กระแสเสรี ‘นิยม’ ‘ก้าว’ ไป ‘ไกล’

บทความในประเทศ

 

กระแสเสรี ‘นิยม’

‘ก้าว’ ไป ‘ไกล’

 

ยิ่งใกล้เลือกตั้ง การปรากฏของโพลยิ่งน่าสนใจ

โดยเฉพาะโพลระบบออนไลน์ที่เกิดจากการร่วมมือของ 2 สื่อใหญ่ประเทศ อย่างเครือมติชนและเดลินิวส์

เพราะทั้งสองสื่อมีรากฐานมาอย่างยาวนาน ต่อเนื่องการพัฒนาเข้าสู่โลกออนไลน์จนครอบคลุมผู้อ่าน จับมือกันวางระบบทำโพลแบบล็อก IP Address หนึ่งคนจะโหวตผ่านอุปกรณ์สื่อสารได้แค่ 1 ครั้ง เป้าหมายคือ เพื่อให้ผลโพลแม่นยำ ตรงความจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้

เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 84,076 ราย พบว่า บุคคลที่อยากให้เป็นนายกฯ มากที่สุด อันดับ 1 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 29.42, อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 23.23, อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 16.69, อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 13.72, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 2.97

ตามด้วยคำถามพรรคที่อยากให้เป็นรัฐบาล อันดับ 1 คือ เพื่อไทย ร้อยละ 38.89, อันดับ 2 ก้าวไกล ร้อยละ 32.37, อันดับ 3 รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84, อันดับ 4 ภูมิใจไทย ร้อยละ 3.30, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ร้อยละ 2.21

จะเห็นว่า คะแนนอันดับ 1 และอันดับ 2 ล้วนเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน

หากนำสองพรรคมารวมกัน คะแนนจะมากกว่า 70% สอดคล้องกับนิด้าโพล และสวนดุสิตโพล ที่เผยผลสำรวจมาก่อนหน้านี้

เพียงแต่โพลของเครือมติชนและเดลินิวส์มีความน่าสนใจในแง่กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 8.4 หมื่นราย

 

หากจะแบ่งประเภทกลุ่มก้อนทางการเมืองแบบหยาบๆ ตามจุดยืนต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในสนามการเมืองไทยขณะนี้

เราจะแบ่งได้เป็น 3 ก้อน

คือ 1.ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายอำนาจเก่า 2.ฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายอำนาจใหม่ ที่มีเป้าหมายท้าทาย ชิงการนำจากกลุ่มอำนาจเก่า และ 3.ฝ่ายเป็นกลางที่ยึดการดีลให้ลงตัว-ลดขัดแย้ง

หากจะเปรียบให้พอเห็นภาพ คือการต่อสู้ทางการเมืองไทยเป็นการต่อสู้กันของกลุ่มก้อนอำนาจทางขวา กับทางซ้าย โดยมีอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีทั้งพรรคที่จุดยืนนโยบายบางอย่างเหมือนจะเอียงฝั่งซ้าย แต่ก็พร้อมไปรวมกับฝั่งขวา หรือจุดยืนนโยบายเหมือนทางขวาบ้าง แต่ก็อาจพร้อมจะดีล พูดคุยกับกลุ่มก้อนอำนาจทางซ้าย ที่ขณะนี้ยังไม่ประกาศตัวให้ชัดว่าจะไม่ร่วมกับใคร

ทางฟากอนุรักษนิยมหรือกลุ่มอำนาจเดิม เราจะเห็นพรรคหลักคือรวมไทยสร้างชาติ จัดได้ว่าเป็นขวาเฉดเข้มข้น

ตามด้วยพลังประชารัฐที่ระดับความเข้มข้นอ่อนลงมา

รวมกับพลัง 250 ส.ว. องค์กรอิสระ กลไกราชการที่วางไว้ และโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้เป็นพลังหนุนหลัง

ขณะที่ฟากเสรีนิยม หรือกลุ่มอำนาจใหม่ที่เข้ามาท้าทาย จะเห็นเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นแกนหลัก

ขณะกลุ่มกลางๆ เอียงอนุรักษ์ แกนหลักเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า ส่วนกลุ่มกลางเอียงทางเสรีนิยมก็เช่น พรรคไทยสร้างไทย

เมื่อวิเคราะห์ตำแหน่งแห่งหนทางการเมืองของแต่ละพรรค เทียบเข้ากับโพลสำรวจ ไม่ว่าจะของนิด้าโพลรอบล่าสุด และโพลเครือมติชน-เดลินิวส์ ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดขณะนี้คือชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมหรือกลุ่มก้อนอำนาจใหม่ที่พยายามท้าทายอำนาจเดิมอย่างขาดลอย ไม่ว่าจะเป็นคะแนนคนที่อยากให้เป็นนายกฯ หรือพรรครัฐบาล

แต่การนำตามผลโพลนั้น แทนที่จะเห็นความร่วมกันในปีกเสรีนิยมเพื่อก้าวไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

ปัญหาขณะนี้กลับกลายเป็นว่าฝ่ายเสรีนิยมหรือกลุ่มที่ท้าทายอำนาจเดิมต้องแข่งขันฟาดฟันกันเอง

 

ความตึงเครียดทางการเมืองขณะนี้จึงอยู่ที่มวยหลักคือเพื่อไทย ที่ถูกมวยรองอย่างก้าวไกล ท้าทายด้วยชุดความคิด-ความชัดเจนทางการเมืองอย่างหนักขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า ยิ่งเพื่อไทยไม่ชัดเจน คะแนนของคนที่เพื่อไทยเคยคิดว่าจะได้ ก็อาจจะไหลไปที่ก้าวไกล การพูดแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ-สู้กับ 250 ส.ว. อาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ตื่นรู้ทางการเมืองอีกจำนวนมาก ที่ต้องการคำตอบเรื่องความชัดเจนในการจับมือกับใครตั้งรัฐบาล

แม้เพื่อไทยจะปล่อยหมัดหนักเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ อย่างการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความรัดกุมรอบคอบ แถมฝ่ายอำนาจเก่า รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ เกทับว่าเงินที่ให้ผ่านบัตรสวัสดิการรวมกันแล้วมากกว่า ส่วนนโยบายเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ก็ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการสังคม

ขณะที่พรรคก้าวไกล มองภาพรวมเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจก็อาจจะดูไม่ได้เหนือกว่าหรือด้อยกว่าเพื่อไทย จุดเด่นของพรรคก้าวไกลจึงขับเน้นการพูดเรื่องการต่อสู้เรื่องโครงสร้างมากขึ้นอย่างเด่นชัด

จะเห็นได้จากความเฉิดฉายในการขึ้นเวทีดีเบตแทบทุกเวทีที่สื่อจัด

 

รอบนี้ต้องยอมรับว่าเวทีดีเบตคึกคักมาก สื่อสำนักต่างๆ ให้ความสำคัญ กระจายกันจัดเวทีประชันนโยบายกันครอบคลุมทั่วประเทศ และนี่คือจุดได้เปรียบของก้าวไกล เพราะมีตัวเด่นทางการเมืองส่งไปประชันนโยบายกับคนอื่น

ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียง, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ก้าวไกลส่งไปดีเบตครบทุกเวที ทุกคนมีจุดเด่นคือลีลาการพูด ประกาศความชัดเจนทางจุดยืนตรงกันอย่างกับโปรแกรมมา โดยเฉพาะการโต้เถียงด้วยข้อมูล เหตุผล จนกลายเป็นเรื่องราวที่แชร์กันสนั่น

ขณะที่เพื่อไทยได้เห็นแพทองธาร ชินวัตร ออกดีเบต 1 ครั้ง ซึ่งเป็นดีเบตครั้งแรก แต่ก็ได้รับการชื่นชมว่าทำได้ดี แสดงจุดยืนวิวาทะสำคัญได้ด้วยลีลาไม่แพ้ใคร แต่นั่นก็เป็นการขึ้นดีเบตครั้งเดียวเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เพราะติดเรื่องสุขภาพการตั้งครรภ์

ขณะที่แคนดิเดตนายกฯ คนอื่นอย่าง เศรษฐา ทวีสิน ก็ยังไม่เห็นขึ้นเวทีดีเบต เช่นเดียวกับ ชัยเกษม นิติสิริ ที่ติดปัญหาเรื่องสุขภาพ จุดนี้ทำให้พรรคคู่แข่งคือก้าวไกล เก็บคะแนนเวทีดีเบตและกระแสโซเชียลได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

และแม้จะแกนนำคนอื่นๆ ไปขึ้นเวทีดีเบต ก็ต้องยอมรับว่า ลีลาถูกกลืน ลูกล่อลูกชนไม่โดดเด่นเท่าก้าวไกล ขณะที่ตัวตึงอย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แม้จะขึ้นเวทีดีเบตได้ดีในช่วงแรก แต่ภายหลังก็ถูกจัดให้เป็นผู้นำการปราศรัยตระเวนจังหวัดต่างๆ มากกว่า

ในเวทีต่างจังหวัดจะเห็นชัด เพื่อไทยส่งนักการเมืองคนดังในพื้นที่ แต่ก้าวไกลส่งเบอร์ใหญ่ไปเก็บกระแสหมด ได้กำไรสองต่อเพราะเป็นการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ จนผลโพลเรียลไทม์ขึ้นนำห่างทุกเวที

 

สื่อเก่าว่าแรงแล้ว สื่อโซเชียลแรงกว่า ไปสำรวจดูสื่อที่เป็นรูปแบบวิดีโอสั้นยิ่งมีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ แพลตฟอร์มอย่างติ๊กต็อก หรือ Reel ในเฟซบุ๊ก หรือ Shorts ในยูทูบ ได้รับความนิยมสูงมาก คลิปเวทีดีเบตของก้าวไกลในประเด็นร้อนแรงต่างๆ ขึ้นฟีดมาสลับกับคลิปตลก คลิปข่าวที่คนทั่วไปชอบดู จนยอดปฏิสัมพันธ์ของคลิปเหล่านี้ขึ้นหลักหลายๆ ล้านในหลายๆ คลิป

ประมาทไม่ได้ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้เข้าถึงคนทุกชนชั้นมากขึ้นใน พ.ศ.นี้ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท

พลพรรคก้าวไกลยังเล่นกับสื่อใหม่ได้ดี คลิปไม่ซีเรียสของ วิโรจน์ก้าวไก่-ธนาธรร้องเพลง-พิธาผูกผ้าขาวม้า ยอดวิวสูงลิบ ยังไม่นับคลิปสั้นในทวิตเตอร์อีกแพลตฟอร์ม

จะเห็นได้ว่าถ้าวัดกันที่จุดเด่นทางการเมือง ก้าวไกลเหนือกว่าเพื่อไทยค่อนข้างชัด เรื่องนี้ไม่ใช่เพื่อไทยไม่รู้ แต่รู้และพยายามปรับตัวมาตลอด จนกล่าวได้ว่าเพื่อไทยยุคนี้คือเพื่อไทยที่ก้าวหน้าที่สุด เข้มแข็งเชิงนโยบายการเมืองมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาแล้ว

แต่สิ่งที่ปรากฏผ่านสื่อและเวทีดีเบตตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก้าวไกลชิงความได้เปรียบในการทำให้เห็นว่า มีความก้าวหน้ากว่า มีลักษณะของการตั้งใจเปลี่ยนแปลงมากกว่า ซื่อตรง พูดอย่างตรงไปตรงมาในทุกเวทีดีเบตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันว่าไม่ร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเดิม

การหาเสียงก็ดูเข้าถึงกว่า จะพบภาพผู้สมัครก้าวไกลแบกลำโพงยืนสู้แดดร้อนขอคะแนน เรื่องนี้ประมาทไม่ได้ เดินคนเดียว ปั่นจักรยานนี่แหละ เคยทำสำเร็จมาแล้วตอนอนาคตใหม่ปี 2562

 

นอกจากนี้ ในเวทีดีเบตหลายครั้งพบว่า นักการเมืองก้าวไกลเป็นฝ่ายถูกกระทำจากนักการเมืองฝั่งอนุรักษนิยม มีภาพโดดเด่นจากการตอบโต้ถึงพริกถึงขิงกับนักการเมืองกลุ่มอำนาจเดิมเหล่านั้น

ไม่ว่าจะกรณี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ยกเรื่องการต่อสู้ชาวบ้านบางระจัน จัดหนักใส่ก้าวไกลในการหาเสียงเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก่อนถูกสู้กลับด้วยชุดข้อมูลประวัติศาสตร์อีกด้าน ชาวบ้านบางระจันล้วนเป็นประชาชนที่สมัครใจปกป้องบ้านเมือง ไม่ใช่การบังคับใจเกณฑ์มาเป็นทหาร

หรือจะเป็นภาพ สุชาติ ชมกลิ่น แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยืนชี้หน้าเกรี้ยวกราดใส่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ฝ่ายหลังตอบกลับอย่างสุภาพ พร้อมถามโต้ทุกดอกอย่างดูมีเหตุผลกว่า

หรือจะเป็นเวทีดีเบตเรื่องแก้ 112 ที่จุติ ไกรฤกษ์ จากรวมไทยสร้างชาติ สวนกลับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยากให้ประเทศชาติมั่นคง อย่าแตะ 112 แต่ถูกพิธาโต้กลับ อยากให้ประเทศชาติมั่นคง ต้องเอา 112 ไปพูดกันในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ

หรือกรณี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ปะทะ ศุภชัย ใจสมุทร แห่งภูมิใจไทย ก็กลายเป็นคลิปดัง จากวิวาทะเรื่องกัญชา ลามมาเรื่องการตั้งรัฐบาล

 

ทั้งหมดคือตัวอย่างที่ตอบคำถามว่า ทำไมนิด้าโพลล่าสุด คะแนนพิธาและก้าวไกล พุ่งจ่อคอหอย แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงได้อันดับ 1 แต่คะแนนลดลง

ขณะที่โพลของเครือมติชน-เดลินิวส์ พิธาพุ่งแซงไปแล้วในตำแหน่งนายกฯ ขณะที่พรรคก้าวไกลก็มาเป็นอันดับ 2 ตามบี้เพื่อไทยติดๆ

ขณะที่เพื่อไทย จากการพูดไม่ชัดในหลายเวทีเรื่องจุดยืนการร่วมรัฐบาล จนทำให้คนมองว่ามุ่งเน้นการเดินเกมการเมืองเชิงยุทธศาสตร์มากไป ส่งผลความมั่นใจอาจจะลดลง แม้ต่อให้ลึกๆ หรือในความจริงจะมีเจตนาต่อสู้กับ 2 ลุงกลุ่มก้อนอำนาจเก่าก็ตาม

นั่นคืออาการเล็กๆ ของความเปลี่ยนแปลงทางความคิดการเมืองของกระแสเสรีนิยมที่ “ก้าว” ไป “ไกล” กว่าที่คาด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง “อาการ” นี้ดูจะยิ่งปรากฏชัดขึ้น