วิกฤติศตวรรษที่21 : ขบวนการนักเตรียมพร้อมในช่วงแรกกับการทรุดตัวของความยิ่งใหญ่สหรัฐ

LAS VEGAS, NV - OCTOBER 01: People take cover at the Route 91 Harvest country music festival after apparent gun fire was heard on October 1, 2017 in Las Vegas, Nevada. There are reports of an active shooter around the Mandalay Bay Resort and Casino. David Becker/Getty Images/AFP == FOR NEWSPAPERS, INTERNET, TELCOS & TELEVISION USE ONLY ==

ว่าด้วยการเตรียมพร้อมของพลเมือง (3) : ขบวนการนักเตรียมพร้อมในช่วงแรกกับการทรุดตัวของความยิ่งใหญ่สหรัฐ

ขบวนการนักเตรียมพร้อมในช่วงแรก ปรากฏชัดในทศวรรษ 1970 และค่อยๆ จางลงในช่วงต้นทศวรรษ 1980

มันเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมของการทรุดตัวทางความยิ่งใหญ่หลายด้านของสหรัฐ ที่เริ่มปรากฏตั้งแต่ทศวรรษ 1960

ได้แก่

1)การเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ภาวะเงินเฟ้อ เรียกกันว่า “ภาวะเงินเฟ้อใหญ่” เกิดขึ้นระหว่างปี 1965-1982 ยาวนานเกือบ 20 ปี ห้วงเวลานี้สหรัฐต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย 4 ครั้ง การขาดแคลนน้ำมันรุนแรงสองครั้ง จนถึงขั้นต้องประกาศควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้k

โครงสร้างการเงินโลกเปราะบาง ต้องยกเลิกระบบเบรตตันวูดส์ ที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลก เลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ

บางคนวิเคราะห์ว่า “เป็นความล้มเหลวใหญ่หลวง ที่สุดของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสหรัฐนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง”

ในปี 1964 ก่อนภาวะเงินเฟ้อใหญ่ภาวะเงินเฟ้อ อยู่ที่ร้อยละ 1 ภาวะการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4 อีกสิบปีต่อมา เงินเฟ้อเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 12 อัตราการว่างงานกว่าร้อยละ 7 เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1980 ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเป็นเกือบร้อยละ 14.5 อัตราการว่างงานกว่าร้อยละ 7.5 ธนาคารกลางสหรัฐได้พยายามแก้ปัญหา จนทำให้ภาวะเงินเฟ้อมากลดลงเป็นเงินเฟ้อธรรมดา (ดูบทความของ Michael Bryan ชื่อ The Great Inflation ใน federationreservehistory.org 22.11.2013)

กล่าวสำหรับพลเมืองทั่วไปแล้ว นี่เป็นสัญญาณเตือนที่พอเพียงว่าควรจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนและมากด้วยภัยอันตราย

2)ความเสื่อมทรุดทางการเมือง แสดงออกที่เกิดขบวนการลอบสังหารทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่ การลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ (1963)

ตามด้วยการลอบสังหาร โรเบิร์ต เคนเนดี้ น้องชาย ในปี 1968 และ มาร์ติน ลูเธอร์คิง ผู้นำชาวผิวดำ ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองที่ถูกลอบสังหารก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน

การลอบสังหารเหล่านี้สะท้อนความแตกแยกภายในชาติอย่างลึกซึ้งยากจะแก้ไข และการใช้ความรุนแรงเป็นเหมือนไวรัสที่ฝังตัวอยู่ในสังคมอเมริกา

แสดงว่ามีบางสิ่งที่ผิดพลาดร้ายแรง และความหวังที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติถูกทำลายลงทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ช็อคความรู้สึกชาวอเมริกันอย่างต่อเนื่องในปี 1968

เริ่มจาก

ก) 23 มกราคม เกาหลีเหนือ ได้ยึดเรือสอดแนมพูเอบโลและลูกเรือสหรัฐไว้นาน 11 เดือน

ข) 31 มกราคม เกิดกรณี “ตรุษญวo” ทหารเวียดนามเหนือ เปิดฉากการรุกใหญ่แบบไม่รู้ตัว ทำให้ชาวอเมริกันเห็นชัดว่าสหรัฐไม่มีทางเอาชนะสงครามนี้ได้

ค) 1 กุมภาพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจจ่อยิงหัวผู้ต้องสงสัยบนถนนกลางกรุงไซ่ง่อน

ง) 18 กุมภาพันธ์ กระทรวงกลาโหมแถลงการสูญเสียทหารสหรัฐมากเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์เดียวคือ 543 คน

จ) 16 มีนาคม ทหารอเมริกันสังหารพลเรือนเวียดนามกว่า 500 คน เป็นกรณีสังหารหมู่หมีลาย แสดงถึงความผิดพลาดใหญ่ของสงครามนี้ (ดูบทความของ Kenneth T. Walsh ชื่อ How Robert F. Kennedy”s Death Shattered the Nation ใน usnews.com 05.06.2015)

สรุปก็คือการเมืองที่เป็นอยู่ทั้งภายในและระหว่างประเทศทำให้คนอเมริกันหัวใจสลายและโกรธเกรี้ยว เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองใหญ่สองขบวน ได้แก่

ก) ขบวนซ้ายใหม่ คือซ้ายแบบนักศึกษาปัญญาชน ต้องการปฏิวัติล้มล้างสังคมเก่า โดยมีประเด็นต่อสู้สำคัญอยู่ที่การต่อต้านสงครามเวียดนาม และการเผยแพร่ความคิดแนวสังคมนิยม

ข) ขบวนสิทธิพลเมือง ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสี สตรี เป็นต้น เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทั้งสองขบวนนี้ลดความร้อนแรงลง เนื่องจากเหตุปัจจัยของการเคลื่อนไหวลดลง ได้แก่ การสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม สิทธิพลเมืองของคนผิวสีและสตรี ได้รับการดูแลแก้ไขในระดับหนึ่ง

3)ความเสื่อมทรุดทางสังคม-วัฒนธรรม เกิดกระแสทวนทางวัฒนธรรม โดยขบวนการฮิปปี หรือขบวนการบุปผาชน (Flower Children) ต่อต้านวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่เน้นความเป็นคนหัวอ่อน การบริโภค ประสิทธิภาพและการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย จนถึงการทำสงคราม ปฏิเสธกรอบระเบียบในการดำเนินชีวิตเพื่อการไต่เต้า และความร่ำรวย ที่เร่งรีบและเคร่งเครียดของคนรุ่นก่อน รวมทั้งลัทธิผู้บริโภค

ขบวนการนี้รุ่งเรืองขึ้นในทศวรรษ 1960 และจางคลายในทศวรรษ 1970

ขบวนการบุปผาชนเป็นที่จดจำในสามด้านใหญ่ คือ

1) ท่วงทำนองดำเนินชีวิตแบบฮิปปี้ ได้แก่ การมีชีวิตที่เรียบง่าย ผ่อนคลายจากความกดดัน แต่งตัวตามสบาย และฉูดฉาด รักความอิสระ รักสงบ ต่อต้านความรุนแรงและสงคราม ใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความงามและสันติภาพ สนใจศาสนาทางตะวันออก

2) ดนตรีเพลงและมหกรรมดนตรี มีนักร้องและนักแต่งเพลงที่โดดเด่นจำนวนมาก ทั้งในด้านการสร้างทำนองและเนื้อเพลง เพลงที่เด่น เช่น “คำตอบอยู่ในสายลม” (1962) ของ บ๊อบ ดีแลน (เกิด 1941 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2016)

เนื้อท่อนหนึ่งว่า “ขุนเขาลูกหนึ่งจะอยู่นานเท่าใด?/ ก่อนที่จะถูกพัดพาสู่ทะเล/ ต้องให้บางคนอยู่ไปนานสักเท่าใด/ ก่อนที่เขาจะได้รับอนุญาตให้มีเสรี” (มีการตีความว่าหมายถึงคนอเมริกันผิวดำ)

เพลง “ซานฟรานซิสโก” (1967) ที่สร้างตำนานแห่งบุปผาชน แต่งโดย จอห์น ฟิลลิป (1935-2001) ร้องโดย สก็อตต์ แม็กคินซี

เนื้อร้องบางท่อนว่า “ถ้าคุณไปที่ซานฟรานซิสโก/ อย่าลืมแซมผมด้วยดอกไม้/ ถ้าคุณไปที่ซานฟรานซิสโก/ คุณจะได้พบกับสุภาพชนที่นั่น/…ทั่วทั้งประเทศเกิดสั่นพลิ้วประหลาดยิ่ง/ ผู้คนที่ไม่หยุดนิ่ง/ เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดที่สร้างความหมายใหม่/ ผู้คนที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้คนที่ไม่หยุดนิ่ง

เพลง “จินตนาการ” (1971) ของ จอห์น เลนนอน ผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของวงเดอะ บีตเทิลส์ เนื้อท่อนหนึ่งว่า “จินตนาการว่าไม่มีการเป็นเจ้าของ/ ผมสงสัยว่าคุณจะทำได้หรือไม่/ ไม่ต้องมีความละโมบ และความหิวอีกต่อไป/ ภราดรภาพของมนุษย์/ จินตนาการว่าคนทั้งโลก/ แบ่งปันโลกใบนี้ด้วยกัน”

ด้านมหกรรมดนตรีที่ถือว่าทำให้ขบวนการนี้โด่งดัง ได้แก่ มหกรรมดนตรีที่บริเวณซานฟรานซิสโก จัดสองครั้งในปี 1967 เทศกาลวูดสต๊อก (1969) นิวยอร์ก ที่มีผู้เข้าร่วมหลายแสนคน

3) การนิยมใช้ยาไซเคเดลิกที่ก่อให้เกิดความเคลิบเคลิ้มและผ่อนคลาย (ทางวิชาการเรียกว่าประสาทหลอน) มีกัญชาและยาแอลเอสดี เป็นต้น

มีนักจิตวิทยาคนหนึ่ง คือ ดร.ทิโมธี เลียรี (1920-1996) ทดลองยาที่ทำให้เกิดการเคลิบเคลิ้มทั้งกับตนเองและผู้อื่น เริ่มจากทดลองในกลุ่มเห็ดที่ตะวันตกเรียกว่า “เห็ดมายา” ไทยเรียกว่าเห็ดเมา ที่ใช้ในพิธีกรรมเม็กซิโกแต่โบราณเพื่อการเข้าภวังค์และการเข้าทรง

เขาทำโครงการไซเลอไซบินที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (1960-1963) เพื่อศึกษาว่าสารไซเลอไซบิน ใช้รักษาโรคทางจิต ทำให้จิตก้าวพ้นสู่จิตสำนึกใหม่ระดับสูงของมนุษย์หรือไม่อย่างไร (สารไซเลอไซบินนี้ออกฤทธิ์คล้ายยาแอลเอสดี แต่อ่อนกว่า ในปี 2917 มีรายงานการวิจัยว่าเห็ดมายา สามารถใช้ลดอาการซึมเศร้าได้)

ดร.เลียรี เกิดขัดแย้งกับมหาวิทยาลัยและถูกไล่ออก

เขามีความเชื่อส่วนตัวจากประสบการณ์และการทดลองว่ายาไซเคเดลิก ช่วยก่อให้เกิดความสุข มีความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีและศิลปะ เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงาน เพิ่มความไวของประสาทการรับรู้ และตั้งสถาบันวิจัยด้านนี้ที่เป็นของเอกชน ทั้งยังได้เผยแพร่ไปในขบวนการฮิปปี้

กวีอัลแลน กิลเบิร์ก และ เคน เคซีย์ (1935-2001) นักเขียนนวนิยายที่มีอิทธิพลในขบวนการ ก็เป็นผู้ทดลองและเผยแพร่การใช้ยาดังกล่าวจนแพร่หลายไปทั่วสหรัฐ

ดร.เลียรีได้เสนอคำขวัญสองข้อที่มีอิทธิพลในขบวนได้แก่

ก) คิดเพื่อตนเอง สงสัยในอำนาจของระบบ อธิบายว่า “การคิดเพื่อตัวคุณเอง คุณต้องสงสัยในอำนาจของระบบ และเรียนรู้ที่จะนำตัวเองไปสู่ภาวะที่เสี่ยง ใจกว้าง โกลาหล สับสน ความเสี่ยงเพื่อให้ความรู้แก่ตัวคุณเอง”

ข) “ยกระดับ ปรับสัมพันธ์ ละวาง” (Turn on, Tune in, Drop out) อธิบายว่าคือยกระดับการรับรู้ที่หลากหลาย สู่จิตสำนึกที่สูงขึ้น ปรับความสัมพันธ์กับโลกให้เกิดการสอดประสาน ละวางคือการไม่ผูกมัดตนเองกับสิ่งที่ไม่สมัครใจและไม่รู้สึกด้วย อีกด้านหนึ่งคือการพึ่งตนเอง การเข้าถึงอัตลักษณ์ของตน การเป็นผู้ไม่หยุดนิ่ง การเป็นผู้เลือก และการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เขาได้ยกย่องวงดนตรีเดอะบีตเทิลส์ว่า “ผมขอประกาศว่า เดอะบีตเทิลส์เป็นพวกผ่าเหล่า เป็นคนรุ่นก่อนการปฏิวัติที่พระเจ้าส่งมา พร้อมกับอำนาจเร้นลับที่จะสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ใหม่ เป็นเชื้อสายของเสรีชน ผู้หรรษาและเยาวภาพ” (ดู Timoty Leary Quotes ใน goodreads.com)

ดร.เลียรีถูกหาว่าเป็น “คนอเมริกันที่อันตรายที่สุด” โดยประธานาธิบดีนิกสัน ขบวนการฮิปปี้ได้แพร่ไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ประจวบกับช่วงเวลานั้นมีการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมในจีน (1966-1976) ซึ่งมีส่วนเสริมแรงแก่ขบวนการซ้ายใหม่และบุปผาชนในตะวันตกด้วย

ขบวนการซ้ายใหม่ สิทธิพลเมืองและฮิปปี้ ได้ซบเซาลง แต่ก็ไม่ได้ตายเพราะว่าสิ่งแวดล้อมคือความเสื่อมทรุด ยังดำรงอยู่ กระทั่งหนักขึ้น

ขบวนการที่ทรงอิทธิพลเหล่านี้สามารถรวมตัวกันเข้ากับขบวนการนักเตรียมพร้อมได้

ผู้นำนักเตรียมพร้อมบางคน

ผู้นำนักเตรียมพร้อม ไม่ได้โดดเด่นเหมือนนักคิด ศิลปิน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวดังเช่นในสามขบวนใหญ่ พวกเขาเป็นเหมือนสามัญชนที่มีความตั้งใจศึกษาปฏิบัติ สนใจติดตามข่าวสารและไวต่อการเปลี่ยนแปลง มีความคิดริเริ่มและขยัน มีอยู่จำนวนมากด้วยกันและไม่ได้แสดงตัวมาก ไม่ได้ต้องการ “เขย่าโลก” ในที่นี้จะกล่าวถึง 5 คน เป็นตัวอย่างคือ

(1) โฮเวิร์ด รัฟฟ์ (1930-2016) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เสนอวิธีอยู่รอดเมื่อเศรษฐกิจทรุด เขียนหนังสือหลายเล่มได้แก่ “ทุพภิกขภัยและการอยู่รอดในอเมริกา (1974) ออกมาในช่วงวิกฤติน้ำมันโลกครั้งแรก บอกวิธีพื้นฐานในการอยู่รอดรวมทั้งการตุนอาหาร เสนอว่าโลหะมีค่าเช่นทองคำและเงินมีคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจะใช้ได้ดีกว่าธนบัตรในยามเศรษฐกิจ-สังคมล่มสลาย ต่อมาเขียนหนังสือที่รุนแรงน้อยลงชื่อ “วิธีอยู่อย่างไพบูลย์เมื่อเวลาที่เลวร้ายมาถึง” (ปี 1979) และเป็นหนังสือติดอันดับขายดี

(2) ดอน สตีเฟนส์ เป็นสถาปนิก หันมาออกแบบบ้านเชิงนิเวศ พยายามสร้างแบบการดำเนินชีวิตแบบพอเลี้ยงตัวเองให้มากที่สุดเพื่อรับกับอนาคตที่มีความไม่แน่นอน ตัวเขาออกไปดำเนินชีวิตในบ้านเก่าอายุร้อยปีที่ปรับปรุงใหม่ ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์และชีวมวล ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ขับรถยนต์ไฟฟ้า ทำสวนอินทรีย์ และเก็บน้ำฝนไว้ใช้ เขียนหนังสือ “ชีวประวัติของผู้หลีกลี้” (1968 อัพเดตปี 1976) เสนอให้เตรียมตัวอพยพไปชนบท เมื่อสังคมล่มสลาย ทำให้คำ “นักหลีกลี้” (Retreater) และ “ที่หลีกลี้” เป็นที่ยอมรับ

(3) เคิร์ต แซกซัน พื้นเป็นคนมีความคิดขวาจัด ต้องการทำลายขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายด้วยความรุนแรง เป็นต้น ต่อมาในทศวรรษ 1970 หันมาทำงานด้านการอยู่รอด เผยแพร่จดหมายข่าวชื่อ “ผู้อยู่รอด” ชี้ถึงการล่มสลายของเศรษฐกิจ-สังคม และการอยู่รอดแบบที่ชาวอเมริกันรุ่นก่อนกระทำ และสร้างคำลัทธินักอยู่รอด (Survivalism) เขียนหนังสือชุด “เจมส์ บอนด์ ของคนจน” เน้นการอยู่รอดแบบรู้จักใช้อาวุธลับต่างๆ

(4) เมล แทพพัน เผยแพร่จดหมายข่าวสำคัญเกี่ยวกับลัทธิผู้อยู่รอด และที่หลีกเร้นของผู้อยู่รอด ชื่อ “จดหมายข่าวการอยู่รอดส่วนบุคคล” เขียนหนังสือชื่อ “ปืนเพื่ออยู่รอด” และ “ว่าด้วยการอยู่รอดแบบแทพพัน” ในจดหมายข่าวของแทพพัน ได้มีนักเขียนชื่อดังแนวอยู่รอดเขียนอยู่หลายคน ถือว่าเป็นตัวแทนของกระแสการอยู่รอดในช่วงนี้ได้

(5) จอห์น พักสลีย์ (John Pugsley) เขียนหนังสือ “ยุทธศาสตร์ของผู้นำหน้า” (The Alpha Strategy เผยแพร่ปี 1980) ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ถึง 9 สัปดาห์ในปี 1981 หนังสือนี้ถือเป็นมาตรฐานในการตุนอาหารและเครื่องใช้ในบ้าน เพื่อประกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนในอนาคต

(ดูบทความชื่อ Root Run Wide & Deep for New Prepper Movement ใน formerlynmurbanhomestader.com)

นักเตรียมพร้อมในช่วงแรกถูกมองในแง่ไม่ดีนัก ถูกเห็นว่าเป็นพวกนักตื่นตูมหรือผู้ผิดประหลาด หลีกเร้นไปอยู่ในป่าหรือชนบท เก็บตุนอาหาร อยู่แบบพึ่งตนเอง รอคอยวันสิ้นโลกที่จะเกิดขึ้น หรือไม่ก็เป็นพวกเคร่งศาสนากังวลถึงวันสิ้นโลกที่กล่าวในพระคัมภีร์

ยิ่งกว่านั้นบางส่วนเริ่มจากการปลีกตัวไปอยู่แบบพึ่งตนเองไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้

อย่าง เท็ด คาซินสกี้ (เกิด 1942) ผู้มีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์ จบการศึกษาปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์ เขาปลีกตัวไปตั้งแต่ปี 1971

ในปี 1978 เขาได้สังเกตเห็นว่าสิ่งแวดล้อมธรรมชาติรอบกระท่อมเขาถูกทำลาย เกิดความคิดต่อต้านเทคโนโลยีและระบบทุนนิยม

เปลี่ยนแผนเป็นนักวางระเบิดระหว่าง 1978-1995 เขาวางระบิดหลายแห่งในสถานศึกษาและสายการบิน มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บกว่า 20 และยังมีบางคนเคร่งศาสนาจัดกลายเป็นพวกต่อต้านรัฐบาล รุนแรง จนเป็นผู้ก่อการร้ายฝ่ายขวาอย่างเช่น ทิโมธี แม็กเวห์ ที่ระเบิดอาคารในโอกลาโฮมา (1995)

ขบวนนักเตรียมพร้อมที่เกิดในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมีการพัฒนาไปตามสถานการณ์ ฉบับหน้าจะกล่าวถึงขบวนการนักเตรียมพร้อมช่วงที่สองและสามต่อไป