นงนุช สิงหเดชะ / “โซเชียล” พ่นพิษ ควรโทษตัวเองหรือคนอื่น

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

“โซเชียล” พ่นพิษ ควรโทษตัวเองหรือคนอื่น

แม้จะมีการรณรงค์กฎกติกา ข้อควรปฏิบัติในการใช้โซเชียลมีเดีย ว่า “มีสติ-คิด” ก่อนแชร์ก่อนโพสต์

แต่ดูเหมือนคนจำนวนมากจะไม่ค่อยตระหนักหรือปฏิบัติตาม

ซึ่งหากเป็นกรณีคนธรรมดาทั่วไปก็คงไม่เกิดเรื่องราวใหญ่โต

แต่ถ้าหากเป็นคนดังแล้วละก็หากโพสต์หรือแชร์ในประเด็นอ่อนไหวของสังคมอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มักจะมีข่าวเกิดขึ้นเสมอ

โซเชียลมีเดียนั้นให้เสรีภาพแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนเสมือนมีสื่อเป็นของตัวเอง (เหมือนมีหนังสือพิมพ์หรือทีวีเป็นของตัวเอง)

และเนื่องจากมันเป็นสื่อยุคใหม่ที่อานุภาพการแพร่กระจายกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งกว่าสื่อแบบเดิม

ดังนั้น ผลสะท้อนที่กลับมาหาเจ้าตัวที่เป็นผู้ใช้สื่อจึงรวดเร็วและกว้างขวางเช่นกัน

ทุกคนมักอ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัว

แต่เมื่อถูกคนในสังคมโซเชียลโต้ตอบกลับมาในทางลบหรือไม่เห็นด้วย เจ้าตัวก็มักจะโอดครวญว่าถูกกระทำ หรือชอบสร้างวาทกรรมว่าอีกฝ่ายไม่ยอมรับความเห็นต่าง

โดยที่ไม่ยอมรับว่าคนที่ตอบโต้กลับมาเขาก็มีสิทธิเสรีภาพเช่นกัน

และเหตุที่เขาตอบโต้ก็เพราะเขาเห็นต่างจากเรานั่นเอง (ความเห็นต่างของคุณถูกคนอื่นเห็นต่างอีกที)

ดังนั้น หากเป็นคนที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย เป็นชีวิตจิตใจ ชอบโพสต์ชอบแชร์แบบไม่คิดทบทวนให้ดี ก็ต้องทำใจกว้างให้ยอมรับผลลัพธ์ทั้งสองทาง

จะเอาแต่ด้านบวกหรือด้านที่ตัวเองถูกใจไม่ได้

ส่วนหากเป็นกรณีร้ายแรง เข้าขั้นหมิ่นประมาท ใส่ความเท็จ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เสียหายก็มีสิทธิดำเนินคดีทางกฎหมาย

ตัวอย่างของโซเชียลเป็นพิษล่าสุด ก็คือกรณีเกี่ยวเนื่องกับการวิ่งมาราธอนของ ตูน บอดี้สแลม เพื่อหาเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่มีอดีตอาจารย์ชื่อดังคนหนึ่งได้แชร์ข้อความของผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Sujane Kanparit ไปยังหน้าเฟซบุ๊กของตน พร้อมกับเขียนหัวข้อบนเฟซบุ๊กของตนเสริมว่า What a beautiful world (โลกสวยอะไรเช่นนี้) ซึ่งหลายคนมองว่าประโยคนี้เจตนากระแหนะกระแหนตูน

ข้อความในเฟซบุ๊กของ Sujane แสดงอาการตำหนิและหงุดหงิดตูนว่า การวิ่งของตูนช่วยกลบปัญหาให้รัฐบาลทหาร รับใช้พวกสลิ่มในทุ่งลาเวนเดอร์ไปวันๆ…ตูนโง่ ไม่รู้หรือว่าต้องไปขอเงิน (งบฯ ซื้ออุปกรณ์การแพทย์) จากใคร วิ่งจนตายก็แก้ปัญหาไม่ได้… “ใครอยากจ่ายให้พี่ตูนตามสบายนะครับ แต่ในสภาพนี้อย่าว่าแต่สิบบาทเลย พี่ตูนจะไม่ได้เงินจากผมแม้แต่บาทเดียว”

เสร็จแล้วก็มีอีกเพจหนึ่งนำสิ่งที่อาจารย์คนนั้นแชร์มาจาก Sujane ไปเผยแพร่ต่อ

แต่ (คาดว่า) คงเข้าใจผิดว่าอาจารย์ผู้นั้นเป็นคนเขียนข้อความนั้นเอง (พี่ตูนจะไม่ได้เงินจากผมแม้แต่บาทเดียว) เนื่องจากมีการก๊อบปี้และแชร์หลายทอด จึงมีการนำข้อความของ Sujane ไปใส่เข้ากับหน้าของอาจารย์ผู้นั้นแล้วเผยแพร่บนเพจของตน ทำให้มีผู้ติดตามเพจเข้าใจว่าอาจารย์ผู้นั้นเป็นผู้กล่าวคำพูดของ Sujane อาจารย์ผู้นั้นจึงถูกถล่มหนัก

ทำให้ลูกศิษย์ของอาจารย์ผู้นี้เดือดร้อนแทนและไปดำเนินการแจ้งความกับเจ้าของเพจในข้อหาความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ในที่สุดเจ้าของเพจได้ออกมาขอโทษและยอมรับว่าผิดพลาดไม่ได้ตรวจสอบให้ดี

ฝ่ายที่สนับสนุนอาจารย์ผู้นั้นได้พากันออกมาแสดงความเห็นว่ามีสื่อบางแห่งพยายามจะนำการคอมเมนต์เรื่องตูนไปโยงกับสีเสื้อและการเมือง พยายามเอาเสื้อแดงไปสวมให้กับอาจารย์ผู้นี้

ส่วนอาจารย์ผู้นั้น ก็ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากเกิดเรื่องว่า ตนไม่ได้พูด ไม่ได้เขียน การทำกุศลเป็นสากล มีทุกศาสนา การนำเรื่องบุญทานไปเป็นการเมืองจนเกินเลย เป็นเรื่องหยาบช้าสามานย์ ตนออกจะชื่นชมตูนที่สร้างกระแสบวกได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาว่า ถึงแม้อาจารย์ผู้นี้ไม่ได้เขียนข้อความที่เป็นปัญหานั้นโดยตรง แต่การที่นำข้อความของ Sujane ไปแชร์บนหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง ย่อมทำให้ฝ่ายตรงข้ามตีความได้ว่าอาจารย์ผู้นั้นเห็นด้วยและชื่นชอบข้อความของ Sujane คือเมื่อต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน (ไม่ได้เงินจากผมสักบาท+โลกสวยอะไรอย่างนี้) ก็ชวนให้เข้าใจว่าสองคนนี้รับลูกกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย

อาจารย์ผู้นี้บอกว่าการนำเรื่องกุศลไปเป็นการเมืองจนเกินเลยเป็นเรื่องหยาบช้า แต่อย่าลืมว่าข้อความของ Sujane ที่อาจารย์นำไปแชร์นั้น “อัดแน่น” ไปด้วยการเมือง เห็นได้จากข้อความ “กลบปัญหาให้รัฐบาลทหาร ตอบสนองพวกสลิ่มในทุ่งลาเวนเดอร์” ซึ่งชัดว่า Sujane นำเอาความชอบ-ชังทางการเมืองและสีเสื้อมาเป็นหลักในการแสดงความเห็นในงานกุศล

คำถามคือทำไมการที่ Sujane (ซึ่งถูกมองเป็นพวกเสื้อแดง) นำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับการทำดีและกุศล เป็นเรื่องไม่ผิดในสายตาคนบางกลุ่มที่สนับสนุน Sujane และอาจารย์ แต่พอฝ่ายตรงข้ามซัดกลับว่า Sujane เป็นเสื้อแดง หรือบอกว่าอาจารย์ท่านนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกับเสื้อแดงและนำอคติทางการเมืองมาโยงกับการทำกุศล ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องผิดร้ายแรงไปได้ทั้งที่ประเด็นไม่ต่างกันเลย

การที่อาจารย์ผู้นั้นแชร์ข้อความของคนอื่น ก็อาจไม่ต่างอะไรจากการอาศัยปากคนอื่นพูดแทนตัวเอง (เป็นเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างเขียนเองกับยืมคำพูดคนอื่นมาแทนความนึกคิด) และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้พูดผู้เขียนเสียเอง เพราะโลกโซเชียลนั้นหมุนเร็ว ใจเร็ว มือเร็ว ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ผู้อ่านจะไม่เห็นหนังสือตัวเล็กๆ ว่า คนชื่อนี้ (ชื่อเจ้าของเฟซบุ๊ก) ได้แชร์โพสต์ของคนชื่อนี้เรื่องนี้

ดังนั้น หากไม่อยากให้เกิดปัญหา ก็ควรมีความรอบคอบ ใช้สติไตร่ตรองให้มากก่อนแชร์หรือโพสต์อะไรก็ตามโดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหว และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นไม่ควรโทษคนอื่นอย่างเดียว ต้องโทษตัวเองด้วย

โซเชียลมีเดีย ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้ connect กันตลอดเวลาเพราะอยากแสดงตัวตน ตามการกรอกหูอยู่ทุกวี่วันว่าคุณต้อง connect กับคนอื่น 24 ชั่วโมง ชีวิตถึงจะเท่ จะชิค ไม่ตกเทรนด์ ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่การแชร์หรือโพสต์ในเรื่องไม่เข้าท่ามากเกินเหตุ

สภาพเช่นนี้ทำให้จิตมนุษย์ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลาพักชำระใจและความคิด ทำให้เป็นคนอยู่สงบนิ่งหรือปล่อยวางไม่เป็น หากไม่ได้พูด ไม่ได้แชร์แม้แต่นาทีเดียวก็จะขาดใจ นานวันเข้าก็สะสมมลพิษเข้าไปในจิตใจ

ยิ่งในสภาพการเมืองแบบนี้ การหมกมุ่นคร่ำเคร่งอยู่หน้าจอ 24 ชั่วโมง คอยแต่จะตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามทุกนาที มีแต่จะทำให้เกิดความเครียด ความดันโลหิตสูงขึ้นตลอดเวลา

สิ่งต่างๆ จะเบาบางลงมาก หากเราเสพโซเชียลมีเดีย แบบดูเฉยๆ แล้วปล่อยผ่าน ไม่ต้องแชร์ ไม่ต้องแสดงความเห็นบ้างในบางเรื่อง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเรื่องนั้นก็ตาม