ฟาร์มงูและสวนกล้วย 2566 | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันในวงการเมืองปัจจุบัน แต่ทุกคนรู้ดีว่า รัฐบาลในรูปแบบเช่นนี้จะเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก อันจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล และไม่สามารถที่จะเสนอกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาได้ เพราะจะล่อแหลมต่อการแพ้ ซึ่งจะนำไปสู่การลาออกของรัฐบาล

แล้วในวันที่ 3 พฤษภาคม รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้า “จำเป็นต้องตั้ง [รัฐบาลเสียงข้างน้อย] ก็จะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ไม่กี่วัน และจะเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเอง…”

นี่จึงเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างชัดเจนว่า แม้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อาจจะไม่ได้เสียงเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง แต่พรรคนี้จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน และพลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

คำกล่าวเช่นนี้ในด้านหนึ่ง คือ การประกาศหาเสียงสนับสนุนในปีกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้สนับสนุนผู้นำคนปัจจุบัน ในอีกด้านหนึ่ง คือ การยืนยันถึงการใช้ตัวแบบ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” โดยการสนับสนุนของวุฒิสภา ซึ่งมี ส.ว. 250 เสียงเป็นต้นทุนสนับสนุน ซึ่งต้องการเสียงอีก 126 ก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การนำเสนอตัวแบบนี้จึงเป็นดังการประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลประยุทธ์ใหม่” และไม่จำเป็นต้องรอผลการเลือกตั้ง เนื่องจากพลเอกประยุทธ์มีเสียง ส.ว. เป็นตัวเลขในมือก่อนที่จะมีการเปิดสภาเสียอีก

คำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ วิษณุ จึงเป็นการบ่งบอกอนาคตการเมืองไทยว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์หลังการเลือกตั้งจะใช้ “คึกฤทธิ์โมเดล” ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในระบบรัฐสภาไทยมาก่อน คือ พรรคการเมืองที่มีเพียง 18 คะแนนเสียง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2518 จึงเป็น “ความประหลาดใจ” ทางการเมือง ที่หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งด้วยคะแนนเสียงที่ได้น้อยมาก แต่กลับก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงโหวตอย่างท่วมท้น คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ 135 คะแนน ชนะพันเอกสมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรคสังคมนิยม ได้ 50 คะแนน

การกำเนิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยในปี 2518 จึงดูจะเป็นทั้ง “ความหวัง-ความฝัน” ของผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากผลของตัวเลขที่ปรากฏในการทำโพล เห็นได้ชัดว่า คะแนนนิยมของตัวพลเอกประยุทธ์ และคะแนนนิยมพรรค รทสช. นั้น ไม่ได้สูงมาก ซึ่งตัวเลขเช่นนี้น่าเป็น “สิ่งบอกเหตุ” อย่างชัดเจนว่า พรรค รทสช. ไม่น่าจะเป็นผู้ชนะในลำดับที่ 1 หรือ 2 อย่างแน่นอน และทั้งเป็นลำดับ 3 ที่คะแนนถูกสองอันดับต้นทิ้งห่างอย่างมาก (ขออ้างอิงนิดาโพล ที่มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโพลล่าสุด)

แต่ “คึกฤทธิ์โมเดล” วางอยู่บนเงื่อนไขพื้นฐาน 2 ประการ คือ 1) ความสามารถทางการเมืองของตัวนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะทักษะในการเดินเกมการเมืองที่ต้องประคองให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่รอดให้ได้ และ 2) เงื่อนไขสถานการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 1 เมื่อไม่ได้เสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ยอมที่จะถอยออกเพื่อให้เกิดกระบวนการสรรหาใหม่ในรัฐสภา

 

แต่หากเกิด “การชิง” จัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน โดยไม่คำนึงถึง “มารยาททางการเมือง” ที่พรรคที่ใหญ่ที่สุดจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นตามประเพณีของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย หรือ ใช้ความได้เปรียบทางการเมืองด้วยจำนวนเสียงของ 250 ส.ว. เป็นจุดชิงตั้งรัฐบาลแล้ว การกระทำเช่นนี้อาจจะนำไปสู่การประท้วง และอาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบดังกล่าว จะถูกต่อต้านและประท้วงตั้งแต่วันแรกของการเป็นรัฐบาล และภาวะเช่นนี้จะสร้างความมัวหมองให้กับระบบรัฐสภาไทยเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะเป็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าตอนเกิด “คะแนนเขย่ง” ในการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะยิ่งเป็นการทำลาย “ความชอบธรรม” ของตัวผู้นำและรัฐบาลใหม่เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ปัญหา “เสถียรภาพและความอยู่รอด” ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดของทุกรัฐบาล โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา จะเป็นปัญหา “ความเสี่ยงทางการเมือง” อย่างมาก และมักจะตามมาด้วยปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในตัวรัฐบาลเอง ดังจะเห็นจากอดีตว่า สื่อมวลชนในขณะนั้นเรียกค.ร.ม. ของอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “รัฐบาลร้อยพ่อ พันแม่” … รัฐบาลมีอายุจากเดือนมีนาคม 2518 จนถึงการประกาศยุบสภาในเดือนมกราคม 2519 เพราะไม่สามารถแบกรับการเมืองแบบเสียงข้างน้อยต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม “คึกฤทธิ์โมเดล” จะเป็น “ผลร้าย” ต่อระบบรัฐสภาไทยอย่างมาก เพราะปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลเอง ดังนั้น ถ้าใช้ฉายาจากสื่อในยุคนั้น รัฐบาลเสียงข้างน้อยในอนาคตอาจจะมีลักษณะเป็น “รัฐบาลร้อยงูเห่า กล้วยพันเครือ” กล่าวคือ ไม่ใช่ร้อยพ่อ พันแม่ หากเป็น “ร้อยงู พันเครือ” เพราะสุดท้ายแล้ว ความอยู่รอดของรัฐบาลเสียงข้างน้อยมีประการเดียว คือ ต้องพึ่งการยกมือของ สส. ในสภา อันอาจนำไปสู่การเปิด “ฟาร์มงูเห่า” ที่ต้องเลี้ยงด้วย “สวนกล้วย” ขนาดใหญ่!