‘รู้’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ความจริงอย่างหนึ่ง ที่ป่าจะบอกให้รู้คือ ชีวิตในป่านั้น ไม่ได้อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน

แต่จะอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน และไม่เฉพาะพึ่งพาเพียงในหมู่พวกเดียวกัน ในชีวิตต่างสายพันธุ์ พวกมันก็พึ่งพากันเสมอ

เรียกได้ว่า การอยู่ร่วมแบบพึ่งพามันเป็นวิถีชีวิต

ที่เห็นได้ชัดเจนและชินตา คือ เมื่อนกเกาะอยู่ตามตัวกวาง, เก้ง, กระทิง นกกระโดดไปมา หาแมลงตามตัวสัตว์ นกได้อาหาร ส่วนกวาง หรือกระทิง ก็สบายตัวขึ้น

บางครั้งการจิกดูรุนแรงถึงขึ้นเลือดออก ดูคล้ายเป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ การพึ่งพา บางครั้งก็ต้องแลกกับความเจ็บปวด

ส่วนการช่วยกันป้องกันภัยนั้น เห็นไม่ค่อนชัดเจนนัก

ในช่วงเวลาที่อยู่ในแหล่งอาหาร ในที่โล่งอย่างโป่ง นอกจากในฝูงจะต้องมีตัวที่ทำหน้าที่เป็นยามคอยเฝ้าระวังแล้ว กระทิงยังอาศัยดูเก้งที่มีประสาทระวังภัยดีด้วย

ถ้าเก้งมีทีท่าสบายๆ บริเวณนั้นย่อมปลอดภัย

 

ความจริงอีกประการซึ่งไม่ได้เป็นความลับ และเป็นความจริงที่เรารู้มานาน เป็นพื้นฐาน นั่นคือ การกินของเหล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์กินพืช หรือสัตว์ผู้ล่านั้น เป็นแค่ผลพลอยได้จากการทำงานของพวกมันเท่านั้น

พูดง่ายๆ สัตว์กินพืช ทำหน้าที่จัดการดูแลพืชให้อยู่ในจำนวนเหมาะสม

อย่างในแหล่งน้ำต่างๆ ถ้าเหล่านกน้ำ หรือนกที่มีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับน้ำหายไป ไม่มีนกคอยช่วยกินบรรดาพืชน้ำไว้บ้าง พืชอาจจะขยายมากมายกระทั่งแย่งเอาออกซิเจนในน้ำไปหมด ปลารวมทั้งสัตว์น้ำคงเดือดร้อนไปตามๆ กัน

เหล่านกกินผลไม้ ก็เพื่อนำพาเมล็ดไปปลูก และกินแมลงไม่ให้กัดกินต้นไม้

ส่วนหมูป่า ก้มหน้างุดๆ ทำหน้าที่พรวนดิน ไว้รอรับเมล็ดที่จะมาจากนกที่ขี้ลงมา

ทีนี้เมื่อสัตว์กินพืชมีปริมาณมาก เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช

นี่จึงเป็นหน้าที่ของเหยี่ยว, เสือ, หมาไน หมาจิ้งจอก และบรรดาที่กินเนื้อทั้งหลาย

 

ในช่วงเวลาที่สัตว์กินพืชกำลังทำงานนี่แหละ เป็นเวลาที่อันตรายจะมาถึงได้ง่ายที่สุด

พวกมันส่วนหนึ่งจึงต้องทำหน้าที่เป็นยามประจำป่า

ส่วนใหญ่แล้ว ยามจะใช้วิธีส่งเสียง เป็นสัญญาณให้รู้เมื่อมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาในบริเวณ

ในป่า เรียนรู้สัญญาณเหล่านี้ไว้ ก็จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น

อยู่ในป่า ผมย่อมอยู่ในฐานะผู้บุกรุก เพราะฉะนั้น ยามต่างๆ จะเห็นผมเป็นศัตรูเสมอ

ถ้าผมหลบซ่อนให้พ้นจากยามของป่าได้ โอกาสที่จะได้พบกับสัตว์ป่าก็มีมากขึ้น

หมาไน – หลังจากทำงานสำเร็จไปอีกหนึ่งครั้ง หมาไนอนุญาตให้เฝ้าดูใกล้

อยู่ในซุ้มบังไพร เสียงกระรอกร้องเป็นจังหวะต่อเนื่อง เป็นสัญญาณว่า มีสัตว์ใหญ่เข้ามาใกล้

ยิ่งถ้าเป็นท่วงทำนองกระชั้นๆ ห้วนๆ ติดกันยาวเช่นนี้ สัตว์ที่กำลังจะออกมาที่โล่ง ก็จะหยุดรอดูทีท่านาน

นกบางชนิดที่อยู่ในกลุ่มนกระวังไพร มีอาชีพเป็นยามโดยตรง บางชนิดมีหน้าที่กำจัดแมลงแต่มีอาชีพยามเสริม อย่างนกจาบคาเคราสีน้ำเงิน

นกชนิดนี้ให้บทเรียนที่ดีกับผม ในช่วงแรกที่ทำงาน ด้วยความไม่รู้ และประเมินความสามารถของสัตว์ป่าต่ำเกินไป ทำซุ้มบังไพรเฝ้ารอถ่ายภาพนกยูงอย่างมิดชิด แต่ไม่มีหลังคา ใช้เวลาเฝ้าหลายวัน เห็นแต่นกจาบคาเคราสีน้ำเงินตัวหนึ่งมาเกาะ มองอยู่บนกิ่งไม้ใกล้ๆ

วันหนึ่ง มีนกยูงกำลังเดินออกมาจากชายป่า ได้จังหวะกำลังจะกดชัตเตอร์ เจ้านกจาบคาส่งเสียงร้อง นกยูงหลายตัวหันหลังวิ่งเข้าชายป่าไปทั้งหมด

นั่นทำให้ผมได้รับบทเรียนว่า จำเป็นต้องซ่อนตัวจากเหล่ายามให้ได้เสียก่อนจึงจะได้งาน

 

นอกจากซ่อนตัวให้พ้นจากยาม อีกสิ่งที่สำคัญคือ ผมจะไม่รีบร้อนที่จะกดชัตเตอร์เมื่อสัตว์กำลังเดินออกมาในระยะแรกๆ นั้นไม่ง่ายเลยที่จะห้ามใจไม่ให้กดชัตเตอร์ถ่ายกระทิงในแวบแรกที่เห็น

ปล่อยให้พวกมันได้กินน้ำ แร่ธาตุในโป่งไปสักพัก อย่างน้อย ถ้าสัมผัสได้ว่า ผมอยู่ที่นั่น พวกมันก็ได้กินบ้าง ก่อนจะตื่นหนี

ผมรู้ว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ต้องมี คือ ใจที่พร้อมจะยอมรับความผิดหวัง ไม่ว่าจะพยายามเพียงไร ในเวลากว่าสิบวัน โอกาสที่จะไม่พบเจอสัตว์ป่ามีมากกว่า

ถึงที่สุด อาจเพราะยิ่งรู้จักคุ้นเคยกับสิ่งใดมาก ดูเหมือนจะยิ่งรู้จักสิ่งนั้นน้อยลงเป็นส่วนหนึ่ง

กับสัตว์ป่า ผมเชื่อว่า ทุกครั้งที่ได้พบกัน เป็นเพราะพวกมันอนุญาต

ซ่อนตัวอย่างมิดชิด อยู่ในระยะที่ให้เกียรติกัน เป็นเสมือนใบขออนุญาตที่ผมใช้

 

ในป่า ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง เรียนรู้ทำความเข้าใจ ยอมรับในความสามารถของพวกมันที่เหนือกว่า

นี่จะทำให้ได้งาน

หลายปีก่อน ผมเข้าป่าด้วยความมั่นใจ ด้วยความไม่รู้

ผ่านวันเวลาในป่ามายาวนาน ดูเหมือนว่า ความมั่นใจของผมลดน้อยลง

มั่นใจน้อยลง เพราะ “รู้” มากขึ้น •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ