สิ้นยุคระบอบทหาร! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ใครที่ชอบ “การเมืองเรื่องตัวเลข” แล้ว จะเห็นถึงความน่าสนใจของตัวเลขที่เกิดจากการตอบแบบสอบถามในการทำประชามติสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หรือที่เรียกกันว่า “ผลโพล” ที่เป็นตัวเลขคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมือง และผู้นำแต่ละคน

ไม่มีใครตอบได้ว่า โพลของสำนักใดจะใกล้ความจริงมากที่สุด แต่อย่างน้อยตัวเลขจากการตอบของผู้ถูกถาม ชวนให้ต้องทดลองคาดคะเนถึงอนาคตการเมืองไทยใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ

1) การถดถอยของพรรคทหาร

ผลโพลที่ออกมาค่อนข้างจะชัดเจนว่า “พรรคทหารเก่า” (พลังประชารัฐ) และ “พรรคทหารใหม่” (รวมไทยสร้างชาติ) ไม่ใช่พรรคที่จะอยู่ในลำดับต้น (คือ 1 หรือ 2) ที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในอนาคตได้แต่อย่างใด

ถ้าผลโพลเป็นคำตอบที่สอดคล้องกับการลงเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ เราคงตอบได้ทันทีว่า พรรคทหารเดินมาถึงจุดถดถอยจริงๆ แล้ว เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากการรัฐประหารนั้น โอกาสที่จะควบคุมการเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร ย่อมไม่เหมือนเดิม

ว่าที่จริง พลังอำนาจของอดีตผู้นำรัฐประหารมีภาวะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่ง การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ทำให้อดีตนายทหาร “3 ป.” ที่เป็นหัวขบวนของการยึดอำนาจไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง เมื่อพวกเขาตัดสินใจ “สืบทอดอำนาจ” ด้วยการลงเลือกตั้ง พวกเขาย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการใช้ “กลเกมการเมือง” ซึ่งการเมืองในระบอบเช่นนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยสร้างคะแนนนิยมในเวทีการเมืองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาจากรัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึง 9 ปีของผู้นำรัฐประหาร โดยใน 5 ปีแรกเป็นการเมืองในระบอบรัฐประหาร เพื่อการจัดตั้ง “รัฐบาลทหาร” เข้าควบคุมการเมืองของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ และในอีก 4 ปีถัดมา เป็นการเมืองในระบอบพันทาง ที่เกิดการ “แปลงรูป-เปลี่ยนร่าง” ของรัฐบาลทหาร ไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ซึ่งก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศเท่าใดนัก ยกเว้นผลงานที่เป็น “นโยบายประชานิยม” เพื่อใช้เป็นฐานเสียงให้แก่ผู้นำรัฐประหารและพรรคทหารสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ จึงมีนัยสำคัญกับอนาคตของพรรคทหารเป็นอย่างยิ่ง และหากได้คะแนนไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองแล้ว พรรคทหารอาจกลายเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ได้ไม่ยาก

2) การสิ้นพลังของระบอบทหาร

ระบอบทหารมีพลังมากที่สุดในการเมืองไทยหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหาร เพราะการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นทำให้การเมืองในภาวะปกติสิ้นสภาพไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดของรัฐบาลเลือกตั้ง และอำนาจถูกเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือของผู้นำรัฐประหารอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จตามมาตราพิเศษ เช่น ม. 44 ของคณะรัฐประหาร 2557

แต่ระบอบนี้มีปัญหาในตัวเอง เพราะอำนาจที่ได้จากการรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง และทำให้ตัวระบอบเองต้องเผชิญกับการถูกประท้วงและการต่อต้าน ดังนั้น การเปลี่ยนจาก “ระบอบเผด็จการรัฐประหาร” ไปสู่ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” จึงเป็นทางออกสำคัญในการลดแรงกดดันที่เกิดกับตัวระบอบดังกล่าว และยังเอื้อให้การสืบทอดอำนาจเกิดเป็นจริงได้อย่างง่ายดายใน 4 ปีแรกหลังรัฐประหาร

ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปอีก (อย่างน้อยสามารถอยู่ได้อีก 2 ปี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ) ความต้องการนี้กลายเป็น “การเมืองภาคบังคับ” ให้อดีตผู้นำรัฐประหารต้องยอมลงสนามการเลือกตั้ง ซึ่งหากเอาตัวเลข “โพล” เป็นข้อคาดการณ์ถึงอนาคตแล้ว จะเห็นได้ว่า อดีตนักรัฐประหารไม่ใช่ตัวเลือกของสังคมเท่าใดนักคือ ไม่ติดอันดับ 1 หรือ 2 จากการเลือกของประชาชนแต่อย่างใด แต่แม้คะแนนจะไม่สูงมาก พวกเขายังเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาอาจชนะด้วยการจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ด้วยความสนับสนุนของวุฒิสภา อันจะเป็นทางเลือกแบบ “ฆ่าตัวตาย” ในเวทีการเมืองปัจจุบันอย่างแน่นอน

ฉะนั้น หากบรรดา “นักรัฐประหาร” ที่ผันตัวมาเป็น “นักเลือกตั้ง” ไม่ประสบความสำเร็จในการดึงให้ประชาชนส่วนใหญ่มาลงเสียงให้กับคนและพรรคของตนเองแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลของอดีตผู้นำทหารจะเข้าสู่โหมดของการถดถอยอย่างแน่นอน และมีนัยถึงการสิ้นพลังของระบอบทหารที่เกิดจากการรัฐประหาร ซึ่งอาจมีความหมายถึง การเดินเข้าสู่จุดสุดท้ายของทั้งตัวผู้นำ และตัวระบอบรัฐประหาร 2557 พร้อมกันไป อันมีความหมายถึง การสิ้นสุดของ “การเมืองเก่า” ที่ดำรงอยู่ในเวทีการเมืองไทยมานานถึง 9 ปี

ภูมิทัศน์ใหม่ vs ภูมิทัศน์เก่า

ถ้าผลการเลือกตั้งเกิดขึ้นไปในทิศทางเช่นที่เห็นจากโพลแล้ว การเมืองไทยจะเดินเข้าสู่ “ภูมิทัศน์ใหม่” หรือเป็นการเมืองใหม่ของ “ยุคหลังระบอบทหาร” ที่เห็นถึงการ “ถดถอยยกกำลังสอง” คือ การถดถอยของอดีตผู้นำและตัวระบอบรัฐประหาร พร้อมกับการถดถอยของพรรคทหาร แต่สภาวะเช่นนี้ไม่ได้บอกว่า มรดกจากการยึดอำนาจที่เป็นดัง “สารพิษตกค้าง” ในสังคมการเมืองไทยนั้น จะหมดพลังไปตามด้วย เนื่องจากยังมี “ทายาทอสูร” ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมการเมือง ที่พร้อมจะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตของรัฐบาลเลือกตั้ง และต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต ดังเช่น บทบาท “องค์กร (ไร้) อิสระทางการเมือง” ที่จะช่วย “ด้อยค่า” การลงเสียงของประชาชนด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร) เพื่อช่วยในการดำรงสภาพ “ภูมิทัศน์เก่า” ให้คงอยู่ต่อไป

ฉะนั้น การเมืองหลังเลือกตั้งในบริบทมหภาคจึงเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นระหว่าง “ภูมิทัศน์ใหม่ vs ภูมิทัศน์เก่า” ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ที่ตื่นเต้นและเร้าใจอย่างแน่นอน และเดิมพันด้วยการกำหนดทิศทางของอนาคตการเมืองไทย!