‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ หลังเลือกตั้ง ‘วิวาทะ 112’ จะเคลื่อนเข้าสภา แต่…

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’

หลังเลือกตั้ง

‘วิวาทะ 112’ จะเคลื่อนเข้าสภา แต่…

 

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองข้อสำคัญที่ทุกฝ่ายสังเกตเห็นได้ในการเลือกตั้งรอบนี้ ก็คือ คำถามเรื่อง (การแก้ไขหรือไม่แก้ไข) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้กลายเป็นประเด็นสามัญที่ถูกนำมาถกเถียงกันบนแทบทุกเวทีดีเบต

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี เพิ่งมีโอกาสได้สนทนากับ “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจึงสอบถามนักกฎหมายมหาชนผู้มั่นคงในจุดยืนทางวิชาการรายนี้ ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“สำหรับผม โพสิชั่น (จุดยืน) ของผมชัดเจนตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาจริงๆ ปัญหาทั้งในแง่การบังคับใช้ ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย แล้วก็ตัวอุดมการณ์ที่กำกับการใช้และการตีความกฎหมาย มันเป็นปัญหาหลายระดับซ้อนกัน เราปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้

“ข้อที่มันเห็นชัดที่สุด ก็คือ ตัวอัตราโทษในกฎหมายฉบับนี้ มันสูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด เมื่อเทียบกับโทษอื่นๆ แล้วก็มันเป็นผลพวงของรัฐประหาร 2519 ด้วย คนที่ติดตามเรื่องนี้ก็คงจะรู้ว่าผมพูดแบบนี้มาโดยตลอด อย่างน้อยมันจะต้องมีการแก้ส่วนนี้ หมายถึงว่าเปลี่ยนโทษ

“อาจจะมีคนบอกว่า โทษมันแรงขนาดนี้ ยังมีคนกล้าทำ ทำให้มันเบาไปกว่านี้ คนก็ยิ่งกล้าไปใหญ่สิ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเลย เหตุผลก็คือว่า ถ้าคุณกำหนดอัตราโทษแบบนี้ อัตราโทษมันต้องได้สัดส่วนกับเรื่องอื่นๆ ในระบบกฎหมายของเรา เราถือหลักความพอสมควรแก่เหตุ ความได้สัดส่วน อยู่ในตัวรัฐธรรมนูญ มันจะต้องไปด้วยกัน

“เราต้องไม่ลืมว่า อันนี้มันมีการแก้มาในช่วงรัฐประหารปี 2519 จริงๆ ไม่ได้แก้เฉพาะส่วนนี้ คือกฎหมายที่ผมเรียกลำลองว่า ‘กฎหมายตระกูลหมิ่นฯ’ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดูหมิ่นผู้พิพากษา พวกนี้มันถูกแก้มาทั้งหมดเลย เป็นชุดตอนนั้น 112 นี่เป็นอันหนึ่ง

“เพราะฉะนั้น ในทางหลักการ เป็นความเห็นส่วนตัวผม ว่าอันนี้มันต้องแก้”

วรเจตน์ย้อนทบทวนจุดยืนแน่วแน่ของตนเอง ก่อนจะเริ่มมองสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน

“โพสิชั่น (จุดยืน) ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เราเห็น มันไม่เหมือนกัน มันก็มีทั้งไม่แตะ ไม่ยุ่งเลย บางพรรคประกาศว่าไม่ยุ่งในทางตัวบท แต่ก็จะไปยุ่งในแง่การบังคับใช้ บางพรรคบอกว่าจะต้องแก้ในทางตัวบท บางพรรคก็เลิก บางพรรคนี่หนัก คือแก้ให้มันหนักกว่าเดิม ครอบคลุมมากกว่าเดิม

“แต่ผมรู้สึกว่าในด้านหนึ่ง สิ่งที่มันดีก็คือว่า บัดนี้ ประเด็น 112 มันเป็นประเด็นที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้ว อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากเห็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่มีการรณรงค์เรื่องนี้ อันนี้ (การถกเถียงเรื่อง ม.112 ในพื้นที่สาธารณะ) คือเป็นเป้าหมายหลัก

“คงจำกันได้ ตอนที่มีการพยายามให้แก้ไขเรื่องนี้ ไม่ต้องพูดถึงส่วนตัวผมหรอก คนมาเผาหุ่น คนมาทำร้ายตอนนั้น พูดถึงความสำเร็จในการเสนอแก้ เรื่องนี้มันไปได้ถึงแค่ประตูสภา แล้วตัวประธานสภาก็ปัดตกเลย ไม่กระทั่งแง้มเข้าไปในสภาเลยด้วย มันก็กลายเป็นพูดอยู่ข้างนอก

“ทีนี้ 112 เนี่ย (หลังเลือกตั้ง) ครั้งหน้ามันจะเป็นแบบนี้ คือ เราปฏิเสธปัญหานี้ไม่ได้หรอก ใครก็ตามที่ฟังผมอยู่ในทุกระดับ คงต้องยอมรับความจริงอันนี้แหละว่าสุดท้ายเราหนีปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ มันต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ถ้าจัดการแบบหลักการที่บอก อย่างน้อยมันต้องมีการแก้ จะแก้ระดับขนาดไหน อันนี้ก็ต้องมาเถียงกันอีกส่วนหนึ่ง”

แม้วิวาทะเรื่อง ม.112 อาจจะถูกขับเคลื่อนเข้าไปในสภาได้สำเร็จ แต่นักกฎหมายมหาชนผู้นี้ก็ไม่ได้มองทุกอย่างแบบโรแมนติกจนเกินจริง

“ผมทำนายว่าโดยบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ การแก้ 112 ยากมากที่จะประสบความสำเร็จ ถ้ามองในทางการเมือง มองจากความเป็นจริงนะ แต่ผมคิดว่ามันจะขยับไปจากสิบปีก่อน มันมีโอกาสที่เรื่องนี้จะเข้าสภาได้

“คือผมพอเห็นไอ้พวกนี้มามาก รู้สึกโอเค ถ้ามันได้ผลักไปสักนิดหนึ่งก็ดี สิบปีที่แล้วคุณได้ไปแค่นั้น (ประตูสภา) คุณก็จบ ขั้นตอนนี้มันจะไปอีกชั้นหนึ่ง แต่มันอาจยังไม่สำเร็จ มันไม่ง่ายแบบนั้น มันมีแรงต้านเยอะมาก

“แต่อย่างผมเคยพูดว่า พรรคการเมืองจะต้องเป็นฝ่ายซึ่งจะต้องทำอันนี้ เพียงแต่ว่าคุณจะทำในจังหวะไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องว่าเอา คุณก็ต้องไปดูสภาพการณ์ว่าเป็นอย่างไร

“เท่าที่ดู พรรคที่ค่อนข้างแน่วแน่เรื่องนี้คือพรรคก้าวไกล แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนสมัยเป็นอนาคตใหม่ อนาคตใหม่ดร็อปเรื่องนี้ ในตอนแรกสุด เขาไม่แตะเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ พรรคที่สืบเนื่องมาก็ไม่ได้ถึงกับเสนอเลิกหรอก แต่อย่างน้อยก็มีการเสนอแก้ แน่นอน มันจะมีแรงต้านเยอะ

“พรรคอีกพรรคหนึ่ง ที่ท่าทีในเรื่องนี้ค่อนข้างก้ำกึ่งอึกอักอยู่ คือพรรคเพื่อไทย ผมว่าเพื่อไทยเขาก็รู้แหละว่าอันนี้มันเป็นปัญหาอยู่ แต่ถ้าฟังจากทิศทางของเขา ระดับนำเขาก็คงบอกว่าจะไปแก้เรื่องการบังคับใช้ โดยมีธงว่าถ้าเป็นรัฐบาลคงจะทำให้การบังคับนี้มันเบาลง

“แต่ว่าสถานการณ์เรื่องนี้มันต่างจากสิบกว่าปีก่อนแล้วนะครับ มันเปลี่ยนไปหลายแบบ เปลี่ยนทั้งรัชสมัย เปลี่ยนทั้งความนึกคิดของผู้คนที่มีต่อเรื่องนี้ อย่างน้อยนี่เป็นปัญหาอันหนึ่งที่จะต้องจัดการกัน

“ทีนี้ฝ่ายที่อยากจะทำให้หนักขึ้นกว่าเดิม อันนี้ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ก็เสนอมา ผมยังถือว่าคนทั่วไปเขาจะมอง ว่าอะไรที่มันไม่ใช่ มันก็ไม่สำเร็จหรอก แต่อย่างน้อยก็ดี ในแง่ทำให้พูดกันในสภา คุณก็เสนอมา คนก็เห็นว่าของปัจจุบันมันหนักขนาดนี้ คุณยังเสนอมาหนักยิ่งไปกว่าเดิมอีก มันสุดโต่งเกินไปไหม”

 

“แต่ว่ามันยังจะใช้เวลาในการต่อสู้ในการขับเคลื่อนอีกยาวนานพอสมควร ไม่ได้เร็วหรอก…”

นี่คือการประเมินผลลัพธ์ในการเสนอแก้ไข ม.112 ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 จากสายตาและประสบการณ์ของวรเจตน์

“ให้ผมประเมิน หมายถึงประเมินจากท่าทีของพรรคการเมือง เว้นแต่ว่า ในระยะยาวข้างหน้า ก้าวไกลกลายเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา คุณกะจะกินเพื่อไทยไปได้หมด หรือว่าไปกินพรรคอื่นๆ มาด้วย แล้วกลายเป็นพรรคใหญ่มาก อีก 10 ปี 12 ปี 16 ปี 20 ปี

“หรืออาจจะไม่เกิดสภาวะแบบนั้นเลย คือ สภาวะของการแบ่งคะแนนเสียงมันก็จะเกลี่ยกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

ห้ามพลาดเว็บเลือกตั้งคัดสรรเพื่อแฟนๆ!!

เพื่อให้ทันทุกสถานการณ์ #เลือกตั้ง66 เครือมติชนได้คัดสรรเนื้อหาพิเศษ ทั้งข้อมูลเกาะติด บทวิเคราะห์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ สำหรับคอข่าวการเมืองโดยเฉพาะ

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมติชนออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี

https://election.matichon.co.th/