บัตรเลือกตั้งนั้นสำคัญไฉน

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

 

บัตรเลือกตั้งนั้นสำคัญไฉน

 

นับตั้งแต่มีการยุบสภาเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งมาได้ 1 เดือน

หลายท่านให้ความสนใจไปที่การเมืองซึ่งกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน แต่ละพรรคหาเสียงเรียกคะแนนด้วยการประกาศนโยบายต่างๆ ชนิดที่เรียกว่า “เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก” แบบไม่เกรงใจใคร

ในขณะที่หลายท่านก็กำลังสังเกตสังกาท่าทีจุดยืนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในการจับขั้วแยกข้างสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะสามารถหรือไม่สามารถร่วมงานกับใครได้บ้าง

แน่นอนครับว่า ประเด็นข้างต้นถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประชาชนอย่างเราที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าคูหากากบาทให้ใครและพรรคใดในวันที่ 14 พฤษภาคม

แต่กระนั้นก็ตาม สัปดาห์นี้ผมคงไม่ได้มาชวนทุกท่านเข้าไปขบคิดพิจารณาถึงนโยบายหรือจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ หรอก

หากแต่สิ่งที่อยากจะหยิบยกขึ้นมาชวนพูดคุยกันคือเรื่องของ “บัตรเลือกตั้ง” น่ะครับ

 

หลายท่านอาจกำลังฉงนสงสัยว่ากับแค่บัตรเลือกตั้งจะมีความสำคัญถึงขนาดนั้นเลยเชียวหรือจึงต้องนำมาอรรถาธิบายกันในครั้งนี้?

ใช่ครับ เพราะตามระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ประเด็นว่าด้วยบัตรเลือกตั้งในนานาอารยประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งไม่แพ้กติกาการเลือกตั้ง

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้เราจะมีกฎเกณฑ์การเลือกตั้งที่ดีสามารถสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนได้ก็ตาม

แต่หากปราศจากบัตรเลือกตั้งที่ดีแล้ว ย่อมไม่อาจนำพาไปสู่สภาวะการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญได้

เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องดังกล่าว ผมคงต้องขออธิบายหลักวิชาไล่เรียงไปตามลำดับ โดยเริ่มต้นพาทุกท่านเข้าไปทำความเข้าใจใน “การเลือกตั้ง” เป็นหัวข้อแรก ก่อนที่จะเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นบัตรเลือกตั้งในหัวข้อถัดมา

เราไปหัวข้อแรกกันก่อนเลยนะครับ

 

เวลาพูดถึงการเลือกตั้งคงต้องเข้าใจก่อนว่าคือ กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อให้พลเมืองแสดงออกทางการเมืองผ่านการเลือกบุคคลใดๆ ที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดเข้าทำหน้าที่ผู้แทน (ราษฎร) โดยยินยอมให้เขาตัดสินใจและใช้อำนาจรัฐในกิจการต่างๆ

ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการนี้บรรลุเป้าหมายสูงสุด กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่จะช่วยเฟ้นหาผู้แทนของประชาชนที่แท้จริง

รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้การเลือกตั้งต้อง “เป็นการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ผู้เลือก) และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง (ผู้ถูกเลือก)” ผ่านกลไกต่างๆ ที่การันตีความเสรีและเป็นธรรมตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

เช่น การมีกฎเกณฑ์กติกาสำหรับการเลือกตั้ง (กฎหมายเลือกตั้ง) ที่รับประกันว่าพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน

การรับรองการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยคำนึงถึงสิทธิเลือกตั้งและเจตจำนงของประชาชน

การให้มีองค์กร หรือผู้ดำเนินการจัดการและควบคุมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คอยทำหน้าที่บังคับใช้กติกาข้างต้นกำกับให้การแข่งขันระหว่างผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนแต่ละพรรคที่อาสาตนเองเข้ามาให้ประชาชนเลือกไม่มีใครได้เปรียบใครในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ

หากพูดกันอย่างสรุปรวบความให้กระชับจากคำอธิบายข้างต้น การเลือกตั้ง คือ กระบวนการสื่อสารระหว่างประชาชนและแคนดิเดต ส.ส. โดยภายหลังจากได้รับข้อมูลต่างๆ (นโยบายของพรรคการเมือง) ที่เชื่อถือได้ ชัดเจน และเข้าใจมันอย่างถูกต้องแล้ว จึงนำไปสู่การประมวลผลและตัดสินใจของพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะเลือกใครและพรรคการเมืองใดเป็นผู้แทนตนเอง

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎหมายเลือกตั้งที่มี กกต.คอยควบคุมบังคับใช้นั่นเองครับ

 

คําถามคือ อ้าว…แล้วบัตรเลือกตั้งล่ะจะเข้าไปเกี่ยวข้องตรงไหนในการเลือกตั้ง?

คำตอบก็คือ ในขั้นตอนสุดท้าย นั่นหมายถึง ภายหลังจากที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับทราบนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ขั้นสุดท้าย (วันเลือกตั้ง) ประชาชนก็จะต้องทำการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเอง

ตอนนี้แหละครับ บัตรเลือกตั้งจะเข้ามามีบทบาทและความสำคัญในฐานะ “สื่อกลางของการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชน”

เอาเข้าจริง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม โดยบัตรเลือกตั้งจะคอยทำหน้าที่อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรกคือ ทำหน้าที่เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (ประชาชน) ได้เข้าใจอย่างถูกต้องในตัวผู้สมัครก็ดี หรือพรรคการเมืองก็ดีว่าใครเป็นใครในการลงแข่งขันเลือกตั้ง

และประการที่สอง บัตรเลือกตั้งจะต้องทำหน้าที่บ่งชี้และสะท้อนถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งที่ถูกต้องแท้จริงจากเบื้องลึกของจิตใจผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ด้วยภารกิจทั้ง 2 ประการดังกล่าว ในประเทศเสรีประชาธิปไตย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฯลฯ จึงให้ความสำคัญกับ “การออกแบบบัตรเลือกตั้ง” (Ballot design) ที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเท่านั้น หากแต่มุ่งเน้นด้วยว่าต้องเป็นการให้ “ข้อมูลที่เพียงพอ” แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย

กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น บัตรเลือกตั้งหาใช่เพียงแค่กระดาษใบหนึ่งที่มีช่องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้กากบาทเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนชอบโดยไม่สนใจอะไร

หากแต่ต้องคำนึงถึงข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนบัตรเลือกตั้งด้วยว่า ปริมาณของข้อมูล ตำแหน่งที่ปรากฏของข้อมูล สี รูปแบบต่างๆ ของข้อมูล ฯลฯ เป็นการสื่อสารไปยังผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อมูลทั้งหมด (ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงเนื้อหา) ที่ปรากฏบนบัตรเลือกตั้งต้องเพียงพอที่จะให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นสามารถตัดสินใจใช้สิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดความสับสนหลงผิดใดๆ ในการเลือกผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าคูหากากบาทของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้องเป็นไปตามเจตจำนงของเขาจริงๆ

 

เอาล่ะ!!! คราวนี้ลองหันกลับมาพิจารณากรณีบัตรเลือกตั้งในบ้านเราที่จะใช้กันในวันที่ 14 พฤษภาคมกันบ้างว่าสอดคล้องกับหลักวิชาที่ได้อธิบายแจกแจงมาเสียเยอะแยะหรือไม่

ซึ่ง ณ ปัจจุบันคงต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ในความเห็นของผมนั้นเห็นว่ายังไม่เป็นไปตามหลักการครับ

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่อันนำไปสู่กระแสการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่ที่บัตรเลือกตั้งของ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ปรากฏแต่เพียงตัวเลขของผู้สมัครเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ โลโก้พรรค ฯลฯ เช่นนี้หลายท่านจึงมองว่าอาจนำไปสู่ความสับสนในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตนเองต้องการได้

กระนั้นก็ตาม ทาง กกต.ในฐานะผู้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งได้ออกมาชี้แจงแถลงไขแล้วว่า บัตรเลือกตั้งของ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีแต่ตัวเลขผู้สมัครไม่ใช่เพิ่งจะทำกันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเป็นครั้งแรก แต่ใช้กันมาตั้งแต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แล้ว

อีกทั้งข้อเสนอให้เพิ่มเติมโลโก้พรรคเข้าไปก็ไม่อาจทำได้เพราะจะทำให้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไปเหมือนกับบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีโลโก้พรรคแสดงอยู่

อันจะเป็นการผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. (ม.84) และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ (ข้อ 129-134) ที่กำหนดให้บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภทนี้ต้องแตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ดี คำอธิบายของ กกต.นี้ผมเองกลับไม่เห็นพ้องด้วยสักเท่าใดนัก

ประเด็นแรก ผมเห็นว่าทาง กกต.ไม่อาจอ้างถึงบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ใช้สมัยก่อนได้ เพราะมันมีความแตกต่างกันอยู่

กล่าวคือ สมัยนั้นกติกากำหนดให้หมายเลขของ ส.ส.แบบแบ่งเขตและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นเลขเดียวกัน

ดังนั้น การรับรู้และสื่อสารกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจึงเป็นการง่ายมาตั้งแต่ต้น แม้บัตรเลือกตั้งจะไม่ได้มีข้อมูลมากมายนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของประชาชนในการเดินเข้าไปในคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองอย่างถูกต้อง

ผิดจากปัจจุบันที่กติกาการเลือกตั้งกลับมีการกำหนดหมายเลขของ ส.ส.แบบแบ่งเขต (ในแต่ละเขตแตกต่างกัน) เบอร์หนึ่ง และมีการกำหนดหมายเลขของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นอีกเบอร์หนึ่ง

พูดง่ายๆ เลยก็คือ คนกับพรรคคนละเบอร์กัน เช่นนี้แล้ว การใช้สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงยากลำบากและมีความสุ่มเสี่ยงกับการใช้สิทธิที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองได้อันเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง หากบัตรเลือกตั้งไม่ทำหน้าที่คอยให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้สิทธิเพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง

สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่ กกต.กล่าวถึง หากเข้าไปอ่านพิจารณาดูก็จะพบว่ากฎหมายและระเบียบฯ ได้กำหนดลักษณะคร่าวๆ ของบัตรเลือกตั้งในฐานะ “มาตรฐานขั้นต่ำ” โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อกำหนดให้บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสนหลงผิดในการใช้สิทธิก็เท่านั้น

แต่ไม่ได้เป็นการห้ามมิให้เพิ่มเติมข้อมูล เช่น โลโก้ของพรรคการเมือง ฯลฯ เข้าไป

ตราบใดที่สามารถทำให้บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน (ทำได้ง่ายๆ ผ่านระบุข้อความว่าเป็นบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต การกำหนดสีที่แตกต่างกัน การจัดวางตำแหน่งข้อความ ฯลฯ)

 

ที่ผมอธิบายขยายความมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาบัตรเลือกตั้งที่หลายท่าน หรือแม้แต่ทาง กกต.เองอาจมองข้ามไป ทั้งๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการมีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ

เพราะเอาเข้าจริง ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้งที่มีปัญหาไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะ “สื่อกลางที่มีประสิทธิภาพ” ในการสื่อสารบนข้อมูลที่เพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดความสับสนหลังผิดในการตัดสินใจย่อมก่อให้เกิดผบกระทบที่รุนแรงต่อ

1. ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง : ประชาชนไม่สามารถที่จะใช้สิทธิเลือกผู้แทนของตนเองได้ตามประสงค์

2. ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง : สิทธิในการที่จะได้รับการรับเลือกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนถูกล่วงละเมิดไปเนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปโหวตให้บุคคลอื่นด้วยความสับสนหลงผิดบางประการ

3. การเมืองโดยองค์รวม : ผลการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันนำไปสู่การทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติและการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นโดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์จริงของประชาชน

หากเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจริง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลจัดการเลือกตั้งโดยตรงอย่าง กกต.จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับบัตรเลือกตั้งให้มาก

การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องแค่การป้องกันการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงแบบที่ท่านเข้าใจ

แต่ตามหลักการเลือกตั้งยังหมายถึงกระบวนการจัดการการเลือกตั้งต่างๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงบัตรเลือกตั้งด้วย

อย่ามองว่าเรื่องของบัตรเลือกตั้งเป็นเรื่องเปลืองงบประมาณ

อย่ามองว่าเป็นเรื่องวุ่นวายที่จะต้องมาบริหารจัดการเพราะต้องมานั่งพิมพ์บัตรที่แตกต่างกันไปในแต่ละเขต

ความคิดเช่นนี้อาจสะท้อนว่าท่านกำลังยึดเอาตัวท่านเป็นที่ตั้งหรือไม่?

ต้องไม่ลืมนะครับว่า รัฐธรรมนูญก่อตั้ง กกต.ขึ้นมาก็เพื่อดูแลกิจการการเลือกตั้ง ท่านอยู่ในฐานะขององค์กรที่มีหน้าที่ “อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน” ให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุดนี้ อยากหยิบยกคำพูดของอับราฮัม ลินคอล์น ที่เคยกล่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยไว้อย่างน่าฟังว่า “บัตรเลือกตั้งนั้นมีพลานุภาพยิ่งกว่ากระสุนปืน”

ซึ่งผมเองเห็นด้วยมากๆ และอยากจะขอเสริมต่อไปว่า “บัตรเลือกตั้งจะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษหากไม่สามารถแสดงออกซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนได้” ครับ

Vox Populi, Vox Dei

เสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์