ดอนเมืองกรุ่น วัดพลังอดีตแม่ทัพฟ้า กลยุทธ์ชิง ‘นภา 1’ วัดดวง ‘หนึ่ง-ณะ-จ๋า-ไก่-หลวย’

ดอนเมืองกรุ่น วัดพลังอดีตแม่ทัพฟ้า กลยุทธ์ชิง ‘นภา 1’ วัดดวง ‘หนึ่ง-ณะ-จ๋า-ไก่-หลวย’ กับทีมแม่บ้านทัพฟ้า ดับร้อน

การเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 นอกจากจะถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ ว่าจะเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนนายกฯ หรือฝ่ายอนุรักษนิยม ยังคงชนะ ยึดอำนาจรัฐได้ต่อไปหรือไม่แล้ว

กองทัพจึงถูกจับตามอง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนเช่นกัน เพราะจะเป็นช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่พอดี

ที่ดูจะคึกคัก คือ กองทัพอากาศ ที่แม้จะมีแคนดิเดตมากถึง 5 คน แต่เต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.คนใหม่ ยังคงเป็นบิ๊กณะ ‘Vigor’ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ เสธ.ทอ.

ประการหนึ่ง เพราะเป็นทายาทที่บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ.วางตัวเอาไว้ ในฐานะน้องรัก ภายใต้วาทะที่ร่ำลือกันว่า “ตุ๊ด 1 ปี ณะ 1 ปี”

อีกประการ อาจเพราะความมั่นใจของตัว พล.อ.อ.ณรงค์เอง และคุณนันท์ ผศ.ดร.นันทวัน อินทชาติ ภริยา ที่ดูมีความมั่นใจมาก

และดูสัญญาณจากนายทหารอากาศรอบข้าง

 

กระนั้นต้องไม่ลืมว่า สมัยที่ พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.ทอ. ก็เคยมีปฏิบัติการลับลวงพรางใน ทอ.เองมาแล้ว โดย พล.อ.อ.นภาเดชทำให้เข้าใจว่า จะต้องเลือกบิ๊กต้น พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา ผบ.คปอ.ในเวลานั้น ที่เป็นน้องรักใกล้ชิดด้วย เติบโตจากกองบิน 1 เป็นนักบินเอฟ 16 มาด้วยกัน รู้มือ รู้แนว รู้ใจกัน

นอกจากนี้ พล.อ.อ.นภาเดช Snowy มีความภาคภูมิใจในการเป็นนักบินเอฟ 16 มาก เพราะเป็นเครื่องบินที่ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ผู้บิดา เป็นผู้จัดซื้อ และทำให้ ทอ.มีเครื่อบินทันสมัย

ทั้งนี้ ก็เพื่ออำพรางตัวเลือกที่แท้จริงอย่างบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผช.ผบ.ทอ.ในขณะนั้นไว้ ด้วยเพราะมีความเสียเปรียบคนอื่น ไม่ได้เติบโตมาในสายกำลังรบ ไม่ผ่านตำแหน่งผู้ฝูง ผู้การ และเจ้ากรมใดๆ และไม่ใช่นักบินตระกูลเอฟ

แต่ทว่า ครอบครัวมีความสนิทสนมกันมาก

แต่ก็ลับลวงพราง ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ ว่าจะไม่เอาเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัวมาเป็นปัจจัยหลักในการเลือก ผบ.ทอ.

เพื่ออำพราง พล.อ.อ.อลงกรณ์ และตัด พล.อ.อ.คงศักดิ์ ออกไป

แถมลับลวงพรางด้วยการบอกว่า การเลือก ผบ.ทอ.คนใหม่ จะมองภาพรวม ทอ. และให้ความสำคัญกับเรื่องนิสัยใจคอ จิตใจ ซื่อตรงมั่นคง และเรื่องงานในหน้าที่เป็นหลัก และไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินเอฟ 16

จึงทำให้เข้าใจกันว่า หมายถึง บิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รอง ผบ.ทอ.ในเวลานั้น ซึ่งถือว่าพลิกความคาดหมายมากที่ไม่เสนอชื่อน้องรัก ทั้ง พล.อ.อ.คงศักดิ์ พล.อ.อ.อลงกรณ์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ แม้ว่า พล.อ.อ.ธนศักดิ์จะไม่ใช่นักบินเอฟ 16 แต่เป็นนักบิน OV-10 ก็ตาม

อีกทั้ง พล.อ.อ.นภาเดช มอบหมาย พล.อ.อ.ธนศักดิ์ ให้เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาเอฟ 35 และมีบทบาทสำคัญในการทำโครงการจัดซื้อเอฟ 35 อีกทั้งเป็นอดีต ผช.ทูต ทอ. ประจำวอชิงตัน ดี.ซี. ที่อาจเอื้อต่อการประสานงานโครงการเอฟ 35 ต่อไปด้วย จึงคาดหมายว่าจะเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ในตอนนั้น

แต่ทั้งหมดเป็นปฏิบัติการลับลวงพรางของ พล.อ.อ.นภาเดช เพื่อป้องกันไม่ให้เป้าหมายจริงอย่าง พล.อ.อ.อลงกรณ์ถูกโจมตีบอบช้ำ เพราะชื่อของ พล.อ.อ.อลงกรณ์หลุดออกมา เมื่อได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ เมื่อโผส่งถึงนายกฯ ไปแล้ว

ขนาดนั้น พล.อ.อ.อลงกรณ์ก็ยังปฏิเสธ เมื่อสื่อแซวตอนพบหน้า หลังจากมีกระแสข่าวว่าได้เป็น ผบ.ทอ. โดย พล.อ.อ.อลงกรณ์ชี้มือไปที่ พล.อ.อ.ณรงค์แทน ราวกับจะบอกว่า คนนี้ ผบ.ทอ.คนใหม่ และเสมือนว่า ไม่รู้ตัวว่าจะได้เป็น ผบ.ทอ.

พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ

กล่าวได้ว่า ปฏิบัติการลวงหลอกพรางของ พล.อ.อ.นภาเดชครั้งนั้นสำเร็จ

ประกอบกับคนใน ทอ.ก็คาดไม่ถึงว่าจะเลือก พล.อ.อ.อลงกรณ์เป็น ผบ.ทอ. จนทำให้เกิดใบปลิวทางไลน์ โจมตีอย่างหนักว่ากระทบเทรดดิชั่น ทอ. ที่เส้นทางการรับราชการ ไม่ได้เป็นนักบินขับไล่ ไม่ได้เป็นผู้บังคับฝูงบิน ผู้บังคับการกองบิน หรือต้องเติบโตมาในสายยุทธการ

แต่ที่สุด ก็เป็นการสะท้อนความเป็นบิ๊กป้อง Snowy ของ พล.อ.อ.นภาเดช ที่ให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ครอบครัวมากที่สุด และมองว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์ แม้ไม่เก่งยุทธการ แต่เป็นปลัดบัญชี ทอ. เก่งการงบประมาณ และเป็นคนมีจิตใจดี ร่าเริงอารมณ์ดี

เหมาะกับสถานการณ์แตกขั้วใน ทอ.

 

ทั้งนี้ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ถือเป็นตัวเลือก เป็นทายาทที่บิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนก่อนวางตัวเอาไว้ เพราะดึงจากกรุให้ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทอ. เพราะสนิทสนมกันมานาน รวมทั้งครอบครัวก็สนิทกัน

ดังนั้น จึงเป็นสัญญาใจที่ พล.อ.อ.นภาเดชมีต่อ พล.อ.อ.แอร์บูล เพื่อนร่วมรุ่น ตท.21 ด้วย เพราะเสนอชื่อตนเองเป็น ผบ.ทอ.มาก่อนแล้ว

และที่สุดก็เลือก พล.อ.อ.อลงกรณ์เป็น ผบ.ทอ.

ลับลวงหลอกครั้งนั้น ทำให้ทั้ง พล.อ.อ.ธนศักดิ์ และโดยเฉพาะ พล.อ.อ.คงศักดิ์ สองเพื่อน ตท.22 ต้องเจ็บหนักจากกระแสข่าวและความคาดหวัง

 

มาถึงยุคนึ้ กำลังมีปฏิบัติการลวงหลอกพรางอีกครั้ง เพราะ พล.อ.อ.ณรงค์เป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.คนต่อไป แต่ทว่า กลายเป็นเป้าถูกโจมตี

จนทำให้ตั้งข้อสังเกตกันใน ทอ.ว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์ จำต้องเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการชี้เป้าไปที่บิ๊กจ๋า Phoenix พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผช.ผบ.ทอ. หรือไม่ ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่า เป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.อีกคนหนึ่ง อีกทั้งมอบหมายงานสำคัญในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมาให้ด้วย

พร้อมๆ กันนั้น ก็มีกระแสข่าวลือใน ทอ. ถึงระยะห่างของ พล.อ.อ.อลงกรณ์ กับ พล.อ.อ.ณรงค์ ที่แม้จะเป็น ผบ.ทอ. กับ เสธ.ทอ.คู่ใจกัน แต่ก็กลับไม่ค่อยออกงานด้วยกัน หรือแสดงออกถึงความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากนัก ประมาณว่า พล.อ.อ.ณรงค์มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าในการทำงาน ในฐานะเต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.

จนทำให้ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ กลายเป็นม้ามืด ผบ.ทอ.คนต่อไป โดยเฉพาะเมื่องานราตรีสโมสรวันกองทัพอากาศ ที่ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นประธาน แล้วเดินผ่านแถว 7 เสืออากาศ และภริยา ที่ยืนต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ไปหยุดยืนหน้าภริยาของ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ ทันทีที่ได้ยินคำแนะนำตัวว่า ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ประยุทธ์ถามว่า ผช.ผบ.ทอ. (1) หรือ (2)

ด้วยเพราะเป็นทหารบก และรุ่นห่างกับน้องๆ ที่เป็นระดับท็อปไฟว์ของเหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์จึงอาจไม่ค่อยรู้จักน้องๆ เท่าใดนัก

การมาหยุดทักถามที่คู่คุณอ้อย น.อ.หญิง อภิรดี จันทสาร ภริยา พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ ก็กลายเป็นที่ตั้งข้อสังเกตกันใน ทอ.ว่า เป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ ว่า ผช.ผบ.ทอ.คนใดคนหนึ่งจะกลายเป็นม้ามืด

ที่นอกจากทำให้ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ถูกจับตามองแล้ว บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. รุ่นน้อง ตท.24 ถูกโฟกัสไปด้วย เหตุเพราะชื่อของ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดีอยู่ในลิสต์ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.อยู่แล้ว แต่ทว่า ด้วยรุ่นและเกษียณ 2568 จึงทำให้รุ่นพี่เป็น ผบ.ทอ.ไปก่อน

ตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.ทอ. ก็เคยมีสูตรทายาท “ตุ๊ด-ณะ-ไก่” เป็น ผบ.ทอ.คนละ 1 ปีพอดี เพราะบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ รุ่นพี่ ตท.22 เกษียณกันยายน 2566 ต่อด้วยบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ ตท.23 เกษียณ 2567 และต่อด้วยบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ตท.24 เกษียณ 2568

ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นรุ่นน้อง ที่เปิดทางให้รุ่นพี่ก่อน จึงทำให้ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดีถูกมองว่า “รอได้” แต่ต้องไม่ลืมว่า เทรดดิชั่นทัพฟ้าที่ผ่านมา มักจะไม่ค่อยมี ผบ.ทอ.ที่ปีเดียวเกษียณ ยกเว้นในบางสถานการณ์ ที่อาจต้องเอาคนที่อายุราชการเหลือปีเดียวขึ้นมา

แต่หากเปรียบเทียบแคนดิเดตทั้งหมด พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ก็ได้เปรียบเรื่องอายุราชการที่เหลือ 2 ปีอยู่คนเดียว

ส่วนเรื่องความสามารถนั้น Armstrong คอลล์ไซน์ของเขา ที่เป็นนักบินเอฟ 16 เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว และเป็น เสธ.ทอ.มาแล้ว

แต่ตอนนี้ พยายามลดบทบาทตัวเอง กระนั้น ถือว่าเป็นพ่อบ้านของ ทอ. เพราะดูแล บก.ทอ. ตึกแปดแฉก และแผนพัฒนา ทอ.

งานเลี้ยงรับรอง วัน ทอ. 10 เมษายนที่ผ่านมานั้น ก็เป็นแม่งาน และเป็นครั้งแรกที่จัดงานที่ บก.ทอ. จากเคยจัดที่อาคารรณนภากาศ หรือหอประชุม ทอ. จนได้รับเสียงชื่นชม

ดังนั้น จึงไม่อาจมองข้าม พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี

พล.อ.อ.วรกฤต มุขศรี,พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ,,พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร

กระนั้น ในทุ่งดอนเมืองก็ยังร่ำลือกันถึงเรื่องดวงชะตา ว่า ผบ.ทอ.คนใหม่ อาจเป็นม้ามืดสนิท อย่างบิ๊กหลวย พล.อ.อ.วรกฤต มุขศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (ผบ.คปอ.) ตท.24 อีกคน ที่ พล.อ.อ.นภาเดชส่งเข้าประกวด จากการที่ดันขึ้นมาเป็น ผบ.คปอ. หลังจากมีการปรับโครงสร้าง ยกระดับเป็นหน่วยบัญชาการ เพื่อให้ ผบ.คปอ. เป็น 1 ใน 6 เสืออากาศ

ที่ผ่านมา ชื่อ พล.อ.อ.วรกฤตไม่ได้อยู่ในแคนดิเดต เพราะเดิม ผบ.คปอ.ไม่ถูกนับรวมในท็อปซิกซ์ทัพฟ้า เพราะบิ๊กต้น พล.อ.อ.คงศักดิ์ ผบ.คปอ.คนก่อน ที่ทำเรื่องปรับโครงสร้าง ก็ไม่ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. แต่ถูกส่งข้ามไปเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด

หรือหากย้อนไป ตัว พล.อ.อ.นภาเดชเองตอนเป็น ผบ.คปอ. ก็ไม่ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.เลย แต่ต้องขยับไปเป็นประธานที่ปรึกษา ทอ. ที่ไม่ได้อยู่ในท็อปไฟว์ ทอ. แต่ก็ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. จึงได้มาสานต่อการปรับโครงสร้าง คปอ.จนสำเร็จในยุค พล.อ.อ.คงศักดิ์เป็น ผบ.คปอ. จนที่สุด ก็ดัน พล.อ.อ.วรกฤตขึ้นมาเป็น ผบ.คปอ.คนแรก หลังปรับโครงสร้าง

เช่นนี้ จึงทำให้ พล.อ.อ.วรกฤตถูกจัดอยู่ในแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนต่อไปด้วย แม้อาจจะไม่ใช่นักบินขับไล่ และดูสไตล์บ้านๆ ตามประสาเด็กต่างจังหวัด คือปราจีนบุรี

แต่ในเรื่องการดูแลลูกน้อง และการทำงานแล้ว ถูกเรียกขานใน ทอ.ว่า คุณพ่อ ขณะที่ภริยา คุณณฐา มุขศรี ก็ถูกเรียกขานว่า คุณแม่กระต่าย

นอกจากนี้ เป็นที่ร่ำลือใน ทอ.ว่า พระอาจารย์วัดในอีสาน ที่ พล.อ.อ.นภาเดชนับถือ และเป็นผู้ทำนายทายทักคนแรกว่า พล.อ.อ.นภาเดชจะได้เป็น ผบ.ทอ. ตั้งแต่สมัยยศยังเป็นนาวาอากาศเอกอยู่เลยนั้น ทำนายว่า พล.อ.อ.วรกฤตจะได้เป็น ผบ.ทอ. จึงทำให้กลายเป็นแคนดิเดตที่มีสีสัน ให้ลูกทัพฟ้าลุ้นกันว่า จะเป็นได้หรือไม่

พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ,พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา,พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร

หากมองไปที่บทบาทและเพาเวอร์ของ พล.อ.อ.นภาเดช อดีต ผบ.ทอ.แล้ว ก็ยังถือว่าไม่แผ่ว ในยุคที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์เป็น ผบ.ทอ. เพราะก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์เป็นหนี้บุญคุณที่เลือกมาเป็น ผบ.ทอ. ทั้งๆ ที่คู่แข่งล้วนสายแข็ง โปรไฟล์เหล็กทั้งสิ้นมาแล้ว

พล.อ.อ.นภาเดชมาร่วมงานราตรีสโมสร วัน ทอ.ด้วย และด้วยความสนิทสนม ก็อยู่ร่วมงานต่อ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับไปแล้ว งานจบแล้ว

แถมมีวงเล็กที่พี่ๆ น้องๆ ทอ.ได้พูดคุยกันแบบที่แขกรับเชิญกลับหมดแล้ว สะท้อนความผูกพันของ พล.อ.อ.นภาเดช และ พล.อ.อ.อลงกรณ์อย่างมาก

ดังนั้น จึงทำให้สัญญาสุภาพบุรุษ ระหว่างพี่ป้องกับน้องตุ๊ด ถูกจับตามองอีกครั้ง พร้อมๆ กับกลยุทธ์ลับลวงพราง ที่อาจถูกนำมาใช้อีกครั้ง เพื่อถนอม “ผบ.ทอ.” คนใหม่ ตัวจริง ไม่ให้บอบช้ำจากการตกเป็นเป้า

กระดานหมากนี้ของพี่ป้อง-น้องตุ๊ด จึงทำให้ชื่อของบิ๊กหนึ่ง Canon พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. หายไปจากกระแส แม้ว่าจะเป็นนายทหารอากาศที่มีความสามารถแบบครบเครื่องของนักบินขับไล่ และเติบโตมาในเส้นทางเหล็ก ตามเทรดดิชั่น ทอ.

แต่แค่เพราะถูกประทับตรายางเป็นน้องรักบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. ที่มีปัญหากับบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.ต่อ จนสร้างตำนานร้าวในทุ่งดอนเมืองขึ้นมาอีกยุค ทำให้ชื่อ พล.อ.อ.ชานนท์แผ่วไป

แม้จะเกษียณไปแล้วทั้งคู่ แต่รอยแตกร้าวของ พล.อ.อ.มานัต และ พล.อ.อ.แอร์บูล นั้นไม่ได้ถูกสมาน เพราะ พล.อ.อ.แอร์บูล ดัน พล.อ.อ.นภาเดช เป็น ผบ.ทอ. แล้ววาง พล.อ.อ.อลงกรณ์ เป็นทายาทไว้ ต่อจากนี้ จะเป็นเกมของ พล.อ.อ.นภาเดช ที่ดันให้ พล.อ.อ.อลงกรณ์ เป็น ผบ.ทอ.

แต่หากหลังเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็อาจส่งผลต่อการเลือก ผบ.ทอ.ไม่น้อย

ขณะที่ พล.อ.อ.มานัต อดีต ผบ.ทอ. ที่ไม่ย่างเหยียบกลับมา ทอ.อีกเลย แม้ในงานเลี้ยงวัน ทอ. ที่มีทั้ง พล.อ.อ.แอร์บูล และ พล.อ.อ.นภาเดช เป็นแขกรับเชิญ แต่ก็มองข้ามความเคลื่อนไหว และเดินเกมของ พล.อ.อ.มานัต และอดีต ผบ.ทอ.เหล่านี้มิได้ เพราะ พล.อ.อ.มานัตก็มีคอนเน็กชั่นที่ไม่ธรรมดา

แต่ก็ไม่อาจมองข้าม พล.อ.อ. ชานนท์ ที่ล่าสุดมีชื่อเป็นบอร์ด ปตท.ด้วย ที่สะท้อนคอนเน็กชั่นไม่ธรรมดา

น.อ.หญิง พรรณประภา วัณณรถ นายกสมาคมแม่บ้าน ทอ.

แม้การชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.จะเข้มข้น แต่บรรยากาศก็ยังไม่ตึงเครียด อาจเป็นเพราะบุคลิกของ พล.อ.อ.อลงกรณ์ที่เป็นคนร่าเริง สดใส อารมณ์ดีและมองโลกในแง่ดี เช่นเดียวกับคุณต๋อย น.อ.หญิง พรรณประภา วัณณรถ นายกสมาคมแม่บ้าน ทอ. ที่เป็นคนตลก อารมณ์ดี และสร้างสามัคคีในหมู่หลังบ้าน ให้อยู่กันแบบพี่น้อง ส่วนเรื่องตำแหน่ง ให้เป็นเรื่องของโชคชะตา จึงได้เห็นความกลมเกลียวในสตรีหลังบ้าน เพื่อคลายความร้อน ณ ทุ่งดอนเมือง

การแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่สิงหาคม-กันยายนนี้ ในช่วงที่จะมีรัฐบาลใหม่ ที่ในเวลานั้นจะรู้แล้วว่า ใครเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเป็นการทดสอบเพาเวอร์ของ ผบ.เหล่าทัพชุดปัจจุบัน ที่ตอนนั้นกำลังจะเกษียณ ว่าจะดิ้นสู้อำนาจจากฝ่ายการเมืองได้หรือไม่ หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร

จึงไม่แปลกที่กองทัพจะถูกจับตามองว่า จะเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ได้กลับมาอีกครั้ง และไม่ส่งผลต่อแผนการวางทายาทของแต่ละเหล่าทัพ

หรือสนับสนุนบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและดึงพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม อย่างน้อย พล.อ.ประวิตรก็ยังเข้าใจกองทัพและดูแลกองทัพได้ ไม่ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงมากนัก