สู่ ‘วันเปลี่ยนแปลง’

ช่วงยุบสภาใหม่ๆ ที่การหาเสียงเลือกตั้งที่แต่ละพรรคยังเพิ่งเริ่มต้นหาวิธีการที่เหมาะสมในการสร้างกระแสนิยมอย่างมีพลังได้ไม่ลงร่องนัก

นักวิเคราะห์ทั้งหลายประเมินว่า “พรรคก้าวไกล” น่าจะได้ ส.ส.ลดลง ด้วยการมองว่า

หนึ่ง เมื่อเป็นแบบ “บัตรสองใบ” พรรคก้าวไกลอาจจะมีความหวังที่ปาร์ตี้ลิสต์อยู่บ้าง แต่จะยากลำบากมากที่จะได้ ส.ส.เขต เมื่อผู้ชนะมีหนึ่งเดียว ทุกพื้นที่มีขาใหญ่ที่เป็นเจ้าของ และครั้งนี้เห็นชัดๆ ว่าจะมีการซื้อเสียงกันมโหฬาร

สอง ครั้งนี้ไม่มีคะแนนจากการถูกยุบของ “พรรคไทยรักษาชาติ” มาเป็นตัวช่วย

สาม ไม่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับปิยบุตร แสงกนกกุล” มาสร้างกระแสชูโรงให้เต็มที่

ตอนนั้นเชื่อกันว่าประมาณการ ส.ส.พรรคก้าวไกลน่าจะอยู่ที่ 30-40 เสียง

ซึ่งผลสำรวจของโพลต่างๆ ในช่วงแรกๆ ก็เป็นอย่างนั้น

แต่ถึงวันนี้ ทุกอย่างดูเปลี่ยนไป เหมือนกับปรากฏการณ์ “คนรุ่นใหม่” เดินหน้าท้าทายขนบเก่าได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นกระแสทะลักทลายบ่าท้นอย่างยากที่ใครจะหยุดยั้งได้

 

เมื่อการหาเสียงเลือกตั้งเข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนมองไม่เห็นแล้วว่าสนามเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่เวทีของ “พรรคก้าวไกล”

ทุกครั้งที่เปิดการปราศรัย ผู้คนแห่แหนกันมาฟังล้นหลาม ยึดครองสื่อโซเซียลทุกช่องทางให้แชร์จุดยืนแนวคิด “พรรคก้าวไกล” เป็นไวรัลสนั่นเมือง

ผลโพลของทุกสำนักค่อยๆ ขยับจากพรรคอันดับ 4-5 มาเป็นอันดับ 2

และถึงวันนี้ขึ้นมายืนหนึ่งในหลายโพล ที่เป็นโพลหลัก ไม่ได้มีภาพของโพลรับจ้างทำให้บางพรรคการเมืองไปแล้ว

อย่างผลสำรวจล่าสุดของ “มติชน-เดลินิวส์โพล ครั้งที่ 2”

คำถาม “สนับสนุนใครเป็นนายกฯ” ร้อยละ 49.17 เป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”, ร้อยละ 19.59 “แพทองธาร ชินวัตร”, ร้อยละ 15.54 “เศรษฐา ทวีสิน, ร้อยละ 6.52 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”, ร้อยละ 2.35 “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

คำถาม “เลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคใด” ร้อยละ 47.97 “ก้าวไกล”, ร้อยละ 35.78 “เพื่อไทย”, ร้อยละ 5.75 “รวมไทยสร้างชาติ”, ร้อยละ 2.69 “พลังประชารัฐ”, ร้อยละ 1.56 “ชาติพัฒนากล้า”

“ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคใด” ร้อยละ 50.29 “ก้าวไกล”, ร้อยละ 35.78 “เพื่อไทย”, ร้อยละ 5.75 “รวมไทยสร้างชาติ”, ร้อยละ 2.46 “พลังประชารัฐ”, ร้อยละ 1.60 “ชาติพัฒนากล้า”

 

ด้วยกระแสที่ดีวันทีคืน ทำให้เชื่อกันว่า “รัฐบาลชุดใหม่” จะจัดตั้งโดยฝั่งประชาธิปไตย

แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งคือการที่ประชาชนร่วมกันส่ง “พรรคก้าวไกล” เข้าไปบริหารประเทศ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ “มันจะเป็นไปได้อย่างไร”

ก่อนหน้านั้น ในแวดวงนักวิเคราะห์การเมืองทุกวงการ ต่างเชื่อกันว่า ที่ “ก้าวไกล” จะเดินได้ในเส้นทางการเมืองคือ “ฝ่ายค้าน”

“จะไม่มีพรรคไหนกล้าร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล”

แต่วันนี้ เกมเปลี่ยน พลิกมาเป็น “ในรัฐบาลใหม่ขึ้นอยู่กับก้าวไกลจะตัดพรรคไหนออก”

นักวิเคราะห์เริ่มมองกันแล้วว่านี่คือ “จุดแตกหักทางการเมือง”

แตกหักระหว่าง “อำนาจจากขนบเดิม” ที่ควบคุมโครงสร้างอำนาจ บงการการเมืองไทย กับ “อำนาจประชาชน” ที่ท้าทายทุกช่องทางที่มีโอกาส

“อำนาจประชาชน” อาจจะเดินหน้าไม่ได้ แต่ “อำนาจขนบเก่า” จะดำรงอยู่อย่างทุลักทุเลขึ้นเรื่อยๆ