเป็นตัวอย่าง ราวกับแพทย์ตามโรงพยาบาล

ใครโชคไม่ดีก็อาจจะไม่ได้พบ “ครู” อย่างที่ผมผ่านมาแล้วที่ สน.มีนบุรี (เมื่อประมาณปี 2503) ไม่มีรุ่นพี่และไม่มีสารวัตรที่เป็นครู

ผมมีเหตุให้ต้องเข้ารับการศัลยกรรม (หรือผ่าตัดใหญ่) ถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งแพทย์เจ้าของไข้จะให้ผมแสดงเป็นหุ่นตัวอย่างประกอบการอธิบาย บางครั้งก็ก่อนผ่าตัด บางครั้งก็หลังจากผ่าตัด หรือทั้งก่อนและหลัง ทุกครั้งที่ผมถูกล้อมรอบด้วยหมอ ผมจะนึกถึงตำรวจรุ่นพี่และผู้บังคับบัญชาที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู

นับตั้งแต่ ปี 2502 ถึง 2540 ซึ่งเป็นปีที่ผมรับราชการตำรวจอยู่ ผมไม่รู้สึกว่าตำรวจได้พัฒนา “สำนวนการสอบสวน” ไปสักเท่าไหร่ รูปแบบหรือที่เราเรียกว่าแพตเทิร์นของการทำสำนวนการสอบสวนราวกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อันแตะต้องและเปลี่ยนแปลงมิได้ฉะนั้น

เนื่องจากการสอบสวนคดีมีจำนวนมหาศาลจากหลายแหล่งด้วยกัน จำต้องมีการควบคุมและตรวจสอบ ที่สำคัญคือกำหนดระยะเวลาอย่าให้ขาดอายุความ ขณะเดียวกันก็ให้มีเวลาสำหรับพนักงานสอบสวนได้ “หายใจ” บ้าง

เป็นที่รู้กันว่าเราเคร่งครัดเพื่อให้มีความถูกต้องประหนึ่งสมุดบัญชีของธนาคาร และเป็นที่รู้กันว่าผู้บังคับบัญชาอาจจะใช้สมุดคุมบัญชีการสอบสวนเป็นตัววัดผลงานเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าก็ได้ และจะวัดจากจุดที่เลวร้ายเพื่อฟาดฟันก็ได้เช่นกัน

พนักงานสอบสวนภูธรหรือนครบาลก็มีกรรมวิธีปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบเหมือนกัน นั่นคือแต่ละคนต่างมี “สมุดบัญชีคดีอาญา” เหมือนนักเรียนมีสมุดพกประจำตัว

เมื่อผมได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ระโนด จังหวัดสงขลา นั้น นอกจากจะดีใจที่ได้กลับมาอยู่ใกล้บ้านเกิดเมืองนอน อีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่ต้องกังวลกับ “บาดแผล” ที่ถูกสลักหลังในบันทึกส่งตัวที่ว่า “ไม่ค่อยเอาใจใส่ในหน้าที่” เพราะกรมตำรวจได้ถูกผ่าตัดให้งานสอบสวนขึ้นอยู่กับกรมการปกครอง ซึ่งหมายความว่าพนักงานสอบสวนหลักจะเป็นปลัดอำเภอ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคือนายอำเภอ

แต่ในทางปฏิบัตินั้น ทางอำเภอไม่พร้อมที่จะรับงานสอบสวนจากตำรวจ การ “ผ่าตัด” ครั้งนี้เพียงเพื่อเอาใจผู้เรียกร้องหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 เท่านั้น นายอำเภอปรับความเข้าใจกับ ผบ.กอง ให้งานสอบสวนคงอยู่กับตำรวจอย่างดิม

ความฝันที่ว่าจะได้เป็น “มือปราบ” ลดคดีอาญาเลือนหายไป มิหนำซ้ำยังต้องรับ “สำนวนค้างเก่า” จากพนักงานสอบสวนคนเดิมมาอยู่ในความรับผิดชอบอีกด้วย

เหมือนกับการ “ยอมรับสภาพหนี้” ของบรรดาลูกหนี้อย่างไรอย่างนั้น

ผมเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ระโนด ประมาณ 3 ปี ตัวเลขในสมุดบัญชีสำนวนการสอบสวนขึ้นลงไปตามสภาพ แต่สำนวนค้างเก่าที่รับมรดกตกทอดมาแทบไม่ขยับ รวมแล้วราว 20 เรื่อง เมื่อมีคำสั่งย้ายไปเป็นรองสารวัตร กองปราบปราม

ย้ายไปประมาณสักเดือนหรือสองเดือนพร้อมด้วยอาการของคนเป็นโรคประสาท จนกระทั่งได้รับจดหมายจาก ร.ต.ท.ศักดิ์ แสงศรี ซึ่งรับมรดกสำนวนค้างไปจากผมว่า “สะสางเสร็จสิ้นแล้ว สบายใจได้”

ผมเดาว่า “หมวดศักดิ์” คงรายงานผู้ตรวจสอบว่า ผบ.กอง สภ.อ.ระโนด ที่ตกทะเลสาบเสียชีวิต ทำแฟ้มบัญชีสำนวนค้างของผมหล่นทะเลไปด้วย

หวนนึกถึงเมื่อครั้งที่ย้ายจาก รองสารวัตร สน.หัวหมาก ไปเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ระโนด จ.สงขลา นั้น ผมมีสำนวนค้างที่ยัง “ไปต่อไม่ได้” อยู่เรื่องเดียว คือเรื่องรถบดถนนตีนแกะ (sheep foot) บดปลายเท้าเด็กจนแพทย์ต้องตัดทิ้ง

ปัญหาที่ทำให้สรุปไม่ได้นั้น อยู่ที่แพทย์ไม่ยอมให้ปากคำจนกว่าคนป่วยจะออกจากโรงพยาบาล แต่ทางฝ่าย ผกก. ก็ยืนยันจะให้มีคำให้การของแพทย์ตาม “รูปแบบ” อันสมบูรณ์ของสำนวนการสอบสวน

ส่วนผมก็คิดตามประสา ร.ต.ต. หนุ่มหัวไวว่า ใบแพทย์ระบุ “ตัดปลายเท้าทิ้ง” นั้นเพียงพอแล้วที่จะปรับกับข้อกฎหมายว่า “พิการและบาดเจ็บสาหัส”

เป็นเหตุให้ผมได้สเป๊ก “ไม่ค่อยเอาใจใส่ในหน้าที่” ติดตัวไปแต่บัดนั้น มันทำให้อุดมการณ์ของคนหนุ่มตกหล่นไปอย่างน่าเสียดาย และนี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อยากเป็นพนักงานสอบสวน

อันที่จริงผมควรจะชอบและเอาดีจากอาชีพสอบสวน ผมพิมพ์ดีดเร็ว สอดรู้สอดเห็น ความคิดเป็นระเบียบ ตระหนักรู้ในที่มา ที่เป็นไป และที่ลงเอยของเหตุการณ์ ฯลฯ แต่กฎการควบคุม ตรวจสอบ ตลอดจนการกำหนดระยะเวลา เป็นกฎที่เปิดช่องทางให้ผู้บังคับบัญชาที่ไร้มโนธรรมใช้ฟาดฟันผู้ใต้บังคับบัญชาที่ตัวไม่ชอบก็ได้

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 มีข่าวสำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งที่ 1621/2560 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2560 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีที่ดำเนินการโดย คตส. และสำนวนที่ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. เหตุผลความจำเป็นในการออกคำสั่งนี้ เนื่องจากต้องยกเลิกคำสั่งเดิม ที่ 168/2557 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับกฎหมายเปลี่ยนเป็นให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผมย้อนไปค้นดูตัวเลขของ “บัญชีสำนวนการสอบสวน” ของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ ป.ป.ท. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)

รวมทั้งพยายามหารายละเอียดของดคีที่ใช้ “มุขน้ำท่วม” จนสำนวนเสียหายด้วย ว่าเหตุใดน้ำถึงจำเพาะเจาะจงท่วมสำนวนดคีนี้เพียงคดีเดียว

แต่ความพยายามของผมเป็นหมัน ผมอาจจะไปค้นหาผิดที่ ตัวเลขคดีค้าง บางปีก็เป็นพัน บางปีก็เป็นหมื่น-สองหมื่น แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นปีอะไร และคดีอะไรบ้าง

ส่วนสำนวนที่อ้างว่าน้ำท่วมเสียหาย ผมไม่พบรายละเอียดอะไรเลย