‘ก้าวไกล’ ผนึก 8 พรรคตั้งรัฐบาล ฝ่าข้ามพรรค ส.ว.-รัฐทหาร ‘นิธิ’ ชี้ สำนึกใหม่เกิดแล้ว

‘ก้าวไกล’ ผนึก 8 พรรคตั้งรัฐบาล ฝ่าข้ามพรรค ส.ว.-รัฐทหาร พลังสังคม กดดัน ฟังเสียงประชาชน ‘นิธิ’ ชี้ สำนึกใหม่เกิดแล้ว

 

15 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชนผ่านคูหาการเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง 152 ที่นั่ง และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั้งประเทศที่มอบให้พรรคก้าวไกลมากกว่า 14 ล้านเสียง

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล เหนือ พรรคเพื่อไทย สร้างความแตกตื่นและประหลาดจนสื่อต่างประเทศเปรียบเทียบว่านี่คือ แผ่นดินไหวทางการเมือง เป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการของคนไทยทั้งในเมืองและในต่างจังหวัดทั่วประเทศว่า สำนึกใหม่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยที่เสื่อมทรุดอย่างหนักตลอด 9 ปี เป็นสัญญาณว่า คนไทยต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป นี่คือการน้อมรับฉันทามติของประชาชน พลิกขั้ว เปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล ผมพร้อมจะเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน พร้อมฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้ผมเป็นนายกฯ ที่ดีขึ้นในอนาคต” นายพิธากล่าว

จากชัยชนะในยกแรก พรรคก้าวไกลได้ส่งเทียบเชิญชวน 7 พรรคการเมือง จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล สูตรเบื้องต้น ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียงพรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคละ 1 เสียง รวมเป็นว่าที่รัฐบาล 313 เสียง

แม้ว่าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเสร็จสิ้นเมื่อไร แต่โจทย์ยากก็คือ หากขั้วการเมือง 7 พรรค จำนวน 313 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ไม่สามารถหาจำนวนเสียง จาก ส.ว.ให้ได้อีก 63 เสียง เพื่อรวมเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง การโหวตเลือกพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จบเห่ทันที

แค่เพียงวุฒิสมาชิกไม่ลงมติ หรือ “งดออกเสียง” ก็จะส่งผลให้พรรคก้าวไกลและขั้วพรรคว่าที่รัฐบาลใหม่ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีเสียงไม่ถึงกึ่งของสมาชิกรัฐสภา ทำให้วาระรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน

นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่า โอกาสที่รัฐบาลก้าวไกล 313 เสียงที่มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ จะเกิดขึ้นเป็นจริง เป็นเรื่องยากถึงยากมากที่สุด เพราะต้องฝ่าแนวต้านของ ส.ว. 250 เสียง และโอกาสจะปิดสวิตช์ 250 ส.ว. แทบจะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน และอาจกลายเป็นโอกาสของอีกขั้วที่จะช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย 190 เสียง

จากที่ต้องการเสียง ส.ว.ถึง 63 เสียง จนถึง 18 พฤษภาคม 2566 มี ส.ว. อย่างน้อย 10 คน ที่พร้อมโหวตตามเสียงประชาชนให้พิธาเป็นนายกฯ ได้แก่ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, “ครูหยุย” นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, นายทรงเดช เสมอคำ, นายอำพล จินดาวัฒนะ, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, น.ส.ภัทรา วรามิตร, นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, ประมาณ สว่างญาติ, รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล, นางประภาศรี สุฉันทบุตร, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

ที่เหลือส่วนใหญ่งดออกเสียง และโหวตสวนเสียงประชาชน

ที่สำคัญ ส.ว.ปีกอนุรักษนิยมขวาจัด ได้แสดงวิวาทะต่อต้านรัฐบาลก้าวไกลและนายพิธาอย่างเปิดหน้า และท้าชนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายจเด็จ อินสว่าง และนายเสรี สุวรรณภานนท์

ขณะที่จุดยืนของ ผบ.เหล่าทัพคือ งดออกเสียงในประเด็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ในฐานะที่กองทัพเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันของ ผบ.เหล่าทัพ และยึดปฏิบัติถือเป็นแนวทางเดียวกัน

จุดยืนของ ผบ.เหล่าทัพเช่นนี้ ถูกโลกโซเชียลตั้งคำถามว่า เป็นจุดยืนเดียวกับที่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หรือไม่?

ท่ามกลางความยากของโจทย์จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ก้าวแรกที่สังคมได้เห็นคือ การพบกันของแกนนำพรรครัฐบาล 6 พรรค พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม (ยกเว้นพรรคพรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง ที่เพิ่งเข้าร่วมภายหลัง) ณ ร้าน CHEZ MILINE ถนนสุโขทัย วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 เพื่อพูดคุยถึงการจัดตั้งรัฐบาล แม้ภาพจะดูชื่นมื่นและสดใส แต่ความยุ่งยากที่ซ่อนอยู่ภายในคือ 6 พรรค จะฝ่าข้ามเส้น 376 ไปได้อย่างไร?

นักวิชาการปีกประชาธิปไตย อย่าง รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับกันว่าถ้าใครได้คะแนนสูงสุดได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระบบที่ คสช.ได้วางไว้ กำหนดว่าต้องนำเสียงของ ส.ว. 250 คน มารวมกับคะแนนของ ส.ส. 500 คน หากได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 750 เสียง คือ 376 เสียง ถึงจะได้เป็นนายกฯ สิ่งนี้ทำให้ ส.ว.กลายเป็นรัฐทหารขนาดใหญ่ ที่ได้รับชัยชนะโดยไม่ต้องเลือกตั้ง และยังครองอำนาจอยู่

สิ่งนี้ทำให้ต้องมาลุ้นว่า ถ้า ส.ว.หันมาโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ แม้เป็นเสียงข้างน้อย แต่เมื่อมารวมกับคะแนนของพรรคฝั่งรัฐบาลเดิมกับกลุ่ม ส.ว. ที่ฝักใฝ่ทหาร หากได้เกิน 376 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

แม้ฝั่งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะจัดตั้งได้ แต่การทำงานเป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งทำให้การทำงานยากลำบาก เพราะไม่มี ส.ว.คอยช่วยเหลือ

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล เขียนจดหมายเปิดเผนึก ถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตอนหนึ่งระบุว่า มันไม่ควรเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกมาชัดเจนผ่านคูหาเลือกตั้งถึงความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดโชยมาถึงแล้ว และหากจะต่อยอดจากคำพูดของคุณ @หนุ่มเมืองจันท์ – ถึงเวลาที่ท่านต้องเลือก ว่าท่านจะเลือกเป็นอะไร ระหว่าง “กังหันลม” ที่โอบรับและก้าวไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมปรารถนา กับ “กำแพง” ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการไว้แค่เพียงชั่วคราว แต่ทิ้งรอยร้าวและซากปรักหักพังไว้ทั่วแผ่นดิน เมื่อวันที่สายลมมันแรงเกินกว่ากำแพงใดๆ จะต้านทานไว้ได้

อีกด้านที่ต้องจับตามองคือ การขับเคลื่อนของกลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตย เพื่อเปิดผลโหวตเสียงประชาชน หัวข้อ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” พร้อมข้อเสนอแนะถึง ส.ว. และพรรคการเมืองเสียงข้างมากในการตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยการนำของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา, วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต และธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 18 พฤษภาคม 2566

การขับเคลื่อนของนักวิชาการ อาจเป็นการจุดประกายการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของประชาชน เพื่อเรียกร้องและ กดดันให้ ส.ว.เคารพเสียงประชาชน

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคลื่มลมและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลจากเสียงประชาชน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ สัมภาษณ์ในรายการ เอ็กซ์อ๊อก Talk ทุกเรื่อง มีประเด็นน่าสนใจและน่ารับฟัง

อาจารย์นิธิกล่าวว่า หัวใจสำคัญของพรรคก้าวไกลที่นำสู่ชัยชนะ คือคำว่า เปลี่ยนไปด้วยกัน ในทุกความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะแรงแค่ไหน ขอให้ประชาชนสนับสนุน ไม่ต้องไปหวังให้ ส.ว.สนับสนุน หรือหวังให้พรรคฝ่ายค้านสนับสนุน หัวใจสำคัญคือ ประชาชนต้องสนับสนุน อย่างอื่นไม่จำเป็น ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นการสมัครใจแทน นโยบายนี้ของก้าวไกลก็ไปไม่รอด แต่ถ้าประชาชนสนับสนุน อาจไปรอด หรือก็เป็นเรื่องที่น่าเสี่ยง

อาจารย์นิธิตอบคำถาม อำนาจชนชั้นนำที่สั่นคลอนและโต้กลับเสียงประชาชน จนเป็นอุปสรรคของรัฐบาลก้าวไกลในการขับเคลื่อนนโยบายว่า ความชอบธรรมของรัฐที่ผ่านมา ผูกพันกับกลุ่มคนที่ได้เปรียบในสังคมทั้งชาติกำเนิดและทรัพย์สินตลอดมา แต่เมื่อความชอบธรรมของรัฐพังทลายลง ความชอบธรรมของกลุ่มคนที่ได้เปรียบยังดำรงอยู่ดีเหมือนเดิมหรือ? ทุกวันนี้อะไรที่เป็นความชอบธรรมของชนชั้นนำ ถูกตั้งคำถามไปพร้อมกับความชอบธรรมของรัฐเสมอ เพราะฉะนั้นถ้านโยบายของพรรคก้าวไกลไปท้าทายอำนาจของชนชั้นนำ ต่อให้ไม่มีพรรคก้าวไกล อำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งวางอยู่บนฐานของความไม่ชอบธรรม หรือความชอบธรรมที่ชาวบ้านไม่ยอมรับย่อมอยู่ไม่ได้เช่นกัน

อาจารย์นิธิฉายภาพว่า จริงๆ แล้วการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่และพลังนักเรียนนักศึกษา ปี พ.ศ.2562-2563 นำหน้าพรรคก้าวไกลไปด้วยซ้ำ ตลอดระยะเวลาจากพรรคอนาคตใหม่ถึงพรรคก้าวไกล ถูกเปลี่ยนไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของประชาชน ฉะนั้น ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายนำเพียงฝ่ายเดียว พรรคก้าวไกลเองก็ถูกประชาชนชี้นำด้วยเช่นกัน

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลมาจาก “สำนึกใหม่” ที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมทั้งหมด สำนึกใหม่เกิดขึ้นทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ทุกวันนี้คนไทยอยู่ในเมืองมากกว่าอยู่ในชนบท ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจว่าคนต่างจังหวัดเลือกพรรคก้าวไกล เพราะคนต่างจังหวัดก็อยู่ในคลื่นแห่งสำนึกใหม่ เช่นเดียวกับคนในเมือง

อาจารย์นิธิเชื่อว่า รัฐบาลก้าวไกลจะเกิดขึ้นได้ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า อย่างน้อย 5 พรรคนี้จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน จะจัดทำ MOU ร่วมกัน หรือจะประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันผ่านสื่อมวลชนใดๆ ก็ตาม โดยไม่ต้องสนใจเสียง ส.ว. และถ้าชนชั้นนำจะเล่นเกมยื้อ ไม่มีรัฐบาลเนิ่นนานออกไปเรื่อยๆ ความเสียหายจากการไม่มีรัฐบาลจะกระทบกับภาครัฐและธุรกิจอย่างหนัก หรือถ้าขั้วอำนาจเดิมพลิกมาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เชื่อว่าอยู่ไม่ถึงเดือนเช่นกัน

ฉะนั้นแล้ว อย่าไปสนใจ สวะ ให้เสียเวลา