ขั้วโลกเหนือ vs ขั้วโลกใต้ หนาวทั้งคู่…แต่ต่างกันมากมาย | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

เมื่อพูดถึงขั้วโลก ไม่ว่าขั้วโลกเหนือหรือใต้ สิ่งหนึ่งที่คนจำนวนมากรู้สึกก็คือความหนาวเย็น แต่ในความหนาวเย็นนี้มีทั้งจุดคล้ายคลึงและจุดแตกต่างกันอย่างน่าทึ่งครับ

บริเวณขั้วโลกเหนือเป็นผืนน้ำล้อมด้วยผืนดิน แต่ผืนดินที่ว่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยตลอด ส่วนผืนน้ำคือมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ซึ่งมีแผ่นน้ำแข็งทะเล (sea ice) ลอยอยู่

แผ่นน้ำแข็งทะเลในแถบอาร์กติกหนาราว 2-3 เมตร บางแห่งอาจหนาถึง 5 เมตรก็เคยพบ ทว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งความหนาและพื้นที่ที่แผ่นน้ำแข็งทะเลปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกได้ลดลงอย่างน่าจับตา สะท้อนว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแถบขั้วโลกอย่างชัดเจน และเชื่อกันว่าน่าจะเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง

ในบรรดามหาสมุทรหลัก 5 แห่งของโลก มหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทรที่มีพื้นที่น้อยที่สุด โดยเล็กกว่ามหาสมุทรแปซิฟิกราว 10 เท่า แถมยังตื้นที่สุด เนื่องจากมีความลึกเฉลี่ยเพียง 1,204 เมตร

หมีขาวกำลังทดสอบความแข็งแรงของแผ่นน้ำแข็งบนผิวทะเล ภาพโดย มาริโอ ฮอปป์มันน์ (Mario Hoppmann)
ที่มา : https://climate.nasa.gov/news/2499/polar-bears-across-the-arctic-face-shorter-sea-ice-season/

ส่วนบริเวณขั้วโลกใต้เป็นผืนดินล้อมด้วยผืนน้ำ ผืนดินนี้คือทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเกือบทั้งหมดปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็ง (ice sheet) สถิติแผ่นน้ำแข็งที่หนาที่สุดคือ 4,776 เมตร ส่วนความหนาเฉลี่ยราว 2,200 เมตร ส่งผลให้แอนตาร์กติกาเป็นทวีปอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดโดยเฉลี่ย

มีข้อสังเกตคือ ทวีปที่มีความสูงเป็นอันดับสองได้แก่ ทวีปอเมริกาใต้ (South America) ซึ่งมีความสูงเฉลี่ย 2,100 เมตร (แพ้อันดับหนึ่งไปอย่างเฉียดฉิว) ค่า 2,100 เมตรนี้มาจากเหตุผลเดียวคือ เทือกเขาแอนดีส (Andes) ซึ่งยาวถึงราว 7,000 กิโลเมตร และสูงเฉลี่ยราว 4,000 เมตรนั่นเอง

น่ารู้ด้วยว่าน้ำจืดราว 70% ของโลกอยู่ในน้ำแข็งขั้วโลกใต้นี้ และหากน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้นี้ละลายหมดก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึงราว 60 เมตรเลยทีเดียว!

คำที่ฟังคล้ายกันมาก ได้แก่ แอนตาร์กติกาและแอนตาร์กติก คำว่า แอนตาร์ติกา (Antarctica) หมายถึงฉพาะตัวทวีปหรือผืนแผ่นดินที่ขั้วโลกใต้

ส่วนคำว่า แอนตาร์ติก (Antarctic) หมายถึง ทวีปแอนตาร์กติกากับผืนน้ำโดยรอบ ผืนน้ำนี้เป็นบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย ในปัจจุบันถือกันว่าเป็นมหาสมุทรและมีชื่อเรียกหลายชื่อ

เช่น Antarctic Ocean, Southern Ocean, Great Southern Ocean หรือ South Polar Ocean เป็นต้น

นกเพนกวินอาเดลีที่ทวีปแอนตาร์กติกา
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_birds_of_Antarctica

แล้วชื่อ Arctic และ Antarctic ล่ะมาจากไหน?

คำว่า Arctic มาจากคำว่า arktos ในภาษากรีกซึ่งแปลว่า หมี อันหมายถึงกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ที่หมุนวนอยู่รอบดาวเหนือนั่นเอง กลุ่มดาวหมีใหญ่นี้ไทยเรียกว่าดาวจระเข้ (ส่วนอีกคำอธิบายหนึ่งบอกว่าหมายถึง กลุ่มดาวหมีเล็ก หรือ Ursa Minor ซึ่งหมุนวนรอบขั้วเหนือท้องฟ้าด้วยเช่นกัน กลุ่มดาวหมีเล็กนี้มีดาวเหนือเป็นดาวดวงสุดท้ายที่ปลายหาง)

ส่วนคำว่า Antarctic ก็มาจากคำอุปสรรค ant (แปลว่า ตรงกันข้าม ลองนึกถึงคำว่า anti) บวกกับคำว่า arctic รวมความว่า ตรงข้ามกับอาร์กติก ง่ายๆ แค่นั้นเอง

ขั้วโลกทั้งสองนี้ ที่ไหนหนาวกว่ากัน?

 

ฤดูหนาวของแถบขั้วโลกเหนือจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส และอาจลงต่ำสุดได้ถึงในช่วง -62.1 ถึง -69.6 องศาเซลเซียส (ข้อมูลจากสถานีวิจัยหลายแห่ง)

แต่จากสถิติพบว่าแถบขั้วโลกใต้หนาวกว่า เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ระหว่าง -55 ถึง -60 องศาเซลเซียส และเคยทำสถิติโลกต่ำสุดขีดที่ -89.2 องศาเซลเซียส ที่สถานีวิทยาศาสตร์วอสต็อก (Vostok Science Station) ของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1983

นอกจากหนาวที่สุดแล้ว ทวีปแอนตาร์กติกายังเป็นแชมป์โลกในด้านแห้งแล้งที่สุด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีหิมะ(เทียบเท่า) ตกน้อยกว่า 200 มิลลิเมตรต่อปี ฝรั่งถือว่าทวีปแอนตาร์ติกาว่าเป็น desert ซึ่งหมายถึงพื้นที่แห้งแล้ง มีหยาดน้ำฟ้าตกลงมาน้อย (คำว่า desert ที่แวบแรกคิดถึง “ทะเลทราย” จึงเป็นเพียงแค่ความหมายหนึ่งเท่านั้นครับ)

ทวีปแอนตาร์กติกายังมีลมกระโชกแรงที่สุดถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเกิดลมพัดลงลาดเขา (katabatic wind) ซึ่งเป็นลมที่เย็นและหนักที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงบริเวณขั้วโลก

แล้วภูเขาน้ำแข็ง (iceberg) ล่ะ ที่ไหนอลังการกว่ากัน?

 

ภูเขาน้ำแข็งเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ลอยอยู่ในทะเล ทางแถบขั้วโลกเหนือเคยพบใหญ่ที่สุดยาว 11 กิโลเมตร ใกล้ๆ เกาะแบฟฟิน (Baffin Island) เมื่อปี ค.ศ.1882 แต่แม้จะใหญ่ขนาดนี้ก็ยังจิ๊บๆ มากเมื่อเทียบกับภูเขาน้ำแข็งทางขั้วโลกใต้ เช่น ภูเขาน้ำแข็งขนาดยาว 300 กิโลเมตร ซึ่งพบโดยเรือตัดน้ำแข็งชื่อ USS Glacier

นักผจญภัยที่ไปถึงแต่ละขั้วโลกเป็นคนแรกคือใคร?

กรณีขั้วโลกเหนือยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ครับ เพราะว่าโรเบิร์ต อี เพียรี (Robert E. Peary) อ้างว่า เขาได้เดินทางไปถึงขั้วโลกเหนือด้วยเลื่อนเทียมสุนัขในปี ค.ศ.1909 แต่มีคนไม่เชื่อ ส่วนโรอัลด์ อามุนด์เซน (Roald Amundsen) และริชาร์ด อี เบิร์ด (Richard E. Byrd) ก็อ้างว่าได้เดินทางไปถึงด้วยเครื่องบินในปี ค.ศ.1926

ส่วนผู้พิชิตขั้วโลกใต้นั้นชัดเจนว่าคือ โรอัลด์ อามุนด์เซน ได้เดินทางไปถึงเป็นคนแรกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1911 น่ารู้ด้วยว่าหลังจากนั้นอีกราว 1 เดือน คณะสำรวจภายใต้การนำของโรเบิร์ต ฟัลคอน สกอตต์ (Robert Falcon Scott) นักสำรวจชาวอังกฤษ ก็ไปถึงขั้วโลกใต้ในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1912

 

ลองมาดูสิ่งมีชีวิตที่ขั้วโลกทั้งสองพอเป็นตัวอย่างกันบ้าง

นักวิทยาศาสตร์พบว่าหากนับพื้นดินโดยรอบเข้าไปด้วยแล้ว ดินแดนแถบขั้วโลกเหนือมีพืชถึงราว 3,000 ชนิด ในขณะที่ดินแดนแถบขั้วโลกใต้มีพืชน้อยชนิดกว่ามาก เช่น มีพืชไม่มีท่อลำเลียง ได้แก่ มอส มีพืชมีท่อลำเลียงเพียง 2 ชนิด ได้แก่ หญ้า Deschampsia antarctica และพืชใบเลี้ยงคู่ Colobanthus quitensis ที่เกาะซิกนีย์ (Signy Island) นอกจากนี้ก็มีพืชอีกจำนวนหนึ่ง (ไม่มากชนิดนัก) ที่เกาะแม็กควอรี่ (Macquarie Island)

ซึ่งเป็นพื้นที่ “อบอุ่น” (อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 3.3 และ 7.0 องศาเซลเซียส) ในทวีปนี้

 

แล้วปลาน้ำจืดล่ะ? แน่นอนว่าทั้งแถบขั้วโลกเหนือ (อาร์กติก) และขั้วโลกใต้ (แอนตาร์กติก) คงมีน้อยมาก จากข้อมูลในเอกสาร Arctic Biodiversity in a Global Context ระบุว่า ขั้วโลกเหนือมีปลาน้ำจืดท้องถิ่นเพียง 11 ชนิด (สปีชีส์) ส่วนขั้วโลกใต้ไม่มีแม้แต่ชนิดเดียว

ดินแดนแห่งความหนาวเย็นสุดขั้วสองแห่งนี้มีอะไรเชื่อมโยงถึงกันบ้างไหม (นอกจากอากาศและกระแสน้ำทะเล)?

คำตอบก็คือ มีครับ และน่าทึ่งอย่างยิ่งด้วย เพราะมีนกชนิดหนึ่งซึ่งเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่สุดขอบโลก 2 แห่งนี้ นั่นคือ นกนางนวลแกลบขั้วโลก (Arctic tern)

นกนางนวลแกลบขั้วโลกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sterna paradisaea มีลำตัวสีขาว ปีกสีเทาและกระหม่อมสีดำ ดูคล้ายคลึงกับนกนางนวลแกลบธรรมดา (S. hirundo) ที่พบเห็นกันได้บ่อย

 

นกนางนวลแกลบขั้วโลกบินอพยพย้ายถิ่นประจำปีเป็นระยะทางไกลที่สุด ในฤดูร้อน (ของซีกโลกเหนือ) นกชนิดนี้ผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณขอบมหาสมุทรอาร์กติก พอถึงฤดูหนาวก็จะบินอพยพย้ายถิ่นลงไปอาศัยหากินบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา และบินกลับไปทางเหนือใหม่ในฤดูร้อน รวมระยะทางไปกลับเพียงแค่ 70,900 กิโลเมตร เท่านั้นเอง! (ประมาณระยะทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 100 เท่า)

เรื่องนกนางนวลแกลบขั้วโลกนี่เอาไว้ผมจะหาโอกาสเล่ารายละเอียดให้อ่านอีกทีนะครับ

ก่อนจบเรื่องนี้ มีคำถามเด็กๆ ว่า เหตุใดหมีขาวจึงไม่เคยลิ้มรสเนื้อนกเพนกวิน?

คำตอบก็คือ เพราะหมีขาวอาศัยอยู่แถบอยู่ขั้วโลกเหนือ ส่วนนกเพนกวินอยู่แถบขั้วโลกใต้นั่นเอง!