‘เพื่อไทย’ ทางเดินที่ท้าทาย

ถ้าถามว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่ต้องเผชิญแรงกดดันมากที่สุดคือพรรคไหน

คำตอบคือ “เพื่อไทย”

แน่นอนในความเป็นพรรคใหม่ “ก้าวไกล” ที่ต้องรับภาระแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถือว่าหนักอยู่ในการประสานให้เป็นไปได้

ส่วนพรรคอื่นไม่มีภาระอะไร ที่แค่รอ และภาวนาให้เกมออกมาในทางที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

พรรครัฐบาลปัจจุบัน รอให้ “ก้าวไกล” จัดรัฐบาลไม่ได้ และหวังให้ “เพื่อไทย” ได้ขึ้นมาจัดแทนแล้วมีความคิดว่าจะดึงพรรคตัวเองเข้าร่วมรัฐบาล

ส่วนพรรคฝ่ายค้านนั้น สบายมากเพราะไม่ว่าหวยจะออกทางไหนมีแต่ได้กับได้ ภาระคือทนรอให้ไหวเข้าไว้อย่างเดียว

แต่เพราะ “ก้าวไกล” วางจุดยืนไว้ที่ไม่ได้เร่งที่จะต้องเป็น “รัฐบาล” เลือกที่จะยืนหยัดรักษาจุดยืนของตัวเองไว้มากกว่า แม้จะถูกเปลี่ยนเกมให้ไปเป็น “ฝ่ายค้าน” ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในอีกมุมคือประชาชนจะเกิดความรู้สึกผิดหวังร่วม และก่อกระแสยืนหยัดเคียงข้างก้าวไกลกันถล่มทลายมากกว่านี้ และตอนนั้นจะไม่มีอะไรที่หยุดได้

แรงกดดันจากภาระต้องเป็นเจ้าภาพจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่หนักหนาอะไรนัก เพราะ “สำเร็จก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร”

 

“เพื่อไทย” ต่างหากที่หนักกว่า เพราะหากมองแค่ “พรรค” ย่อมถือว่าเป็น “ความพ่ายแพ้” ที่แหลมคมไปกว่านั้นคือเป็น “ความพ่ายแพ้ที่เปี่ยมในโอกาสของชัยชนะ”

“แพ้เกมเลือกตั้ง” แต่ “เกมอำนาจ” คือความสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีล้นเหลือ ชนิดที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้

ขึ้นอยู่กับ “เพื่อไทย” จะกล้าเล่น “เกมอำนาจ” หรือไม่ ซึ่งการหาข้อสรุปเพื่อตอบคำถามนี้ แหลมคมอย่างยิ่ง เนื่องจากหากดูผลเลือกตั้ง โดยเอาเฉพาะ “คะแนนปาร์ตี้ลิสต์” ที่ถือว่าตัดความสัมพันธ์ส่วนบุคคลออกไป เป็นการโหวตเลือกพรรคเพื่อให้คำตอบในทิศทางการเมือง

เอาเฉพาะพรรคที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศเชิญเข้าร่วมรัฐบาล

ก้าวไกล 14,136,838 คะแนน 39 คน, เพื่อไทย 10,795,470 คะแนน 29 คน, ประชาชาติ 571,138 คะแนน 2 คน, เสรีรวมไทย 344,979 คะแนน 1 คน, ไทยสร้างไทย 339,960 คะแนน 1 คน, เป็นธรรม 181,517 คะแนน 1 คน

รวม 26,369,902 คะแนน 73 คน

จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เท่ากับประชาชนเลือกฝั่งนี้ถึงร้อยละ 73

ซึ่งรู้กันว่าเป็นการเลือกด้วยความต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจ

เสียงของประชาชนกว่าร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่าต้องการเปลี่ยน ขณะที่ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงออกผ่านการเลือก “เพื่อไทย”

และนี่เองคือแรงเสียดทานใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับ “เพื่อไทย”

 

ภาวะหนึ่งเจ็บปวดจาก “ความพ่ายแพ้” ขณะที่เห็นโอกาสพลิกเป็นชัยชนะอยู่แค่มือเอื้อม

ทว่า กลับเป็นชัยชนะที่หาเหตุผลมาคัดง้างกับข้อกล่าวหาว่า “ทรยศเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่” ได้ยากเย็นยิ่ง

การเลือกระหว่าง “ชัยชนะในเกมอำนาจ” กับ “ความสัตย์ซื่อต่อเจตนาเลือกของประชาชน” คือแรงกดดันที่ทำให้การตัดสินใจของ “เพื่อไทย” อยู่ในความอ่อนไหวอย่างยิ่ง

ทว่า แรงกดดันนั้นจะไม่มีเลย หาก “เพื่อไทย” ตระหนักรู้ว่า ที่มาของอำนาจนั้น มีหนทางเดียวคือ “มาจากประชาชน” ความไม่ซื่อตรงกับประชาชนเพื่อเสพอำนาจเฉพาะหน้าคือการทำลายพรรค

หากยืนหยัดอย่างใจแข็งกับจุดยืนนี้ได้ แรงกดดันทั้งหมดจะสลายไป

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะที่สุดแล้ว “ชัยชนะในเกมอำนาจ” นั้นให้ความรู้สึกหอมหวาน ชนิดที่ยากจะห้ามใจ

ยกเว้นแต่ “จะหนักแน่นพอ”