แมลงวันปรสิต กับกลยุทธ์จีบหญิงของจิ้งหรีดใบ้

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

แมลงวันปรสิต

กับกลยุทธ์จีบหญิงของจิ้งหรีดใบ้

 

ของขวัญอันหอมหวานอาจดึงดูดสาวงาม ในกรณีของแมลงสาบ (และบางคน) เสียงเพลงอันกังวานไพเราะก็เช่นกันสำหรับจิ้งหรีด!

ถ้าเปรียบ จิ้งหรีดก็เป็นเหมือนนักดนตรีแห่งพงไพร มโหรีประสานเสียง “กริ๊ก กรี๊ก กริ๊ก” ที่พวกมันร่วมกันขับขานในยามราตรีนั้นมิต่างไปจากเสียงคอรัสแห่งผืนป่า

เป็นเสียงที่ฟังเมื่อไร ก็สบายใจ เหมือนได้เข้าถึงธรรมชาติ ยกเว้นเวลาที่มันหลงเข้ามาอยู่ในบ้าน หรือห้องนอน และต้องไล่ตามจับออกไปทิ้ง อันนี้อาจไม่ได้นอน

“สิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก็คือ ในมุมของจิ้งหรีด การร้องเพลงคือทุกสิ่งในชีวิตของพวกมัน อย่างน้อยก็สำหรับจิ้งหรีดตัวผู้ นี่คือสิ่งที่มันต้องทำ ไม่ใช่เพื่อการอวดโฉม หรือว่าอยากจะทรมานคุณในห้องนอน แต่เพราะว่านั่นคือวิถีทางเดียวที่จะทำให้มันมีโอกาสได้ผสมพันธุ์ และสร้างเบบี้จิ้งหรีดขึ้นมา” มาร์ลีน ซูค (Marlene Zuk) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์ (University of California Riverside) ผู้ติดตามศึกษาจิ้งหรีดมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษกล่าว

“นั่นคือทางเดียวจริงๆ ที่จิ้งหรีดหนุ่มจะได้พบกับจิ้งหรีดสาวเพื่อร่วมหอลงโรง เพราะว่าพวกมันมักจะออกมาแค่ในยามค่ำคืน ทุกอย่างมืดมิด มองอะไรก็ไม่เห็น หนุ่มสาวจะตามหากันเจอได้ก็จากเสียงเพลงของเขาเท่านั้น

ภาพปีกของจิ้งหรีดปกติ เทียบกับจิ้งหรีดใบ้จากเกาะคาไว และโอวาฮู (ภาพโดย Nathan Bailey)

ในราวๆ ปี 1991 มาร์ลีนเฝ้าติดตามศึกษาประชากรจิ้งหรีดบนเกาะคาไว (Kauai island) ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดเกาะหลักของหมู่เกาะฮาวาย ในตอนนั้น เสียงเพลงแห่งพงไพรจากวงมโหรีตจิ้งหรีดหนุ่มยังคงดังกึกก้องดังไปทั่วผืนป่า

ทว่า เสียงขับขานที่เป็นเอกลักษณ์ของเหล่าจิ้งหรีดตัวผู้ กลับไม่ได้ดึงดูดแค่เพียงจิ้งหรีดสาวให้มาผสมพันธุ์ แต่ยังยวนยั่วแมลงวันปรสิตให้มาวางไข่ (ในตัวมัน) อีกด้วย!!

หลังจากที่เข้าไปอยู่ในร่างของจิ้งหรีด หนอนแมลงวันจะฟักออกมาแล้วสวาปามไขมันสะสมและอวัยวะภายในทั้งหมดของจิ้งหรีดที่เป็นเหยื่อจนแทบไม่เหลือหลอในระยะเวลาแค่เพียงสัปดาห์เดียว

จิ้งหรีดที่โดนปรสิตยึดร่างจะมิต่างอะไรกับจิ้งหรีดซอมบี้ที่ได้แต่ยื้อยุด รอวันเวลาที่หนอนแมลงวันข้างในจะระเบิดร่างที่ไร้อวัยวะของมันออกมา

ในช่วงปลายยุค 90s แมลงวันปรสิตเริ่มระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าหนึ่งในสามของจิ้งหรีดบนเกาะคาไว โดนแมลงวันปรสิตเข้ารุกราน และแล้ว เสียงจิ้งหรีดแห่งเกาะคาไวก็เริ่มจางหายไปอย่างช้าๆ

นั่นทำให้มาร์ลีนเริ่มกังวลใจ ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คิดว่าอีกไม่นานประชากรนักร้องประสานเสียงตัวจ้อยแห่งเกาะคาไวคงไม่เหลือ

ในที่สุด ในปี 2003 เสียงคอรัสแห่งผืนป่าคาไวในยามราตรีก็ได้สูญหายไปจนแทบหมดสิ้น “ทว่า ประชากรจิ้งหรีดยังคงอยู่” มาร์ลีนเล่า “ที่จริง พวกมันมีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตเสียด้วยซ้ำ แต่กลับอยู่กันอย่างนิ่งเงียบ ไร้สรรพเสียง”

เสียงของจิ้งหรีดจะเกิดขึ้นจากโครงสร้างจำเพาะบนปีกของพวกมัน โดยที่บริเวณขอบปีกจะมีสันนูนขึ้นมาเรียกว่าสเครปเปอร์ (scraper) และบนเส้นปีก (vein) จะมีโครงสร้างที่เหมือนซี่หวี (files) เวลาที่พวกมันใช้ปีกถูกันไปมา โครงสร้างพวกนี้จะทำให้เกิดเสียง

“แบบเดียวกับเวลาที่เราเอาเล็บรูดผ่านซี่หวีนั่นแหละ” นาธาน ไบเลย์ (Nathan Bailey) จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (The University of St Andrews) กล่าว

แต่คำถามที่มาร์ลีนสงสัยก็คือที่จิ้งหรีดไม่ยอมร้องนั้นเพราะว่ากลัวแมลงวันจะหาเจอ หรือว่าที่จริงแล้วพวกมัน สูญเสียความสามารถในการร้องเพลงไปแล้วกันแน่

เธอจับจิ้งหรีดมากมายบนเกาะคาไวมาศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียด และพบว่าปีกของจิ้งหรีดรุ่นใหม่ๆ บนเกาะนั้นมีโครงสร้างที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ซี่หวีก็เหลือแค่น้อยนิด แถมยังเอียงผิดรูปไปด้วย

ที่สำคัญ ปีกที่เคยนูนเป็นสัน กลับแบนราบเรียบราวกับไม้กระดาน เธอเรียกจิ้งหรีดกลายพันธุ์พวกนี้ว่า flatwing

สเครปเปอร์ก็ไม่มี แถมซี่ฟันก็หลอไปจนเกือบหมด จิ้งหรีดพวกนี้ไม่ได้ไม่อยากร้องหาคู่ แต่พวกมันกรีดปีกยังไงก็ไม่มีเสียงดังออกมา ชัดเจนว่าพวกมันเป็นใบ้ไปหมดแล้ว!

อ้าว! แล้วจะนัดเดตสาวกันยังไง ตัวก็ไม่เห็น เสียงก็ไม่ได้ยิน

 

“จิ้งหรีดใบ้บางตัวอาจจะใช้วิธีตามเสียงตัวผู้ตัวอื่นที่ร้องหาคู่ได้ แล้วคอยเก็บตกเอาสาวเจ้าที่ผิดหวังแถวๆ นั้น” มาร์ลีนคาดเดา “แต่ก็ไม่แน่พวกมันอาจจะเดินวนไปวนมา จนหากันเจอเอง ก็อาจเป็นได้เหมือนกัน”

แน่นอนว่าจิ้งหรีดตัวเมียส่วนใหญ่ก็จะนิยมชมชอบจิ้งหรีดหนุ่มเสียงใส ใครจะไปชอบจิ้งหรีดใบ้ แต่จะว่าไป ชีวิตบางทีมันก็เลือกไม่ได้ เพราะในสถานการณ์ที่แมลงวันปรสิตชุกชุม จิ้งหรีดหนุ่มเสียงใสก็จะค่อยๆ กลายเป็นตู้ฟักไข่เคลื่อนที่ให้แมลงวัน แต่จิ้งหรีดกลายพันธุ์ที่เป็นใบ้กลับอยู่รอดปลอดภัย ไร้แมลงวันมารังควาน

ถึงแม้สาวเจ้าอาจจะไม่ได้ชื่นชมนิยมหนุ่มใบ้ แต่ถ้าไม่เหลือชอยส์อะไร บางทีก็คงต้องจิ้มๆ มา ท้ายที่สุด จิ้งหรีดกลายพันธุ์ก็เลยกระจายเต็มเกาะ ในขณะที่จิ้งหรีดเสียงไพเราะ ก็เป็นที่บ่มเพาะหนอนแมลงวันจนแทบไม่เหลือ

“ที่เราเห็นอยู่กับตา คือการเดิมพันที่ซับซ้อน ถ้าคุณคือชายหนุ่มที่สงบเงียบ คุณก็จะมีโอกาสมีคู่ครองลดลง แต่จะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น แต่ถ้าคุณร้องเพลง คุณก็จะเป็นที่ดึงดูดใจของทั้งสาวจิ้งหรีดและสาวปรสิต” เจน บร๊อกแมนน์ (Jane Brockmann) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา เกนส์วิลล์ (University of Florida at Gainesville) อธิบาย

 

วิวัฒนาการแห่งจิ้งหรีดใบ้นี้ เกิดขึ้นมาภายในไม่ถึง 20 รุ่นของจิ้งหรีด ซึ่งถือว่าเร็วมากจนน่าตกใจ นี่คือวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น แบบที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา มาร์ลีนและนักชีววิทยาอีกโขยงใหญ่จึงตื่นเต้นมากกับการค้นพบนี้

สองปีต่อมา สถานการณ์แบบเดียวกันเป๊ะก็เกิดขึ้นบนเกาะโอวาฮู หนึ่งในเกาะที่ใหญ่ที่สุด (เป็นอันดับสาม) ในหมู่เกาะฮาวาย ใกล้ๆ เกาะคาไว ด้วยการก่อกวนของแมลงวันปรสิต จิ้งหรีดหนุ่มบนเกาะโอวาฮูเกือบครึ่งเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นจิ้งหรีดสายสุขุม นิ่งเงียบ ร้องไม่ออกเหมือนกันกับพวกจิ้งหรีดที่เกาะคาไว

เป็นไปได้ไหมว่าจะมีจิ้งหรีดแห่งเกาะคาไวอพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาจนถึงเกาะโอวาฮู แล้วเริ่มขยายเผ่าพันธุ์ยึดครองดินแดนแห่งโอวาฮู เพราะเกาะสองเกาะนั้นอยู่ห่างกันแค่ราวๆ 100 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

ทีมวิจัยของนาธานเริ่มสำรวจจิ้งหรีดใบ้จากเกาะโอวาฮู พวกเขาเผยว่าแค่มองด้วยตาเปล่า ก็เห็นได้แล้วว่าโครงสร้างปีกมันเปลี่ยนไป แต่ที่น่าสนใจที่สุด ก็คือปีกของจิ้งหรีดใบ้ที่พบที่โอวาฮู แม้จะแบนราบ เป็น flatwing เหมือนกัน แต่โครงสร้างโดยรวมนั้นกลับไม่เหมือนปีกของพวก flatwing จากเกาะคาไว

จิ้งหรีดใบ้ พวกนี้ปรากฏขึ้นมาแทบจะในเวลาเดียวกันเลยบนเกาะสองเกาะ ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กัน นี่คือการวิวัฒนาการที่เกิดคู่ขนานกันไปแบบคอนเวอร์เจนต์ในธรรมชาติที่เห็นได้ด้วยตา เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในเชิงวิวัฒนาการ

“เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจ” นาธานกล่าว “มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าวิวัฒนาการนั้นเกิดได้แค่ในชั่วพริบตา แต่หลักฐานเหล่านั้นมักมาจากการศึกษาในห้องทดลองที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ง่ายกว่า”

แต่วิวัฒนาการของจิ้งหรีดนี้ เกิดขึ้นให้เห็นกันอย่างชัดเจนในธรรมชาติ!

 

แม้ผลของการกลายพันธุ์ ลักษณะปีก และแบบแผนบนปีกจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ถ้ามองในแง่กลยุทธ์ จิ้งหรีดจากทั้งสองเกาะวิวัฒนาการออกเพื่อการอยู่รอด หลบแมลงวันด้วยกลยุทธ์เดียวกันเป๊ะๆ จึงทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่าจะในกรณีแบบนี้ที่แรงคัดเลือกเป็นการระบาดของแมลงวันปรสิต การกลายพันธุ์จนเป็นใบ้คือคำตอบสุดท้ายคำตอบเดียวเท่านั้นหรือเปล่าสำหรับจิ้งหรีด?

คำตอบคือไม่! กลยุทธ์ที่วิวัฒน์ขึ้นมาใหม่เกิดขึ้นแบบสุ่ม คุณสมบัติอะไรก็ตามที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อยู่รอดและสืบพันธุ์ก็จะยังดำเนินต่อไป

ในขณะที่ลักษณะที่มีแล้ว เสียประโยชน์ก็จะค่อยๆ ถูกคัดเลือกหายไปเอง ในกรณีนี้ การกลายพันธุ์เป็นใบ้ แม้จะได้ประโยชน์ในการหลบเลี่ยงปรสิต แต่ก็เสียเปรียบอย่างหนักในแง่ของการหาคู่

แต่ถ้ามองสถานการณ์ทั้งที่เกาะคาไวและโอวาฮู ที่การระบาดของแมลงวันนั้นหนักหน่วง การกลายพันธุ์จนเป็นใบ้ที่ดูค่อนข้างจะเอ็กซ์ตรีมอาจจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุด แต่สถานการณ์นั้นต่างไปในฟลอริดาที่การระบาดของแมลงวันปรสิตจะมาเป็นระลอกๆ ตามฤดูกาลโดยจะระบาดหนักในฤดูใบไม้ร่วง แต่แทบจะไม่พบเลยในฤดูใบไม้ผลิ

ทีมของเจนจับจิ้งหรีดมาทดลองในห้องทดลองของเธอในฟลอริดา ในฤดูใบไม้ผลิ (ที่ไม่มีแมลงวันระบาด) จิ้งหรีดหนุ่มส่วนใหญ่กว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ที่จับมาได้จะส่งเสียงใสๆ กรีดร้องเกี้ยวพาราสีจิ้งหรีดสาว แต่ถ้าเป็นฤดูใบไม้ร่วง (ที่มีโอกาสเจอแมลงวันก่อกวน) จิ้งหรีดหนุ่มเกินครึ่งจะดูสงบเสงี่ยมอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยส่งเสียงอะไรออกมา

ในกรณีของจิ้งหรีดตัวเมียก็ไม่ต่างกัน จิ้งหรีดสาวจะมีความอยากสละโสดมากกว่าในช่วงฤดูใบไม้ผลิ “ในนาทีที่พวกเธอได้ยินเสียงเรียกจากหนุ่มๆ พวกเธอแทบจะแข่งกันกระโจนเข้าหาเจ้าของเสียงในทันที” เจนกล่าว ในขณะที่สาวจากฤดูใบไม้ร่วงดูจะมีความรักนวลสงวนตัวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด พวกเธออ้อยอิ่งดูเชิงอยู่นานว่าจะเข้าหรือไม่เข้าหาจิ้งหรีดหนุ่ม เป็นไปได้ว่าพวกมันกำลังพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้ตัวมันเองนั้นตกไปเป็นเป้าของเจ้าแมลงวันปรสิต”

สถานการณ์ต่างกัน กลยุทธ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหาก็ต้องต่างกัน…การวางกลยุทธ์ทุกอย่างต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงจะประสบผล…

แม้แต่การผสมพันธุ์ (ของจิ้งหรีด)…!