แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (20)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเรามีการยุบสภาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 14 ครั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ขณะเดียวกันบทบัญญัติที่ว่าด้วยการยุบสภาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน

นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ

อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

และรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว

นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

และประเพณีการปกครองที่ว่านี้ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ

และผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษไปในหลายตอนก่อนหน้านี้

จากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงเหตุผลหรือเงื่อนไขของการยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง

ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว 6 ครั้ง คราวนี้จะขอกล่าวถึงการยุบสภาที่เหลืออีก 8 ครั้ง และหลังจากนั้นจักได้ชี้ให้เห็นถึงการยุบสภาที่เป็นไปตามแบบแผน และการยุบสภาที่มีข้อน่าสงสัยพิจารณา

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2535 ในสมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2535

สาเหตุคือ รัฐบาลนายอานันท์เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง

“ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2535 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเน้นย้ำการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาในลักษณะเฉพาะกิจบริหารราชการแผ่นดินในระยะเวลาอันจํากัด เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาคืนอํานาจอธิปไตยให้กับประชาชนต่อไป เมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วจึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2535 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”

(ข้อความในเครื่องหมายคำพูด ผู้เขียนอ้างจาก ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, “การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย” ผู้เขียนขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

 

ครั้งที่แปด คือการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2538 ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538

สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

“เนื่องมาจากการที่พรรคฝ่ายค้านอันประกอบด้วยพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ซึ่งมี นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยในฐานะผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ…พรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2538 โดยมี พลตรีจําลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมของพรรคได้มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคงดออกเสียงและให้รัฐมนตรีลาออก ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไป ทั้งนี้ พลตรีจําลอง ศรีเมือง ได้ให้เหตุผลว่าเพื่อยึดหลักความชอบธรรมและประโยชน์ต่อส่วนรวมเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตอบคําถามของพรรคฝ่ายค้านได้ชัดเจน ดังนั้น จึงทําให้ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะมีการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ”

“และประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2538 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปใหม่ เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ มีความแตกแยกจนไม่สามารถจะดําเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ”

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่เก้า คือในปี พ.ศ.2539 ในสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2539 สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

“เนื่องจากการที่รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค ทําให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล โดยมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีถึง 5 ครั้ง และมีการถอนตัวของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายครั้ง ทําให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง”

“อีกทั้งพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนํา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 21-23 (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ.2539 ในการอภิปรายครั้งนี้ได้มุ่งโจมตี นายบรรหาร ศิลปอาชา ในประเด็นของการบริหารประเทศโดยไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทางด้านเศรษฐกิจได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก และประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางด้านสังคม การเมืองและการบริหารได้ประสบความล้มเหลวในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชน ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่พึงจะมีในระบอบประชาธิปไตย…”

“วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2539 ก่อนที่จะมีการลงมติในญัตติดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งซึ่งประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคนําไทยและพรรคมวลชน ได้ประชุมสมาชิกพรรคและมีมติให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนมีการลงมติเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงมาก หากนายบรรหารไม่ยอมลาออก พรรคความหวังใหม่ พรรคนําไทย และพรรคมวลชน จะขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล”

“เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้ประกาศจุดยืนของตนเองต่อสื่อมวลชนแล้ว จึงมีการประชุมหารือกันของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ กับนายกรัฐมนตรี โดยสรุปว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีจะลาออกภายใน 7 วัน จากนั้นจะพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดํารงตําแหน่งใน 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2539 แทน เพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองไปให้กับประชาชนพิจารณาโดยการเลือกตั้งใหม่”

 

ครั้งที่สิบ พ.ศ.2543 การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 สาเหตุคือ ปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จแล้ว

“ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและประกาศว่าจะขออยู่ในตําแหน่งเป็นเวลา 2 ปีเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้ และได้ดําเนินการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญครบถ้วนจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองเต็มรูปแบบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540”

“แต่รัฐบาลก็ต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตําแหน่ง หลังจากนั้น นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนให้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง…สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ครบวาระในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2543 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”

 

ครั้งที่สิบเอ็ด การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2548 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุคือ สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถบริหารราชการแผ่นดินอยู่จนครบวาระ

ส่วนครั้งต่อไปคือครั้งที่สิบสอง ซึ่งเป็นการยุบสภาที่มีข้อสงสัยชวนให้พินิจพิจารณาเป็นพิเศษ

ดังจะได้กล่าวต่อในตอนต่อไป