ต่างประเทศ : วิบากกรรมของ “โรเบิร์ต มูกาเบ”

“โรเบิร์ต มูกาเบ” ประธานาธิบดีแห่งซิมบับเว ที่มีอายุมากถึง 93 ปีแล้ว กำลังเจอกับวิบากกรรมครั้งใหญ่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต แม้ว่าจะปกครองประเทศมานานถึง 37 ปีแล้ว หากแต่ใช่ว่ามูกาเบจะเป็นที่รักของชาวซิมบับเว

โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรุงฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว ตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด หลังจากมีทหารออกมาเดินลาดตระเวนอยู่ทั่วเมือง และยังบุกเข้าไปภายในสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ก่อนที่จะมียานยนต์หุ้มเกราะออกวิ่งตามท้องถนน ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่า เกิดการ “รัฐประหาร” เพื่อโค่นอำนาจนายมูกาเบ และมูกาเบจะออกประกาศลาออกจากตำแหน่ง

โดยมี พล.อ.คอนสแตนติโน ชีเวนกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซิมบับเวเป็นผู้นำในการยึดอำนาจครั้งนี้ และได้กักตัวนายมูกาเบเอาไว้ในบ้านพัก พร้อมกับกระบวนการกดดันต่างๆ นานา เพื่อให้นายมูกาเบลงจากตำแหน่ง

ด้วยเหตุผลที่ว่า นายมูกาเบพยายามที่จะให้ นางเกรซ มูกาเบ ภริยาวัย 52 ปี ของตัวเอง ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นคนต่อไป โดยการปลดนายเอ็มเมอร์สัน เอ็มนันแกกวา ออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี ผู้ที่เป็นคนสนิทของ พล.อ.ชีเวนกา

 

หลังการขึ้นยึดอำนาจของทหาร ชาวซิมบับเวหลายหมื่นคนต่างพากันออกมารวมตัวตามท้องถนนในกรุงฮาราเร แล้วพากันร้องรำทำเพลง เพื่อแสดงความยินดีที่ทหารยึดอำนาจจากนายมูกาเบได้

ขณะที่พรรคซานู-พีเอฟ ซึ่งเป็นพรรคของนายมูกาเบ ก็ออกมาสนับสนุนให้นายมูกาเบออกมาจากตำแหน่งเช่นกัน

นายเอ็มนันแกกวา ที่มีข่าวว่าหนีออกนอกประเทศซิมบับเวไปอยู่ที่แอฟริกาใต้ เปิดเผยจากสถานที่ไม่เปิดเผยว่า เขาได้หนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เมื่อรู้ว่ามีคนวางแผนที่จะลอบสังหารตน หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

และประกาศจะไม่ขอเดินทางกลับประเทศหากยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง

โดยเอ็มนันแกกวาเชื่อว่า ประธานาธิบดีมูกาเบ คือคนที่พยายามจะฆ่าเขานั่นเอง

ขณะที่การประชุมพรรคซานู-พีเอฟ ได้มีการปลดนายมูกาเบออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และแต่งนายเอ็มนันแกกวาขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของพรรค เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในปีหน้า

ส่วนนางเกรซ ภริยาของนายมูกาเบก็ถูกปลดออกจากพรรคเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทหารเองไม่ได้พยายามที่จะใช้ด้ามปืนในการกดดันให้มูกาเบลงจากตำแหน่ง เห็นได้จากความพยายามในการเข้าไปพูดคุยกับมูกาเบหลายครั้งนับตั้งแต่การยึดอำนาจมา และยอมปล่อยให้พรรคซานู-พีเอฟ ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นในการถอดถอนมูกาเบออกจากตำแหน่ง คือการนำเรื่องเข้าพิจารณาในสภาของทั้งสองสภา คือสภาล่างและสภาบน หากแต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะจบสิ้นกระบวนการ

บีบีซีได้วิเคราะห์ถึงเหตุที่มูกาเบไม่ได้รับความนิยมจากชาวซิมบับเวเอาไว้ว่า มูกาเบ หัวหน้าพรรคซานู-พีเอฟ ถือเป็นผู้นำประเทศที่มีอายุมากที่สุดในโลก ปกครองประเทศนับตั้งแต่ซิมบับเวได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1980

แต่ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ ทำให้มีความพยายามในการแข่งขันเพื่อสรรหาตัวบุคคลที่จะมาสืบทอดตำแหน่งอย่างดุเดือด

และแม้ว่านายมูกาเบชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดการเลือกตั้งทุกครั้ง หากแต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นายมูกาเบต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เป็นเรื่องของการบริหารประเทศที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ทำให้ซิมบับเวเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

และตอนนี้มีชาวซิมบับเวที่มีฐานะยากจนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.1980

 

อย่างไรก็ตาม ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการยึดอำนาจ คือเรื่องความพยายามของมูกาเบที่จะให้นางเกรซขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศสืบต่อจากตนเอง โดยไม่สนใจว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสกัดกั้นพรรคพวกของทหารจนทำให้กองทัพทนไม่ไหว ลุกขึ้นมายึดอำนาจในที่สุด กระทั่งนำไปสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง

และหากมูกาเบถูกถอดออกจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน ก็คือรองประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่กระบวนการถอดถอนจะเริ่มต้นขึ้น มูกาเบก็ทนต่อแรงเสียดทานไม่ไหว และได้ยื่นเรื่องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีซิมบับเวแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เป็นอันสิ้นสุดการปกครองซิมบับเวอันยาวนานถึง 37 ปีของชายที่ชื่อ “โรเบิร์ต มูกาเบ”