กำเนิดกายบริหารหน้าเสาธง : กายบริหารสร้างชาติทางวิทยุ (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

กำเนิดกายบริหารหน้าเสาธง

: กายบริหารสร้างชาติทางวิทยุ (2)

 

สร้างชาติด้วยการสร้างพลเมืองใหม่

ในช่วงต้นทศวรรษ 2480 รัฐบาลจอมพล ป.เรียกร้องให้คนไทยยึดแนวทางการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้วยโปรตีนถั่วเหลือง ใหม่ สะอาดตามแบบญี่ปุ่นและมีราคาประหยัด

รวมทั้งกรมโฆษณาการและกรมพลศึกษายังดำเนินแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยด้วยการออกกายบริหารตอนเช้าตามแบบญี่ปุ่น ด้วยการจัดโครงการออกกายบริหารพร้อมกันผ่านวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงตามนโยบายสร้างชาติ

ด้วยการส่งเสริมให้พลเมืองสร้างเรือนร่างตนเองขึ้นใหม่ที่มีพลานามัยและอนามัยที่ดี ร่างกายของพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ต้องการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เรือนกายอุดมคติของพลเมืองตามที่รัฐบาลปรารถนา

นักเรียนประถมในไทยออกกายบริหารกลางแจ้งช่วงทศวรรษ 2490-2500

วิทยุกายบริหารในญี่ปุ่น

วิทยุกายบริหารในญี่ปุ่นหรือ “ราจิโอ ไทโซ” (Rajio Taiso) คำว่า ราจิโอ (Rajio) ในภาษาญี่ปุ่นมาจากการทับศัพท์คำว่า Radio (วิทยุ) ในภาษาอังกฤษ โดยออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่น รวมกับคำว่า ไทโซ (Taiso) ซึ่งแปลว่ากายบริหาร ในทุกเช้า เมื่อเด็กๆ ได้ยินเพลงขึ้นจะออกมารวมตัวกันที่สนามโรงเรียนทำกายบริหารพร้อมกัน

ถ้าหากเป็นในที่ชุมชนก็จะรวมตัวกันในสวนสาธารณะ อีกทั้งบริษัทต่างๆ ก็มักจะให้พนักงานมาออกกำลังกายตอนเช้าด้วยกัน การออกกำลังกายประกอบเสียงเพลง แม้จะเป็นท่าง่ายๆ แต่ก็เป็นท่าที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อได้ดี สามารถกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว พร้อมเริ่มงานได้อย่างเต็มที่

แต่ภายหลังสงครามเมื่อสหรัฐยึดครองญี่ปุ่นแล้ว วิทยุกายบริหารถูกระงับ (2489) เนื่องจากสหรัฐมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทหาร ภายหลังวิทยุการบริหารถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ (2494) และเป็นที่นิยมอย่างมากจวบปัจจุบัน (oldphotosjapan.com)

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับกระแสสุขภาพ 2547

วิทยุกรมโฆษณาการกับกายบริหารในไทย

ช่วงสมัยแห่งการสร้างชาตินับแต่กลางทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา วิทยุกรมโฆษณาการมีบทบาทอย่างมากในผลักดันนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น รัฐนิยม การแต่งกาย การประพฤติปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างชาติด้วย

สำหรับการสร้างเรือนร่างสมัยใหม่ให้แข็งแรงนั้น กรมโฆษณาการใช้วิทยุกระจายเสียงส่งแบบฝึกหัดกายบริหารทางวิทยุไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย (สุวิมล, 128)

อย่างไรก็ตาม การกระจายเสียงของวิทยุแห่งประเทศไทย ขณะนั้นยังมีกำลังส่งต่ำ กระจายเสียงได้มีรัศมีรอบกรุงเทพฯ เพียง 300 กิโลเมตรเท่านั้น

ต่อมากรมโฆษณาการมีการขยายกำลังส่งด้วยการจัดตั้งสถานีวิทยุเขตและภูมิภาคขึ้นเพื่อสื่อสารกับประชาชน (สุวิมล, 143-144)

คาดว่า การส่งวิทยุกายบริหารไปยังโรงเรียนส่วนใหญ่ในเขตภาคกลางและเมืองใหญ่ที่มีสถานีรับและขยายสัญญาณ แต่สำหรับโรงเรียนที่ห่างไกลนั้น นักเรียนคงปฏิบัติกายบริหารพร้อมกันโดยมีครูเป็นผู้นำแทน

กรมโฆษณาการมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังและกระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและร่วมมือกับรัฐบาลในกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลส่งเสริม

การออกกำลังกายกลางแจ้ง สมัยโชวะ ทศวรษที่ 1930

คุณภาพและจำนวนของประชากรมีความสำคัญ

เรือนร่างที่แข็งแรงบึกบึนกลายเป็นเป้าหมายของการสร้างพลเมืองใหม่ในสมัยสร้างชาติ ร่างกายพลเมืองที่เหมาะสมแห่งยุค คือ ร่างกายใหญ่โตสมจะเป็นนักรบ เกษตรที่มีกำลังวังชาในการต่อสู้หรือการผลิตแทนที่จะเป็นไปตามอุดมคติแบบโบราณที่เน้นอ้อนแอ้นอรชร

ศรีกรุง ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2483 ลงบทความของพระยาอิศรภักดี เรื่อง แผนการเป็นมหาอำนาจว่า

“ข้าพเจ้าเคยอ่านพบในหนังสือเรื่องประเทศญี่ปุ่นว่า การดัดตนทำกันมากถึงขนาดมีวิทยุกระจายเสียงบอกจังหวะให้ดัดตน…ทุกวันตามเวลากำหนดและคนงานทั้งหลายกระทำการดัดตนตามวิทยุกระจายเสียงกันมากมาย ทั้งนี้ แสดงได้ว่าประเทศญี่ปุ่นเอาใจใส่ไม่แต่ผู้เยาว์ แต่ยังเอาใจใส่แก่ผู้ที่พ้นการศึกษาแล้วด้วย ให้ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงอันจะเปนกำลังของชาติต่อไป” (ก้องสกล, 103)

สำหรับการส่งเสริมความแข็งแรงและสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนนั้น รัฐบาลสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ (2478) เพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายให้กับประชาชน กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการให้โรงเรียนต่างๆ จัดกิจกรรมเดินทางไกลเพื่อทัศนศึกษาให้กับนักเรียน ด้วยการให้ครูพานักเรียนเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่าที่นักเรียนจะสามารถเดินไปได้หรือเท่าที่โรงเรียนจะพานักเรียนไปได้ อันจะทำให้เยาวชนไทยเกิดความรักชาติ (กรุงเทพฯ วารศัพท์, 26 มีนาคม 2478)

ควรบันทึกด้วยว่า รัฐบาลคณะราษฎรภายหลังการปฏิวัติ 2475 ตั้งแต่รัฐบาลพระยาพหลฯ (2476-2481) ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข เช่น กรมพลศึกษา (2477)

ส่วนรัฐบาลจอมพล ป. (2481-2487) ก่อตั้งกรมสามัญศึกษา (2482) กระทรวงสาธารณสุข (2485) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (2486) อันสะท้อนให้เห็นถึงรัฐบาลให้ความใส่ใจในสุขภาพพลานามัยแก่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

ทั้งนี้ โพยม บุญยะศาสตร์ ผู้เขียนตำราเพาะกายเมื่อครั้งปลายระบอบเก่า (2473) และตีพิมพ์หลายครั้งหลังการปฏิวัติ 2475 ผู้เขียนคำนำใน “พลานุภาพ” (2493) ว่า

เขาในฐานะ “ผู้ก่อกำเนิดตำราเล่มนี้” มีความต้องการส่งเสริมพลนามัยให้กับอนุชน ผู้กำลังและกำลังจะเป็นกำลังของชาติในภายภาคหน้า (โพยม, 2493, ก.) อันสะท้อนให้เห็นว่า เขาต้องการส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรงให้กับพลเมืองของชาติ และเขาเคยเขียนไว้ในหนังสือกาชาดช่วงทศวรรษ 2480 ว่า

เขาเห็นว่า กรมพลศึกษาควรจะได้ถือเอาวิชาเพาะกายไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ประถมศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ที่ผ่านมากรมพลศึกษายังมิได้ส่งเสริมฝึกหัดให้แก่ยุวชนของชาติอย่างจริงจัง เขาเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมการฝึกหัดดัดตนในโรงเรียนเท่านั้น (โพยม, 2493, 4-5)

โปสเตอร์ วิทยุกายบริหารญี่ปุ่น 2475 และประชาชน เด็กและผู้ใหญ่ออกกายบริหารตามวิทยุ โอซากา ปี 2481 เครดิตภาพ : Ritsumeikan University, oldphotosjapan.com

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่จอมพล ป.ลาออกในช่วงปลายสงคราม เนื่องจากสภาผู้แทนฯ ไม่ผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาลส่งผลให้โครงการสร้างชาติ รัฐนิยมและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น ระบบภาษาใหม่แบบจอมพล ป. การเดินทางไกลของข้าราชการ รายการนายมั่น รักชาติ นายคง รักไทย

รวมทั้งวิทยุกายบริหารของกรมโฆษณาการน่าจะถูกเลิกไปพร้อมกับอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป.ด้วย แต่กายบริหารหน้ากลางแจ้งเสาธงโรงเรียนคงจะปฏิบัติในโรงเรียนสืบกันต่อมา

นักเรียนมัธยมสตรีออกกายบริหารกลางแจ้งปี 2484 และจอมพล ป.ตีเทนนิสที่โคราช 2486

การฟื้นคืนวิทยุกายบริหารในสมัยจอมพลสฤษดิ์

ต่อมารัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รื้อฟื้นการส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายให้มีร่างกายแข็งแรงด้วยวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง ผ่านวิทยุ ป.ช.ส.1 ของกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่พฤษภาคม 2501 เป็นต้นมา

ดังในคำนำของ “แบบฝึกหัดกายบริหาร” ของกรมประชาสัมพันธ์ (2502) บันทึกว่า การบริหารทางวิทยุที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่นั้นได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก อันเห็นได้จากจดหมายที่มาจากจังหวัดต่างๆ

ในเบื้องแรก พล.ท.สุรจิต จารุเศรณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า กรมโรเนียวท่าการบริหารแจกแก่ผู้ที่ขอมา ต่อมา ผู้จัดการวิทยุ ป.ช.ส.1 และเจือ จักษุรักษ์ ได้หารือกันจัดพิมพ์ขึ้น จำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูกเพื่อเผยแพร่กายบริหารให้กว้างขวาง (กรมประชาสัมพันธ์, 2502, คำนำ)

การกลับฟื้นคืนของวิทยุกายบริหารของไทย อาจด้วยเหตุผลที่เวลานั้น รัฐบาลไทยกำลังขยายการใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของไทยเพื่อทำสงครามจิตวิทยาในยุคสงครามเย็น (Cold War) โดยใช้วิทยุเป็นศูนย์กลางในการดึงมวลชนให้เป็นของรัฐตามนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ด้วยเหตุนี้วิทยุออกกายบริหารจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในยุทธวิธีต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยการระดมมวลชนทำกิจกรรมร่วมกันกับรัฐและสะท้อนให้เห็นว่า พลเมืองในโลกทุนนิยมมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพอนามัย “อยู่ดีมีสุข” กว่าโลกคอมมิวนิสต์ที่ “อดอยากยากแค้น”

ดังนั้น เมื่อพลเมืองเป็นองค์ประกอบของชาติ ภายใต้การปกครองสมัยใหม่ เรือนร่างที่มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงของพลเมืองจึงเป็นสิ่งรัฐประชาชาติปรารถนา ด้วยเหตุนี้ เรือนร่างของพลเมืองจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งคุณค่าและสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการจัดการสุขภาพอนามัยโดยรัฐในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์อีกด้วย

กายบริหารกลางแจ้งของนักเรียนหญิงทศวรรษ 2480-2490
แบบฝึกกายบริหารทางวิทยุ กรมประชาสัมพันธ์ (2502)
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อถึงความแตกต่างของความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ช่วง 2507