พรรคคนรุ่นใหม่ ขวัญใจนักต่อสู้ | คำ ผกา

คำ ผกา

ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งสนุก

ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งลุ้นว่าประเทศไทยจะได้ออกจากวังวนของการบริหารงานโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียที

และฉันก็หวังว่า หลังเลือกตั้งเมื่อตื่นนอนมาทุกๆ เช้า ฉันจะเจอกับนายกฯ ที่พูดภาษาคนบ้าง ไม่ได้หวังสูงอะไรเลย

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งเวลางวดเข้ามายิ่งเห็นว่า พรรคการเมืองไทยในตอนนี้สามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

หนึ่ง พรรคที่มรดกของการรัฐประหารปี 2557 คือ พรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

สอง พรรคที่ไม่แสดงจุดยืนต้านรัฐประหาร อยู่กับใครก็ได้ ขอให้ได้เป็นรัฐบาล คือ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

สาม พรรคที่ไม่มีจุดยืนอะไรเลย และร่วมวงไพบูลย์กับเผด็จการเสมอมาคือ ประชาธิปัตย์

สี่ พรรคที่มีจุดยืนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ รัฐประหารชัดเจน คือ เพื่อไทย ก้าวไกล เพื่อชาติ ประชาชาติ และเสรีรวมไทย

 

พรรคชาติไทยพัฒนานั้นไม่มีอะไรให้พูดถึงมากนักเพราะมีฐานเสียงที่ชัดเจน

วางจุดยืนของตัวเองเป็นพรรคตัวแทนจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง

ส่วนพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่แทบจะปักพื้นที่และนับตัวเลขในมือไว้แล้วว่าจะกวาด ส.ส.ได้กี่ที่นั่งจากจุดยืน “ใจถึงพึ่งได้ พูดแล้วทำจริง” เป็นสัญญาใจที่ทำไว้กับพื้นที่ของภูมิใจจนยากที่ใครจะไปขอแบ่ง

พร้อมไปกับการไม่ประกาศจุดยืนทางอุดมการณ์แค่บอกว่า “เคารพเสียงข้างมาก ให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล” ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปดราม่ากับใคร

ที่น่ากังวลคือพลังประชารัฐ แม้จะมีจำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ชัวร์ๆ อยู่ในมือแล้วแน่นอน

แต่กระแสของประวิตร วงษ์สุวรรณ แผ่วจนน่าใจหาย แผ่วในระดับเดียวกับ สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ตอนลงเลือกตั้ง

ไม่ได้แผ่วแค่ประวิตร และทีมงานทั้งหมดก็พากันแผ่ว ในเวทีดีเบต มีตัวตึงตั้งหลายคน แต่ก็ไม่ส่งตัวตึงไปดึงคะแนนเลย ไม่ว่าจะเป็น นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, อุตตม สาวนายน ทีมเศรษฐกิจที่ว่าแข็งๆ กลับเก็บตัวจำศีลเงียบ จนไม่แน่ใจว่ายังทำงานกับพลังประชารัฐอยู่หรือเปล่า หรือเอาขวัญใจสายคอนเซอร์เวทีฟ ที่เป็นชนชั้นกลาง อย่างสกลธี ภัททิยกุล ออกมาดีเบตบ้าง เราก็ไม่ได้เห็นภาพนั้น

และคนที่ออกสื่อมาที่สุดของพลังประชารัฐกลับเป็นไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ไม่ได้มีจุดขายอะไรที่โดดเด่นเลย ส่วนตัวตึงอีกคนของพลังประชารัฐคือ ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เต็มไปด้วยมลทิน ความด่างพร้อยจนทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสเดอร์ให้พรรคไม่ได้อีกต่อไป มากที่สุดแค่ตรึงพื้นที่พะเยาเอาไว้ให้ได้ แม้พลังประชารัฐจะมีจำนวน ส.ส.ในมือแบบไม่ขี้เหร่

แต่ถ้าความนิยมของประวิตรไม่มาเลย จำนวน ส.ส.นี้ก็ไม่มีประโยชน์

เพราะหากต้องหลีกทางให้คนอื่นเป็นนายกฯ โอกาสที่ ส.ส.ของพรรคจะถูกดูดไปอยู่กับพรรคอื่น น่าจะสูง

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าแฟนพันธุ์ของประยุทธ์ เมื่อคิดสะระตะออกมาแล้วจะเหลือกี่คน

แต่พรรคนี้ไม่ได้หวังจำนวน ส.ส.อะไรมากมาย ขอแค่ 25 คนก็จะใช้อภินิหารต่างๆ ส่งประยุทธ์ไปเป็นนายกฯ ยื้อได้อีกอย่างน้อย 2 ปี

คำถามเหลือแค่ ทำอย่างไรจะให้ได้ 25 คน ก็คงหวังปาฏิหาริย์จากสิ่งลี้ลับอันมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้นกระมัง

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ตกกระป๋องอย่างแท้ทรู เพราะศัตรูเยอะ เรื่องกัญชาก็ฝากแผลไว้กับภูมิใจไทย บนเวทีปราศรัยก็ด่าประยุทธ์รัวๆ คงทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากเจียมตัวขอพ่วงๆ ไปกับคนอื่นเขา แล้วแต่ว่าใครจะเมตตาให้อภัย

แต่พรรคฝั่งประชาธิปไตย เหมือนเห็นตรงกันว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวเลือกเลยโดยสิ้นเชิง อยู่นอกสมการไปเลยโดยสิ้นเชิง

 

การเลือกตั้งปี 2566 จึงสนุกมากตรงที่มันจะเป็นการขับเคี่ยวกันของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมสูงมากทั้งสองพรรคคือ เพื่อไทย กับ ก้าวไกล

และอาจพูดได้ว่า ตอนนี้ที่แข่งกันดุเดือดที่สุดคือแข่งระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล เนื่องจากมีจุดยืนทางอุดมการณ์เหมือนกันจึงแย่งฐานเสียงที่มีอยู่ร่วมกัน และแน่นอนว่า ไม่มีใครยอมใคร

เพื่อไทยมีความได้เปรียบตรงที่เป็นพรรคใหญ่

มีประสบการณ์และผลงานที่เคยเป็นรัฐบาลมาแล้วหลายสมัยการันตีว่า เป็นพรรคการเมืองเดียวที่เมื่อขึ้นเป็นรัฐบาลแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง สั่นสะเทือนเชิงโครงสร้างจริงๆ เพราะถ้าไม่สั่นสะเทือนถึงโครงสร้างคงไม่ถูกรัฐประหารไปถึงสองครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี

ส่วนพรรคก้าวไกล มีความได้เปรียบตรงที่ภาพลักษณ์และบุคลากรในพรรคมีความ “สดใหม่” พูดจาฉะฉาน เข้าหูคนรุ่นใหม่ เพราะฟังแล้วรู้สึกว่า กระชับ ฉับไว เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม

เสนอนโยบายโดนใจ เช่น รัฐสวัสดิการ แก้ไข ม.112 คนรุ่นใหม่ อายุไม่ถึง 20 หรือยี่สิบต้นๆ ก็ตื่นเต้นว่า พรรคนี้ทำให้เรื่อง 112 ถูกนำมาพูดในสื่อได้เป็นเรื่องปกติ นี่คือความสำเร็จในการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล

หรือเรื่องสุราก้าวหน้า ทั้งๆ ที่พรรคไทยรักไทย ทำเรื่องสุราเสรี จนกลายเป็นโอท็อป สร้างรายได้มหาศาลให้ท้องถิ่น แต่คำว่า “ก้าวหน้า” มันก็ทัชใจกว่าคำว่า “เหล้าพื้นบาน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ของไทยรักไทย

หรือการผลักดันเรื่องสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่เจ้าภาพเรื่องนี้คือประชาธิปัตย์ที่ทำมานมนานมาก รัชดา ธนาดิเรก คงเซ็ง ว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้มานานแสนนาน แต่กลายเป็นว่า เมื่อพูดถึง “สมรสเท่าเทียม” ทุกคนพูดถึงก้าวไกล

ฉันกำลังจะบอกว่า จุดแข็งของพรรคก้าวไกลตอนนี้คือเป็นพรรคที่ “ขึ้นกล้อง” ถ้าประกวดนางงามต้องได้รางวัลขวัญใจช่างภาพแน่ๆ เป็นพรรคที่ “สื่อ” รัก และเป็นบ่อเงินบ่อทองทั้งในการสร้างเรตติ้ง และช่วยสื่อหลายสื่อ “รีแบรนด์” ตัวเองขึ้นมาใหม่ได้

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อกระแสหลักเกือบทุกสื่อในไทยไม่เคยอยู่ข้างประชาธิปไตย และสนับสนุนเผด็จการอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาโดยตลอด

มีแต่มติชนฯ และสื่อในเครือที่เข้าข้างเสื้อแดง และฝั่งประชาธิปไตยชัดเจนมาตลอด และวอยซ์ทีวีที่เป็นปากเสียงให้คนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยที่โดนทำรัฐประหารก็เป็น “ช่องของชินวัตร” ถูกตราหน้าว่าเป็นสื่อปลอมอะไรกันไปจนปัจจุบันมีคนติดตามเกือบห้าล้านคน

แต่หลังจากอยู่กับประยุทธ์มา 8 ปี เป็น 8 สื่อเจ๊งไปครึ่งประเทศ ที่เหลือก็ต้องปรับตัวกันไป พร้อมๆ กับมีสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ เกิดขึ้นหลายสำนัก ถึงเวลาต้องหันหัวมาต้านเผด็จการ โปรโมตประชาธิปไตย พรรคก้าวไกลจึงเป็นตะกร้าล้างน้ำให้สื่อเหล่านี้ได้ดีที่สุดในการประกาศตัวเองว่า “ฉันไม่ใช่สลิ่ม”

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า สื่อหลายสำนัก พิธีกรที่อยากจะเฟี้ยว พอเลี้ยวมารักก้าวไกล ก็จะได้แขวนป้ายเป็น “คนประชาธิปไตย” ไม่ใช่ประชาธิปไตยธรรมดา แต่เป็นประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า ไม่เชย ไม่แก่ ไม่บูมเมอร์ ไม่บ้านใหญ่ แบบเพื่อไทยนะเธอว์

มองโดย “กระแส” จึงดูเหมือนว่า ก้าวไกลมาแรง และภาพที่สามย่านมิตรทาวน์ ก็ตอกย้ำภาพพรรครุ่นใหม่ที่พรรคคนคุณภาพ พรรคที่ตอบโจทย์สร้างความเปลี่ยนแปลง

ส่งให้กลายเป็นภาพจำว่า

พรรคเพื่อไทย = เก่า

พรรคก้าวไกล = ใหม่

แต่คำถามคือ “ภาพลักษณ์” นี้จะแปรไปเป็นคะแนนเสียงได้มากน้อยแค่ไหน?

และภาพลักษณ์นี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ดูได้จากนโยบายของพรรค

 

พรรคก้าวไกลเสนอเรื่อง รัฐสวัสดิการ ที่บอกว่าจะไปเกลี่ยเอางบฯ กองทัพมา หรือจะทำเงินเดือนผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท หากมองในแง่ของงบฯ ที่ต้องใช้ ที่เรามีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน เท่ากับเป็นเงินถึง 4.3 แสนล้านบาท และงบฯ ตรงนี้ต้องเพิ่มทุกปี ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เงินส่วนไหนมาทำสวัสดิการตรงนี้

ก้าวไกลหาเสียงจากจุดยืน “แก้ปัญหาที่โครงสร้าง” เพราะ “การเมืองดี ปากท้องถึงจะดี” ดังนั้น จึงเน้นไปที่การปฏิรูปกองทัพ การพุ่งเป้าไปที่มาตรา 112 โดยอ้างอิงเรื่อง “ช้างตัวใหญ่ในห้อง” ต้องเอาช้างออกจากห้องก่อน ถึงจะแก้ปัญหาได้

ส่วนเพื่อไทยบอกว่าขอแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน ตอนนี้ประชาชนลำบากจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาพจำว่า “เพื่อไทยสนใจแต่ปัญหาปากท้อง ไม่แตะโครงสร้าง” และมีนัยของการ “ฮั้ว” หรือ “เกี้ยเซี้ย”

แต่หากส่องมาที่นโยบายเพื่อไทยที่วางเป้าหมายสูงสุดว่า

หนึ่ง ยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รายได้สูง

สอง จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงต้องเดินสามขา คือ ยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้นสามเท่า, ทำดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อให้จีดีพีแตะที่ร้อยละ 5, ดิจิทัลวอลเล็ต พาคนไทยตั้งแต่อายุ 16 ปี เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ในอนาคตจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วขึ้น 2.5 เท่า

สาม ปิดท้ายด้วยนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปลดปล่อยพลัง ปลอดปล่อยเสรีภาพให้กับสายงานสร้างสรรค์ ทั้งหนังสือ ศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ งานคราฟต์ อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ และสิ่งที่จะแบ๊กอัพเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าคือ การยกระดับคุณภาพและบริการของสามสิบบาทรักษาทุกโรค

สำหรับสิ่งนี้คือรูปธรรมของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังไม่นับเรื่องที่จะให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 100 วัน

แต่อย่าลืมว่า ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือขบวนการปฏิวัติ ที่นึกอยากจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนได้ตามจินตนาการ แต่ต้องใช้กลไกสภา ในการอภิปราย ต่อรอง และรับรอง ความเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาจะให้เกิด

สำคัญที่สุดอำนาจทางเศรษฐกิจคือที่มาของอำนาจทางการเมืองของประชาชน อำนาจทางเศรษฐกิจคืออำนาจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สิ่งแรกที่รัฐบาลเผด็จการทำเมื่อเข้าสู่อำนาจคือ ทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนอ่อนแอ

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเข้ามาซ่อมแซม เสริมพลังตรงนี้ให้กับประชาชนเป็นเบื้องแรก

และทำอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดลอยๆ ว่า “ต่อสู้กับทุนใหญ่”

 

เราผ่านการต่อสู้จนพรรคการเมืองฝั่ง “จารีต” อ่อนแอลงแล้ว

การเลือกตั้งนี้คือการประลองกำลังกันระหว่างพรรคประชาธิปไตยที่ “ขึ้นกล้อง” เป็นขวัญใจ “สื่อมวลชน” กับพรรคที่ทำการบ้านทางนโยบายมาดีเยี่ยม แต่พยายามปรับลุคให้โดนใจคนรุ่นใหม่

แต่ยังโดนขนาบจากพลังจารีตเฟสหนึ่งเรื่อง “ผีทักษิณ” และโดนพลังคลื่นลูกใหม่ประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างแปะป้ายว่าเป็นพรรค “บูมเมอร์”

ฉันเองก็อยากรู้ว่า คนไทยจะเลือกอะไร?