กลยุทธ์เผด็จศึก ของแมลงสาบ low carb | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ชีวิตรักของแมลงสาบมักจะเต็มไปด้วยรสชาติหวานชื่นรื่นรมย์ แต่ตอนนี้ ที่รสรักเคยหวานอาจกลายขมเล่นเอาเสียจนหมดอารมณ์ ด้วยฝีมือมนุษย์

มนุษย์กับแมลงสาบ แม้จะอยู่ร่วมกันมานาน แต่มันคือความจำใจ…

เพราะแมลงสาบนั้น ขึ้นชื่อลือชาในความอึด ถึก และทน จนหลายคนถึงกับคาดการณ์ว่า ถ้าจะมีตัวอะไรสักตัวที่จะรอดพ้นสงครามนิวเคลียร์ได้ ก็คงจะมีแมลงสาบนี่แหละที่ยืนหนึ่ง…

แม้ว่าเราจะพยายามหายุทธวิธีในการล้างบางแมลงสาบให้หมดไป แต่ยังไงน้อนนนนก็ยังถึก และยังคงอยู่รอดปลอดภัย ไม่หายไปไหนอยู่ดี

 

และในบรรดาแมลงสาบที่มีกระจายมากมายหลายสิบชนิดในแทบทุกหัวระแหง หนึ่งในชนิดที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมากที่สุด เพราะเจอได้ตลอด ก็คือ “แมลงสาบเยอรมัน (German cockroach หรือ Blattella germanica)”

แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นแมลงสาบเยอรมัน ไม่ได้พบเจอแค่ในเยอรมนี พวกมันกระจายไปทั่วทุกทุกมุมโลก ในแทบทุกที่ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

พวกมันมีสีน้ำตาล ตัวเล็กๆ กระจายไปทั่ว ตามซอกตู้ ซอกเตียง ในห้องน้ำ ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือแม้แต่บนเครื่องบิน และถ้าไปไล่มัน บางทีมันจะสู้กลับและบินใส่ เล่นเอาคนที่กลัว อาจถึงขั้นช็อกเอาได้เหมือนกัน เพราะแมลงสาบไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน… (อย่างน้อย ผมก็คนหนึ่งแหละที่ไม่เคยจะเห็นว่าน้อนนนน่ารักแต่อย่างใด)

แต่สำหรับโคบี้ ชาล (Coby Schal) นักกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธแคโรไลนา (North Carolina State University) แมลงสาบคือสัตว์เลี้ยงและแรงบันดาลใจ

งานวิจัยของโคบี้สนใจศึกษาพฤติกรรมแมลงสาบ ทั้งความชอบ รสนิยมทางอาหาร รสนิยมในการเลือกคู่ ไปจนถึง sex life…

 

ที่จริง รสนิยมด้านอาหารของแมลงสาบนั้น…เป็นที่รู้กันมาเนิ่นนานแล้ว และค่อนข้างชัดเจน “อาหารในดวงใจของพวกมันก็คืออาหารฟาสต์ฟู้ดแนวเข้มข้นหวานมัน คาร์บ (carb) จัดหนัก ไขมันจัดเต็ม”

เพราะทั้งคาร์บและไขมัน คือพลังงานที่พวกมันจะเอามาใช้เพื่อการอยู่รอดและล่อตาล่อใจคู่หมั้นคู่หมายได้

และนั่นทำให้บริษัทกำจัดแมลงต่างก็ให้ความสนใจ และได้พัฒนาเหยื่อล่อที่แฝงไปด้วยพิษร้าย แต่อัดแน่นไปด้วยรสชาติและความหอมหวานที่ดึงดูดให้แมลงสาบอดใจไม่ไหวขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s

“การคิดค้นเหยื่อล่อนี้ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติการควบคุมสัตว์รบกวน” โคบี้กล่าว

เหยื่อล่อดูเหมือนจะใช้ได้ผลดีมากๆ กลิ่นที่หอมหวานของมันล่อตาล่อใจแมลงสาบจนทนไม่ไหวต้องรีบรี่เข้าไปเขมือบ และไม่นานหลังจากนั้น แมลงสาบที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะจบสิ้นชีวิตไปจากพิษร้ายที่ใส่ไว้ในเหยื่อ

แต่แค่ไม่กี่ปีหลังจากที่เหยื่อออกสู่ตลาด จูลส์ ซิลเวอร์แมน (Jules Silverman) หัวหน้าทีมวิจัยแมลงสาบของบริษัทคลอรอกซ์ (The Clorox Company) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหยื่อล่อรายใหญ่ในตอนนั้น ก็เริ่มพบเจอปัญหา แมลงสาบบางกลุ่มในรัฐฟลอริดาเริ่มเปลี่ยนรสนิยม และไม่ยอมไปกินเหยื่อล่อของพวกเขา

และที่ไม่ยอมกินเหยื่อล่อ ไม่ใช่เพราะรู้ว่ามีพิษ แต่เป็นเพราะอยากที่จะเลี่ยงการกินกลูโคส และสารคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ ที่ย่อยลงมาแล้วได้กลูโคส

ถ้ามองว่า “กลูโคส” คือหนึ่งในสารให้พลังงานหลักในกระบวนการเมตาโบลิซึ่ม การวิวัฒนาการไปจนยอมไม่กินกลูโคส เป็นอะไรที่ประหลาดมาก เพราะไม่ว่าจะยังไง ในการแข่งขันอันโหดร้ายของเกมแห่งการอยู่รอด พลังงานคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญ

 

จูลส์ตื่นเต้นมากกับการค้นพบของเขา “นี่คือรายงานครั้งแรกของกลไกการต้านพิษ โดยการหลีกเลี่ยงสารโภชนาการ” เขาเขียนในเปเปอร์ Glucose aversion in the German cockroach, Blattella germanica ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Insect Physiology ในปี 1993

แต่คำถามที่ยังคงเป็นปริศนาก็คือ ทำไมแมลงสาบถึงยอมละเว้นสารให้พลังงานชั้นดีอย่างกลูโคส และยอมเปลี่ยนตัวเองไปเป็นแมลงสาบโลว์คาร์บแบบเต็มตัว

ไม่ใช่ว่าพวกมันรู้ว่าอาหารนั้นมีพิษ แต่อะไรบางอย่างทำให้พวกมันเริ่มรังเกียจการสวาปามน้ำตาลกลูโคสและคาร์บอื่นๆ

จูลส์เก็บความสงสัยนี้ไว้ยาวนาน จนเขาย้ายไปมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธแคโรไลนา และได้เจอกับโคบี้ ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมงานกันทันทีเพื่อไขปริศนาแมลงสาบโลว์คาร์บว่าทำไมมันถึงได้เลี่ยงกลูโคส

 

และในปี 2013 อะยาโกะ วาดะคัตสุมาตะ (Ayako Wada-Katsumata) นักวิจัยในทีมของโคบี้ก็ค้นพบความลับของการเลี่ยงกลูโคสของแมลงสาบกลายพันธุ์

เธอเอาเยลลี่ที่เต็มไปด้วยกลูโคสให้แมลงสาบกลายพันธุ์ของเธอกิน “คุณจะเห็นชัดเลยว่าแมลงสาบกลายพันธุ์ที่ชิมเยลลี่จะผงะถอยหลัง”

“ทำตัวเหมือนเด็กที่ไม่ยอมกินผักขม” โคบี้บรรยาย “พวกมันส่ายหัวและไม่ยอมที่จะดูดกินของเหลวนั้นเข้าไป”

อะยาโกะพบว่าความสามารถในการรับรสของแมลงสาบที่กลายพันธุ์ไปนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รสชาติแห่งกลูโคสที่เคยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสรับรสหวานนั้นแปรเปลี่ยนไปกระตุ้นระบบรับรสขมที่แมลงสาบไม่ชอบแทน

การวิวัฒนาการครั้งนี้มีราคาที่ต้องจ่าย เธอตีพิมพ์การค้นพบของเธอครั้งนี้ในวารสาร Science

“แม้ว่าพฤติกรรมหลีกเลี่ยงกลูโคสแบบนี้จะช่วยให้แมลงสาบอยู่รอดปลอดภัยจากเหยื่อล่อที่มคพิษแต่ถ้ามองในอีกไม่นานนี้มันกลับส่งผลร้ายอย่างอื่นกับพวกมันแทน” อะยาโกะกล่าว “กลูโคสนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยพลังงาน แมลงสาบที่หลีกเลี่ยงกลูโคสนั้นจะโตช้ากว่าญาติๆ ที่ไม่จุกจิกของมันอย่างมหาศาล”

และที่เจ็บปวดที่สุด ก็คือการกลายพันธุ์แบบนี้ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องการโต แต่ส่งผลกับกลยุทธ์การจีบหญิงของแมลงสาบหนุ่มด้วย

 

โคบี้จับแมลงสาบตัวเมียขนาดเท่าเมล็ดถั่วอย่างแผ่วเบา วางลงไปในจานเลี้ยงเชื้อ และอีกไม่กี่นาทีต่อมาเขาก็หยิบแมลงสาบตัวผู้ที่มีขนาดพอๆ กันใส่ตามลงไป

“เอาล่ะ ผมเพิ่งใส่ตัวผู้ลงไป กลิ่นฟีโรโมนจากตัวเมีย จะเปรียบเหมือนน้ำหอมที่ทำให้ตัวผู้คลั่งไคล้” โคบี้กล่าว ก่อนจะเริ่มพากย์ “เห็นมั้ย มันเริ่มเดินตามตัวเมียแล้ว”

และพอทั้งสองได้สัมผัสกัน แมลงสาบหนุ่มก็จะยกปีกขึ้น เปิดให้เห็นต่อมเล็กๆ ที่หลังของมัน ที่ต่อมนี้เองที่มันจะหลั่งของขวัญแห่งรักมายั่วยวนแมลงสาบสาวให้ลุ่มหลง

ของกำนัลรสหอมหวาน เรียกว่า nuptial gift จะส่งกลิ่นอันน่าดึงดูดให้สาวเจ้าคลั่งไคล้อยากเข้าไปลองลิ้ม และทางเดียวที่จะได้สวาปามของขวัญอันรัญจวนนี้ก็คือ ต้องปีนขึ้นไปขี่อยู่บนตัวแมลงสาบหนุ่ม

“นี่คือท่วงท่าที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับแมลงสาบหนุ่ม” โคบี้บรรยายอย่างออกรส

ในขณะที่แมลงสาบสาวกำลังเพลิดเพลินกับของกำนัลอันเลิศรส แมลงสาบหนุ่มก็จะเผด็จศึก

โดยมาก แมลงสาบหนุ่มจะค่อนข้างอึด พวกมันจะดุ๊บดิ๊บกันอยู่กับแมลงสาบสาวอยู่ราวๆ ชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่งก่อนที่ภารกิจสร้างแมลงสาบเบบี้จะเสร็จสิ้น

 

“Nuptial gift นี้เปรียบเหมือนช็อกโกแลตสินสอดสื่อรัก หอมหวาน เต็มไปด้วยกลูโคส และสารอาหารอื่นๆ ที่แสนยั่วยวนรัญจวนใจ” อะยาโกะอธิบาย และถ้าตัวเมียเอนจอยกับ nuptial gift อันโอชา ภารกิจสร้างลูกก็จะสำเร็จ

แต่ถ้าไม่ สาวเจ้าก็อาจจะเปลี่ยนใจ ดิ้นรน ไม่ยอมให้แมลงสาบหนุ่มทำภารกิจจนสำเร็จ ก็เป็นได้เหมือนกัน

ถ้ามองในแง่กลยุทธ์ กุญแจดอกสำคัญที่บ่งชี้ว่าการสืบพันธุ์ของคู่รักแมลงสาบจะสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมายตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ก็คือ ของกำนัลสำหรับสาวงาม หรือ “nuptial gift” นี่เอง

ถ้าเป็นแมลงสาบปกติ nuptial gift ที่อุดมไปด้วยกลูโคส คงเป็นเมนูระดับมิชลินสตาร์ให้แมลงสาบสาวได้ดื่มด่ำกำซาบในขณะที่ตัวผู้กำลังเอนจอยกับการผสมพันธุ์

แต่สำหรับแมลงสาบกลายพันธุ์ ที่ต่อมรับรสผิดเพี้ยนไป จนกลูโคสจากที่เคยหวาน กลายกลับขม nuptial gift ของกำนัลแทนใจ ที่ควรจะโอชารส ก็อาจจะมีรสไม่น่าพิศวาสสักเท่าไร ครั้นสาวเจ้าชิมเข้าไป ขมปี๋ ก็อาจจะร้องยี้ แล้วกระโดดหนี ภารกิจที่ดูเหมือนจะดี อาจจะล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ต้องบอกว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะถ้าแมลงสาบที่กลายพันธุ์ไปจนหนีเหยื่อล่อพิษได้ ล้มเหลวที่จะสืบพันธุ์ต่อ เช่นนั้น ภารกิจล้างบางแมลงสาบก็ยังไม่น่าเป็นห่วง

แต่ในความเป็นจริง ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่หวัง ชีวิตย่อมมีทางออกเสมอ

 

งานวิจัยใหม่ของอะยาโกะและโคบี้ที่เพิ่งออกมาในปี 2023 ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B เผยว่าแมลงสาบทั้งที่กลายพันธุ์แล้ว และยังไม่กลายพันธุ์นั้นได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการเผด็จศึกไปบ้างแล้วเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงการรับรสของพวกมัน (บางตัวที่กลายพันธุ์ไป)

ซึ่งสองกลยุทธ์หลักที่ทางทีมวิจัยค้นพบก็คือ กลยุทธ์ “ปรับสูตรของกำนัลหลอก” หรือเปลี่ยนการสร้างสารประกอบน้ำตาลใน nuptial gift จากเดิมที่สร้างเป็นกลูโคส หรือ มอลโทส (maltose) ที่ถูกย่อยกลายเป็นกลูโคสได้ง่าย กลายเป็นมอลโทไตรโอส (maltotriose) ที่ทนต่อเอนไซม์ในน้ำลายของแมลงสาบได้ดีแทน หอมหวนเหมือนเดิม แต่ไม่ขมปี๋เหมือนกลูโคส อย่างน้อย ก็จะย่อยได้ก็นานหน่อย กว่าจะเริ่มขม เจ้าแมลงสาบตัวผู้ก็ผสมไปเรียบร้อยแล้ว

และกลยุทธ์ที่สองก็คือ “นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ” คือทำภารกิจให้ไว ต้องเสร็จสมอารมณ์หมายก่อนที่ตัวเมียจะรู้ว่าของกำนัลที่ให้ไปนั้นไม่อร่อย…

การค้นพบนี้ทำให้นักวิจัยทั้งจูลส์ โคบี้ อะยาโกะ และทีมจากบริษัทต่างๆ ต้องกุมขมับ เพราะตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเหยื่อล่อหอมหวานน้ำตาลกลูโคสแบบดั้งเดิมนั้น ไม่น่าจะเอาน้อนนนนนอยู่อีกต่อไป

แน่นอนว่าทางทีมคงไม่หยุดแค่นี้ ยังคงมีแผนจะพัฒนาเหยื่อล่อชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อวางยาน้อนนนนแมลงสาบต่อไป แต่ก็มั่นใจได้ว่าน้อนนนนนนนคงจะวิวัฒน์กลยุทธ์ในการเผด็จศึกแบบใหม่ๆ ขึ้นมาต้านอีกเป็นแน่แท้

 

ใครจะรู้ว่าแค่การวางเหยื่อล่อกำจัด จะส่งผลกระทบต่อเนื่องได้มากมายจนเกิดวิวัฒนาการจนผิดเพี้ยนไปของรสนิยมทางอาหาร

กลายเป็นแมลงสาบโลวคาร์บหรือแม้แต่กลยุทธ์ในชีวิตรักของพวกมัน

สำหรับแมลงสาบ ดูเหมือนว่าวิวัฒนาการส่วนใหญ่ในตอนนี้จะยังวนๆ อยู่กับการแก้ปัญหาแรงคัดเลือกที่เกิดมาจากมนุษย์

แต่ในอนาคตไม่แน่ ถ้าออกแบบอะไรขึ้นมาคงต้องระวังให้ดี

เพราะถ้าทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้ามา แล้วน้อนนนนวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นสายสตรอง

คราวนี้จะมึนไม่รู้จบ