จัตวา กลิ่นสุนทร : หนีไม่พ้นจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง กับ (บรรดา) ช่าง การซ่อมแซม ก่อสร้าง? (2)

เคยบอกกล่าวเล่าขานถึงย่านที่ลงหลักปักฐานมานานกว่า 30 ปี แต่เดิมเป็นบ้านสวนฝั่งธนบุรี แต่เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ กับธนบุรี ด้วยสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

หนึ่งในสะพานที่เรียกกันติดปากว่า “สะพานสาทร” หรือ “สะพานตากสิน” จากบริเวณสาทรฝั่งกรุงเทพฯ ข้ามไปฝั่งธนบุรี ข้ามถนนสายเก่าแก่ คือ ถนนเจริญนครไปเชื่อมกับถนนตากสิน เรียกถนนสายสั้นๆ นี้ว่า “ถนนกรุงธนบุรี”

สองฝั่งถึงแม้จะเป็นจังหวัดเดียวกัน การเดินทางข้ามไปมาแต่ก่อนต้องใช้เรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการเชื่อมกันอยู่หลายจุดตลอดแนว 2 ฝั่ง จุดเชื่อมบริเวณบางรัก สาทร ตรงข้ามถนนเจริญนคร ซึ่งไม่ห่างจากสีลมอันเป็นย่านประกอบธุรกิจอัญมณี เครื่องเพชร พลอย ทองคำ เรียกกันรวมๆ ว่า จิว เวลรี่ (Jewelry) ซึ่งส่วนมากรายใหญ่ๆ มักเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวภารตะ

คนไทยมักจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เป็นช่างฝีมือเจียระไนเพชร พลอย ทำตัวเรือนแหวน ฝังเพชร ฝังพลอย ประมาณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเข้าสู่วงการธุรกิจนี้ด้วยการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญมากกว่าจะได้ศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งจะมาเปิดทำการเรียนการสอนกันได้ไม่นาน

ผู้เข้าสู่ธุรกิจนี้เท่าที่ได้สัมผัสล้วนแล้วแต่เดินทางมาจากต่างจังหวัดตั้งแต่เล็กๆ ทำงานฝึกฝนจนเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ มีความชำนาญมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

 

บริเวณ สีลม บางรัก สาทร พื้นที่ใกล้เคียงหนาแน่นขึ้น เมื่อเกิดสะพานตากสิน (สาทร) เชื่อมสองฝั่งไม่ต้องโดยสารเรือข้ามฟาก หรือเดินทางอ้อมไปไกลถึงสะพานกรุงเทพฯ นายทุนผู้ประกอบการที่เห็นการณ์ไกลก็ขยายงานข้ามมายังฝั่งตรงข้าม ก่อนจะมีรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ มาเชื่อมต่อกับบีทีเอส (BTS) ซึ่งมีแค่สถานีสะพานตากสิน ฝั่งกรุงเทพฯ เป็นสถานีสุดท้าย

อสังหาริมทรัพย์บริเวณย่านสาทร ฝั่งธนบุรีก็กลายเป็นทองคำ คนธรรมดาไม่สามารถหาซื้อได้อีกต่อไป ราคาที่ดินติดถนนมีราคาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ตารางวาละหลายแสนบาท เพราะบรรดาบริษัทประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาคารสูง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเขามีหูตาทิพย์สามารถล่วงรู้ได้ก่อนล่วงหน้า จึงได้เที่ยวกว้านซื้อที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าไว้จนหมดยาวไปยันถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2

ที่ดินละแวกใกล้เคียงที่ลึกเข้าไปในซอยใกล้กับถนนใหญ่ซึ่งมีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) วิ่งผ่านก็พลอยสูงตามขึ้นมาด้วย ราคาประเมินของกรมที่ดินแม้จะไม่เกินหกเจ็ดหมื่นบาท แต่เวลาซื้อขายกันทีไรมักจะเริ่มต้นตรงหลักแสน หรือมากกว่านั้น

นอกจากสองฟากฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยอาคารสูง และธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่อง Jewelry เครื่องเพชร พลอย ทองคำทั้งหลายตามที่กล่าว อพาร์ตเมนต์ ทาวoNเฮ้าส์ ตึกแถว บ้านให้เช่า ห้องแบ่งให้เช่าจึงผุดขึ้นเป็นเงาตามตัว และแทบจะไม่มีเวลาว่าง

การก่อสร้างของนายทุนจึงผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสม ถูกต้องมากนัก ก็สามารถสร้างกันได้ด้วยอำนาจเงิน

 

วันที่เพื่อนร่วมชีวิตได้รับมรดก แต่ผู้เซ้ง-เช่าอยู่อาศัยเดิมตามอายุสัญญาเพิ่งจะสิ้นสุด เพราะฉะนั้น ก่อนหน้านี้จึงไม่มีทางรู้ได้ว่ามันทรุดโทรมเสื่อมค่าขนาดไหน วันที่รอคอยให้ผู้เซ้งชุดแรกๆ ออกไปให้รู้แล้วรู้รอดก็มาถึง ซึ่งกว่าจะมีการโยกย้ายกันออกไปได้ล้วนเต็มไปด้วยลีลาสารพัดสารพันเพื่อยื้อการขนย้ายออกไป เมื่อถึงเวลาหรือเกินเวลาก็มีการรื้อฝาห้อง รั้วเหล็กหน้าบ้าน ฯลฯ ในตัวอาคารก็ผุพังขนาดพื้นไม้กลายเป็นอาหารของปลวกไปจนเกินกว่าการซ่อมแซม

จำได้แม่นยำว่าเคยถาม (คนงาน) ผู้อยู่อาศัยว่า “–แล้วนี่นอนยังไงกัน” เมื่อได้เข้าไปดูภายในตัวห้องแถวเป็นครั้งแรก เนื่องจากกระเบื้องมุงหลังคาแตกหลุดรั่วไปเกือบจะทั้งห้อง เขาตอบว่าบางครั้งเอากะละมังไปรองน้ำไว้ และก็พยายามหามุมนอนหลับในวันที่ฝนตก?

ถามต่อว่า เห็นอยู่ห้องนี้มาตั้งนานหลายปี ทำไมไม่ซ่อมแซมให้อยู่สบายๆ เขาบอกว่าเป็นเรื่องของนายจ้าง (ผู้เซ้ง) เธอเป็นเพียงคนงานเท่านั้น ก็ถูกต้องของเธอละ

ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์เหล่านี้ผู้เซ้งไม่ได้เป็นเจ้าของ ยิ่งเขารู้ว่าจะหมดสัญญา และจะต้องย้ายออกไป จะด้วยกิจการซึ่งอาศัยอาคารเหล่านี้ประกอบการมานานกว่า 20 ปีไม่เจริญก้าวหน้า ประสบภาวะถดถอยขาดทุนยิ่งไม่มีการซ่อมแซม

ไม่เหมือนบ้านให้เช่าธรรมดาเมื่อมีผู้มาขอเช่าพักอาศัย หรืออาจประกอบกิจการเล็กๆ แบบอุตสาหกรรมในครอบครัวย่อมจะต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่จะต้องซ่อมแซมให้กับผู้เช่า

เมื่อสัญญาหมดลงไม่มีการเซ้งต่อไป เพียงแต่ให้เช่าเป็นรายเดือน ก่อนที่จะคืนบ้าน และแยกย้ายกันนี้แหละยุ่งวุ่นวายเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด เพราะผู้เซ้งอยู่เดิมทำท่าเหมือนกับจะรื้อบ้านไปทีเดียว ทั้งๆ ที่ตามสัญญานั้นอะไรที่มาสร้างเพิ่มเติม ยกเอาไปไม่ได้ก็จะเป็นของเจ้าของบ้าน แต่บรรดาผู้เช่าเซ้งที่อยู่มานานจะเอาไปให้หมด

รั้วหน้าบ้านยังแอบมารื้อจนพังยับเยินจนแทบจะต้องเอาไปขายเป็นเศษเหล็ก วุ่นวายยุ่งยากอย่างยิ่ง

 

ห้องแถวที่เรียกกันว่าทาวน์เฮ้าส์ เหลือเพียงสภาพเน่าๆ พื้นห้องก็ผุพัง หลังคารั่วไปทั้งห้อง ห้องส้วมนั่งยองซึ่งก็รวมอยู่ในห้องเดียวกันกับห้องน้ำตามสภาพตึกแถวทั่วไป ราดไม่ลงต้องยกพื้นขึ้นไป เวลาจะเข้าส้วมแต่ละครั้งแทบต้องปีนขึ้นไป เพราะพื้นอาคารได้กลายเป็นต่ำเตี้ยเต็มไปด้วยน้ำระบายได้ลำบาก ยิ่งเวลาฝนตกน้ำจะท่วมทันที

ปัญหาที่เก็บเอามาเล่าเป็นของฝากแบบเห็นเป็นเรื่องสนุก แต่มันเป็นปัญหาของพื้นที่อยู่อาศัยจำนวนมากในกรุงเทพฯ โดยกับฝั่งธนบุรีส่วนมากค่อนข้างลุ่มต่ำ เดิมเป็นสวน ติดกับแม่น้ำ ลำคลองสาขา หรือแม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูที่น้ำทะเลหนุนจะเดือดร้อนกันมากเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะต้องช่วยหุ้นส่วนชีวิตซ่อมแซมอาคารที่ได้รับเป็นมรดกมานอกเหนือจากที่ดิน ติดต่อหาผู้รับเหมาก่อสร้าง หาช่างมาซ่อมแซม ทั้งๆ ที่เวลาที่ผ่านมานั้นนานปี แต่ดูตัวเลขค่าซ่อมแซมตกเป็นหลักแสนขึ้นไปแทบทุกหลัง คิดคำนวณดูแล้วไปหาเงินหลายๆ แสน เพื่อซ่อมบ้านให้เขาเช่าเดือนละสี่ห้าพันมันจะคุ้มกันไหม?

ไอ้จะปล่อยทิ้งไว้ก็จะผุพังจนหมดสิ้นไป หรือทำใจเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งได้รับส่วนแบ่งมากกว่า เพื่อนร่วมชีวิตทุกคนปล่อยให้เช่าไปตามสภาพ ซึ่งก็ยังมีคนเช่าจนเต็ม เนื่องจากเป็นย่านน่าจะเรียกได้ว่ากลางเมือง มีรถไฟฟ้าผ่าน และอยู่ในย่านธุรกิจอัญมณี เพชร พลอย ทองคำ

 

ตัดสินใจซ่อม ทำใจว่าเป็นการลงทุนระยะยาว หลายๆ ปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก่อนเดินหน้าสร้างกำไร บางทีเจ้าของอาจแก่เฒ่าจนแทบเดินไม่ไหวก็ย่อมได้ กลับมาต้องอารมณ์เสียปวดหัวอยู่ทุกวันกับผู้รับเหมาก่อสร้าง

หลังจากตกลงราคาแล้วก็มีช่างมาลงมือสักวันสองวัน แล้วหายหน้าไปอีกหลายวัน ตอนหลังก็พอจะเข้าใจว่าผู้รับเหมารับงานหลายแห่ง แล้วก็ใช้วิธีโยกเอาช่างไปทิ้งไว้ทุกแห่งสลับไปสลับมา ลองคิดดูเถอะว่าเมื่อไรมันจะแล้วเสร็จ?

บางครั้งจ้างเป็นค่าแรงรายวัน ตกลงราคาตามที่เรียกร้องขอมา โดยเจ้าของงาน “ซื้อวัสดุก่อสร้าง” เองทั้งหมด จนประสบการณ์ทำให้พอทราบว่าราคาวัสดุก่อสร้างที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมากนั้น มีหลายเกรด หลายราคา บางทีชนิดเดียวกันราคาไม่เท่ากัน ผู้ขายวัสดุก่อสร้างก็ขายราคาแตกต่าง ปูนซีเมนต์ชนิดเดียวกันราคาไม่เท่ากัน? ราคาสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างต่ำกว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าคุณภาพแตกต่างหรือไม่? เจ้าของบ้าน อาคารที่ซื้อเองเป็นอีกราคาหนึ่ง

สำคัญที่สุดสำหรับช่างที่มากินแต่ค่าแรง โดยเจ้าของงานเป็นผู้ซื้อวัสดุ และแม้แต่เครื่องมือ? ช่างพวกนี้จะไม่รักษาวัสดุก่อสร้าง เช่น ผสมปูนมากๆ แล้วก็ปล่อยให้แข็ง ตื่นเช้ามาก็มาบอกว่าไอ้นั่นหมด ไอ้นี่หมด ซื้อเท่าไรก็ไม่พอ ทำข้าวของเสียหายมากกว่าค่าแรงหลายๆ วัน ที่เจ็บปวดที่สุดก็เห็นจะเรื่อง “แปรงทาสี” ซื้อมาให้เกือบทุกขนาด

เคยเดินเข้าไปในบ้านที่กำลังซ่อมแซม เห็น “แปรงทาสี” ทิ้งเกลื่อน แต่ “แข็ง” ใช้ไม่ได้หมดทุกอัน