กรรมการตัดสินกีฬากับปัญหาหูตึง

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

กรรมการตัดสินกีฬากับปัญหาหูตึง

 

การแข่งขันบาสเกตบอล NBA Playoffs 2023 รอบแรก เพื่อชิงตำแหน่งแชมป์ NBA ฤดูกาลนี้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา

ตามปกติการแข่งขัน NBA Playoffs นักบาสเกตบอลจะโดนกรรมการเป่าฟาวล์มากกว่าช่วงฤดูกาลแข่งขันปกติ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะนักบาสเกตบอลเล่นจริงจัง เอาเป็นเอาตายในช่วง Playoffs มากกว่าช่วงฤดูแข่งขันปกติ

ในการแข่งขันบาสเกตบอล NBA โดยเฉลี่ยแต่ละเกม กรรมการเป่านกหวีด 60 ถึง 80 ครั้งสำหรับการเป่าฟาวล์ และเป่าลูกบาสออกนอกเส้นขอบสนาม

 

กรรมการหรือผู้ตัดสินกีฬากับนกหวีดเป็นของคู่กัน เพราะการแข่งขันส่วนใหญ่นักกีฬาจะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเกม ประกอบกับแฟนกีฬาในสนามจำนวนมากส่งเสียงเชียร์ดัง จึงอาจทำให้ไม่ได้ยินเสียงเวลากรรมการให้สัญญาณต่างๆ เสียงจากนกหวีดสามารถดึงความสนใจของทุกคนขอบสนามได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การมีนกหวีดไว้เป่าเพื่อส่งสัญญาณจึงเป็นวิธีดีที่สุดและช่วยผ่อนแรงให้กรรมการได้เยอะ อย่างไรก็ตาม การใช้นกหวีดก็ถือเป็นดาบสองคม เพราะเสียงที่ออกมาจากนกหวีดมีความดังจนแสบแก้วหู คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือกรรมการที่ต้องเป่านกหวีดเป็นประจำ ทำให้อาการหูตึงเป็นปัญหาหลักที่กรรมการต้องเจอ

 

หนึ่งในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Occupational and Environmental Hygiene ฉบับเดือนมกราคม 2017 จัดทำโดยนาธาน วิลเลียมส์ (Nathan Williams) นักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) ปริญญาเอกจาก Western Michigan University และเกรกอรี ฟลัมม์ (Gregory Flamme) รองศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การพูด ภาษา และการได้ยิน (Department of Speech, Language and Hearing Sciences) ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของนาธาน ได้ร่วมกันทำการสำรวจกรรมการกีฬาจำนวน 321 คน ซึ่งล้วนเคยทำงานให้กับสมาคมกีฬาโรงเรียนมัธยมแห่งมิชิแกน (Michigan High School Athletic Association)

พบว่า จำนวนผู้ตัดสินเกือบครึ่งหนึ่งบอกว่ามักจะรู้สึกว่าได้ยินเสียงก้องอยู่ในหู หรือมีอาการหูอื้อหลังจากเสร็จหน้าที่ตัดสินกีฬาในแต่ละครั้ง

โดยปกติเสียงที่ดังก้องอยู่ในหูมักจะบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก แต่หากในระหว่างนั้นหูของเรายังได้สัมผัสกับเสียงที่ดังมากอีกสองสามครั้ง ก็อาจจะทำให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างถาวร

นอกจากนี้ อาการเสียงก้องในหูยังเป็นสัญญาณว่าเราเริ่มสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเรามักไม่ทันสังเกต จนกระทั่งตอนที่เรากลายเป็นคนหูตึงไปแล้ว

เกรกอรีบอกว่า ในการแข่งขันกีฬานั้นนอกจากเสียงนกหวีดแล้วยังมีเสียงจากแฟนๆ ที่ร้องเพลงเชียร์เสียงดัง เสียงเพลงที่เปิดในสนาม และเสียงจากเครื่องขยายเสียงของโฆษก ซึ่งเสียงต่างๆ เหล่านี้ล้วนดังสะสมอยู่ในหูของทุกคนโดยที่หูไม่ได้หยุดพัก

สำหรับคนทั่วไปเสียงอาจดังสะสมไม่มาก แต่กรรมการที่ต้องเป่านกหวีดด้วยอาจจะได้สัมผัสเสียงดังสะสมมากจนเกินจุดที่หูสามารถรับไหว

นั่นยิ่งเป็นภัยต่อหูมากขึ้นไปอีก

นาธานบอกว่า นักกีฬาและผู้ชมในสนามก็ได้รับเสียงสะสมจากนกหวีดเช่นเดียวกัน แต่เพราะอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียงมากกว่าหูของพวกเขาจึงไม่สัมผัสเสียงสะสมหนักหนาเท่ากรรมการ

 

นักกีฬาที่เขาคิดว่าได้รับผลกระทบจากนกหวีดมากที่สุดก็คือวอลเลย์บอล

นอกจากนี้ นาธานยังบอกว่า คนเราเข้าใจแค่ว่าระดับความดังของเสียงที่พวกเขาได้รับคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทางการได้ยิน กล่าวคือ คนที่ต้องสัมผัสกับเสียงดังๆ มีโอกาสเกิดอาการหูอื้อหูตึงมากกว่า

แต่พวกเขาไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วแม้เราจะสัมผัสกับเสียงที่เบากว่า แต่หากสัมผัสเสียงนั้นสะสมเป็นเวลานานๆ ก็มีความอันตรายต่อหูไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะในแต่ละวันหูของเรามีขีดจำกัดในการรับเสียงต่างๆ ก่อนที่จะเกิดอาการหูอื้อ หูหนวกแบบชั่วคราว อาจมีอาการเครียด คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

 

ระดับเสียงของนกหวีดที่กรรมการเป่า 1 ครั้ง ดังราวๆ 104 ถึง 116 เดซิเบล โดยนกหวีดที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ Fox 40 Classic ที่มีความดัง 106 เดซิเบล ซึ่งถ้าคำนวณจากการเป่าครั้งละครึ่งวินาที ระยะเวลาที่ปลอดภัยสำหรับหูของกรรมการคือ 48 วินาที เท่ากับว่าในหนึ่งวันกรรมการสามารถเป่านกหวีดยี่ห้อ Fox 40 Classic ได้ 96 ครั้งก่อนที่เสียงจากนกหวีดจะเริ่มเป็นภัยต่อหู

ถ้ามีเวลาเวลาว่างนาธานยังทำหน้าที่เป็นกรรมการบาสเกตบอล ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าเสียงที่ออกมาจากนกหวีดนั้นดังเกินกว่าเหตุจริงๆ

ครั้งหนึ่งที่เขาได้ทำหน้าที่กรรมการให้กิจกรรมแข่งขันกีฬาของโรงเรียนมัธยมซึ่งจัดยาวตลอดทั้งวัน เขาได้ติดเครื่องวัดปริมาณเสียงสะสม (Noise Dosimeter) ไว้ที่ตัวเพื่อดูว่าวันนั้นเขาจะสัมผัสเสียงเป็นปริมาณเท่าไร

หลังจบการแข่งขันเขาได้หยิบเครื่องมาดูผล สิ่งที่เขาพบคือเครื่องแจ้งว่าระดับเสียงนั้นเต็มพิกัดที่เครื่องสามารถรับได้ นั่นหมายถึงร่างกายเขาได้สัมผัสกับเสียงที่ดังเกินขนาดเป็นเวลานานมาก

ซึ่งตอนที่คุยกับกลุ่มเพื่อนกรรมการด้วยกัน มีคนพูดเชิงขำขันถึงอาการสูญเสียการได้ยินของพวกเขาหลังจบการแข่งขัน

แต่นาธานเป็นคนเดียวที่ขำไม่ออกกับเรื่องดังกล่าว