คนตายจับยึดคนเป็น | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ตรงข้ามกับความเห็นอันฮือฮาของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน” (www.khaosod.co.th/special-stories/news_2058413)

เอาเข้าจริงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศหนึ่งๆ โดยทั่วไปไม่ได้พรักพร้อมสม่ำเสมอเท่าทันทัดเทียมกันทุกพื้นที่ภูมิภาคของประเทศเป็นลำดับขั้นตอน และก็ไม่ได้เป็นเอกภาพเชิงเดี่ยวเหมือนกันหมดในขอบเขตประเทศนั้นๆ

หากมีลักษณะไม่สม่ำเสมอ (uneven) ในพื้นที่ภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคกลางและภาคตะวันออกของไทยเป็นแกนกลางพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปไกลกว่าก่อนภาคอื่นๆ 1 ขณะที่โครงสร้างของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยรวมศูนย์ หนาแน่นที่กรุงเทพฯ 2

อีกทั้งมีลักษณะเชิงซ้อน (combined) ที่แบบวิถีการผลิตและชีวิตเศรษฐกิจทันสมัยไฮเทคกับล้าหลัง ยากไร้มาประกบทับซ้อนในสังคมเดียวกัน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินมูลค่านับแสนล้านบาท เปิดประมูลกันขึ้นขณะที่ผู้โดยสารชั้น 3 รถไฟขบวนกรุงเทพฯ-อุบลราชธานียังต้องนอนหน้าห้องน้ำ เป็นต้น

(https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1821309)

นั่นหมายความว่าคนไทยไม่เพียงต้องประสบปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเนื่องจากการแข่งขันและผันผวนในระบบทุนนิยมตลาดเท่านั้น 3

หากยังต้องเผชิญปัญหาตกค้างเรื้อรังเรื่องรัฐราชการรวมศูนย์ และอำนาจเหลื่อมล้ำกันทางการเมืองการปกครองแบบศักดินาอุปถัมภ์แต่เก่าก่อนด้วย

 

ดังที่ Aoki-Okabe Maki รองผู้อำนวยการกลุ่มศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันแห่งสถาบันประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (IDE) สังกัดองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) สรุปว่าไทยมีระบบการเมืองพันทางที่ทั้งการเลือกตั้งและรัฐประหารเป็นวิถีทางเปลี่ยนรัฐบาลที่ได้การยอมรับเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความตึงเครียดยืดเยื้อระหว่างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา (royal democracy vs. parliamentary democracy)

แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นปัญหาความด้อยประสิทธิภาพ สิ้นเปลืองทรัพยากร และขัดฝืนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลของการคงอยู่และบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112, การเกณฑ์ทหาร, การกดทับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นต้น

 

น่าสนใจว่าขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคต่างตระหนักรับปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำจากเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดและจัดวางนโยบายเพื่อบรรเทาแก้ไขมันใหญ่ย่อมต่างกันไป ตั้งแต่มาตรการเพิ่มกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมไปจนถึงรัฐสวัสดิการขั้นต้น 4

ทว่า มีแต่พรรคฝ่ายค้านเท่านั้นที่มีนโยบายจัดการแก้ไขปัญหารัฐรวมศูนย์และความเหลื่อมล้ำทางอำนาจแบบศักดินาอุปถัมภ์

ทั้งที่เอาเข้าจริง ปัญหาทั้งสองเชื่อมโยงเกี่ยวพันแยกไม่ขาดจากกันอย่างพิสดาร

ผมนึกถึงตัวอย่างการจัดหาวัคซีนแอนตี้โควิด-19 ในบ้านเราซึ่งสาธิตความเกี่ยวโยงดังกล่าวให้เห็น

ในช่วงแรก มีปัญหาขาดแคลนวัคซีน ที่แม้แต่ผู้มีกำลังซื้อก็เข้าไม่ถึง (ไม่มีขายในตลาด) โดยเฉพาะวัคซีนคุณภาพสูงประเภท mRNA 5

การกระจายวัคซีนช่วงนั้นทำผ่านทางราชการเป็นหลักและเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ ทั้งในแง่หน่วยราชการต่างๆ พื้นที่จังหวัดต่างๆ และโรงพยาบาลกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

มีข่าวเรื่องการกันโควต้าพิเศษลัดคิวแซงคิวให้กับผู้หลักผู้ใหญ่และครอบครัว ผู้มีอุปการคุณและบางพื้นที่ฐานเสียง ซึ่งไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนเท่าบุคลากรแนวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขในที่ต่างๆ หากได้มาเพราะสังกัดเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ใช้อำนาจพิเศษหรือกำลังภายในเอื้อมถึงวัคซีนก่อน

 

ถ้าเป็นราษฎรธรรมดาสามัญส่วนใหญ่ที่ไม่มีเส้นมีสาย ไร้สังกัด ไม่ได้เป็นคนใต้การอุปถัมภ์ของใคร มันก็เหมือนมืดมนหมดหนทาง ได้แต่เสี่ยงออกจากบ้านไปทำมาหากินที่คับแคบฝืดเคืองยิ่งขึ้นทุกทีในแต่ละวัน แม้ในช่วงหลังจะมีวัคซีนคุณภาพดีเข้ามาตามโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แต่สนนราคาก็ใช่ว่าถูก และน่าจะเกินกำลังซื้อของคนยากจนทั่วไป

เว้นแต่คุณเข้ารับการอุปถัมภ์แบบกุศลสาธารณะและแสดงความซาบซึ้งใจให้ประจักษ์ต่อหน้าธารกำนัลอย่างรู้สูงต่ำควรมิควร ทั้งต้องยอมให้ตัวแทนพวกเขามาทวงบุญทวงคุณได้ตามใจชอบต่อไปข้างหน้า (https://www.khaosod.co.th/politics/news_7617252)

กลายเป็นว่าปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจทุนนิยมช่วยส่งต่อหนุนเสริมผลิตซ้ำปัญหาอำนาจรวมศูนย์เหลื่อมล้ำของรัฐราชการอุปถัมภ์เข้าไปอีก ทั้งที่ฝ่ายหลังก็ได้งบประมาณค่าใช้จ่ายมาจากภาษีอากรของพลเมืองเราทั้งหลายนั่นแหละ

เศรษฐกิจทุนนิยมตลาดของไทยจึงสนธิพลังร่วม (synergy) เข้ากับรัฐราชการกึ่งศักดินาอุปถัมภ์ กดทับคนไทยให้อยู่กับภาระของอดีตและปัญหาปัจจุบันซ้ำซ้อนกันอยู่เช่นนี้ ดิ้นไปไหนไม่ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น

 


1 Apisek Pansuwan, “Industrial Decentralization Policies and Industrialization in Thailand”, Silpakorn University International Journal, 9-10 (2009-2010), 117-147

2 (Danuvasin Charoen, “Digital Thailand”, NIDA Case Research Journal, 10 : 2 (July-December 2018), 1-44)

3 ไทยเหลื่อมล้ำสูงสุดในหมู่ประเทศอาเซียนตามรายงานข่าวเมื่อปี 2020 และยากจนเหลื่อมล้ำมากเป็นพิเศษในชนบทตามการวิจัยของธนาคารโลกล่าสุดเมื่อปี 2022

4 หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2566 : เปิดนโยบายหาเสียง ‘หลักพันล้าน-แสนล้าน’ ของ 4 พรรค จาก 2 ขั้วการเมือง”, บีบีซีไทย, 20 เมษายน 2023, https://www.bbc.com/thai/articles/c724883jx40o

5 โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, “รู้จัก mRNA วัคซีนที่คนไทยเรียกหา“, 2564