สูตรรัฐบาล ข้างน้อย-ข้างมาก | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

มีความกังวลกันอย่างมากว่า หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม หลังจากรู้ผลแล้วว่า ใครสอบได้ใครสอบตก พรรคไหนกวาด ส.ส.ได้กี่มากน้อย และพรรคไหนชนะเป็นอันดับ 1 มีฐานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยเอาเข้าจริงๆ ช่วงการตั้งรัฐบาลนี่แหละ ที่ยังหวั่นๆ กันว่า ทุกพรรคจะยอมรับกฎกติกามารยาทหรือไม่

เกรงกันว่าจะมีการดิ้นรนจากบางพรรคบางขั้ว ช่วงชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้เป็นพรรคชนะอันดับ 1

ดังที่เกิดกระแสข่าวตั้งแต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งแล้วว่า จะมีสูตรตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยรวมเสียงของพรรคขั้วอำนาจเดิมมารวมกับ 250 ส.ว. แล้วตีความให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ เพื่อชิงตั้งรัฐบาล

เป็นกระแสข่าวที่มีความเคลื่อนไหวรองรับเสียด้วย เพราะมีมือกฎหมายคนดังมาช่วยอธิบายว่าทำได้อย่างนั้นอย่างนี้

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ถ้าทำกันแบบนี้จริงๆ สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งคงร้อนระอุ!

ยิ่งการเลือกตั้งหนนี้ชัดเจนว่า ประชาชนตื่นตัวกันมาก เห็นได้จากจำนวนคนรับฟังการปราศรัยของพรรคการเมืองในเวทีต่างๆ แน่นขนัด มืดฟ้ามัวดิน

มีการแสดงออกจากประชาชนหลายๆ ประการ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้ใช้อำนาจในมือประชาชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปสู่สิ่งใหม่ สิ่งที่ดีกว่า

ดังนั้น ถ้าหากเสียงของประชาชนที่ไปเข้าคูหากาคะแนน ซึ่งปรากฏเป็นผลการเลือกตั้ง บ่งบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่เทเสียงให้พรรคไหนได้ ส.ส.มากที่สุด สมควรเป็นนายกฯ เป็นผู้ตั้งรัฐบาล

แล้วถ้าถูกเบี่ยงเบนแบบปี 2562 อีก

มาปี 2566 นี้ ความไม่พอใจของประชาชนเจ้าของอำนาจ จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอะไรตามมาหรือไม่

ที่สำคัญ ผลการสำรวจมากมายบ่งบอกในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า กระแสของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 2 พรรค มาแรงอย่างมากๆ

ทำให้ความคาดหวังของประชาชนมองไกลไปแล้วว่า จะเห็นใครเป็นนายกฯ จะเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว เป็นไปตามคาดหวัง แต่ถูกดับฝันเพราะการดิ้นรนของกลุ่มอำนาจที่พ่ายแพ้

ขืนดิ้นรนเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยอาศัยเสียง ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ ก็ต้องบอกว่า ความร้อนระอุจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ภายหลังการเลือกตั้ง

 

กระนั้นก็ตาม มีความเคลื่อนไหวบางประการที่บ่งบอกว่า การเมืองหลังการเลือกตั้ง จะเกิดการเจรจาต่อรองแบบเหนือเมฆขึ้นมา นำไปสู่สูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่ผสมผสานระหว่าง พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะเป็นอันดับ 1 กับพรรคการเมืองขั้วอำนาจเดิมบางพรรค

เป็นรัฐบาลผสมที่อาจทำให้สังคมมึนงงไปก็ได้!?!

จุดสำคัญข้อหนึ่งที่น่าคิดก็คือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ประกาศขออนุญาตกลับประเทศไทยเพื่อมาเลี้ยงหลาน โดยพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นภาระให้พรรคเพื่อไทย พูดง่ายๆ ว่าเพื่อไทยไม่ต้องมาออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้กลายเป็นชนวนอะไรอีก

ทั้งนี้ ระบุวันเวลาด้วยว่า จะกลับมาในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนถึงวันเกิดตนเอง

บอกอีกด้วยว่า จะกลับมาในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรักษาการอยู่

เป็นคำประกาศกลับไทยที่น่าขบคิดวิเคราะห์ได้หลายแง่มุมจริงๆ

จริงอยู่ ในคืนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มีผลคะแนน ส.ส.ออกมาเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็พอจะเห็นได้แล้วว่า พรรคไหนชนะเป็นอันดับ 1 ซึ่งควรเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และพรรคอื่นๆ ผลออกมาเป็นเช่นไร

ทำให้เห็นสูตรตั้งรัฐบาลได้แล้ว

แต่ทางด้านกระบวนการของ กกต.เอง ยังต้องใช้เวลาในการตรวจสอบผล รับข้อร้องเรียน ตรวจสอบข้อร้องเรียนก่อน กว่าจะประกาศรับรองผล ส.ส.แต่ละราย ต้องใช้เวลาไม่น้อย

ประมาณว่า กว่าจะรับรองผลอย่างเป็นทางการได้เป็นส่วนใหญ่ จะต้องใช้เวลาถึงราวกลางเดือนกรกฎาคม หรือราว 2 เดือนหลังเลือกตั้ง กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้จริงๆ ก็เป็นช่วงสิงหาคม

ดังนั้น คำประกาศกลับบ้านของทักษิณ ที่ระบุว่าจะมาในเดือนกรกฎาคม จึงมีการระบุด้วยว่า อยู่ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่

ถ้าหากทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงนั้นจริงๆ โดยที่ไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆ มารองรับ เท่ากับมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ โดยอำนาจในขณะนั้นยังอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์

จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าคิดอย่างมากๆ และน่ามองถึงการเมืองหลังเลือกตั้งอย่างยิ่ง!

 

การประกาศกลับไทยของทักษิณ ตีความได้ 2 มุม โดยมุมหนึ่งแค่ปลุกกระแสให้ช่วยกันออกมาเลือกเพื่อไทยให้เป็นรัฐบาลเพื่อชนะเด็ดขาดให้ได้

หรืออีกมุม เป็นการเตรียมตัวกลับมาจริงๆ งวดนี้มาแน่นอน กำหนดเดือนกรกฎาคมนี้

ถ้าเป็นประการหลัง อดไม่ได้ที่จะมองว่า ต้องมีการเจรจาต่อรองอะไรกันบางประการ

เพราะรู้กันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า เพื่อไทยชนะได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 แน่ๆ เป็นแกนหลักตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน

ประเด็นนี้แหละ อาจนำไปสู่การตั้งโต๊ะพูดคุยอะไรกัน จนนำมาสู่ความมั่นใจ ว่าจะกลับบ้านแล้ว

โดยจุดสำคัญของการเจรจา คงไม่พ้นสูตรจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำ ควรจะผสมกับพรรคไหน

ดีไม่ดีการผสมข้ามขั้วการเมือง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้!!

อาจจะตกลงกันได้เรียบร้อยลงตัวแล้ว จึงทำให้ทักษิณเตรียมตัวจะกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน หลังจากต้องไปอยู่ต่างแดนเกือบ 17 ปี

ถ้าเป็นไปตามนี้ สูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้ง คงไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เพียงแต่อาจจะเป็นสูตรผสมที่คนในสังคมนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้

มองแง่นี้การเมืองหลังเลือกตั้ง อาจจะไม่ร้อนระอุมาก การตั้งรัฐบาลอาจจะง่ายดายขึ้น

เพราะ 2 ขั้วตกลงกันได้ ร่วมมือกันได้

แต่ผลอีกด้าน อาจจะสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนที่ตื่นตัวและปรารถนาให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

เพราะหากมีการเปิดดีลลับๆ เจรจาลับๆ มักจะมีการต่อรองจนทำให้โฉมหน้ารัฐบาลใหม่ ไม่สวยงามมากนัก

ความผิดหวังจากประชาชนบางส่วนคงเกิดขึ้น*

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่า ดีลลับๆ เป็นจริงขนาดไหน เรียบร้อยลงตัวขนาดไหน

อะไรจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ในช่วงการตั้งรัฐบาลใหม่ ยังต้องเฝ้ามองกันต่อไป

เพียงแต่ไม่ควรจะเกิดความคิดความพยายามตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นอันขาด

มีคำเตือนจากหลายๆ ฝ่ายแล้วว่า ความโกรธของประชาชนผู้ไปเลือกตั้ง หากเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ยากที่จะประเมินผลหรือหยุดยั้งได้!