พลังของ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท’ | ปราปต์ บุนปาน

นโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคเพื่อไทย ที่นำเสนอโดย “เศรษฐา ทวีสิน” หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ นั้นมีพลัง หรือมีอิมแพ็กต์อย่างสูง

ในพื้นที่นี้ จะขออนุญาตไม่วิพากษ์ถึงความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ จุดเด่น-จุดด้อยในทางเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ของนโยบายดังกล่าว

แต่อยากพิจารณาประสิทธิภาพของนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ในแง่มุม “การตลาดทางการเมือง”

รวมถึงศักยภาพของนโยบายนี้ในการดูดกลืนความเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่ในรอบหนึ่งสัปดาห์ ให้หลงพลัดเวียนวนเข้ามาอยู่ในกระแสเชี่ยวกรากว่าด้วย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” โดยไม่อาจหลุดพ้น

 

ก่อนอื่น ต้องขออ้างอิงความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ของ “ประกิต กอบกิจวัฒนา” ครีเอทีฟและนักคิดแคมเปญการเมืองมือฉมัง ที่เพิ่งวิจารณ์เอาไว้ว่า พรรคการเมืองจำนวนมากต่างเริ่มรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปรอบนี้ด้วยนโยบายเกี่ยวกับ “ตัวเลข” จำนวนมหาศาล (ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายประชานิยม” หรือ “นโยบายสวัสดิการ” ก็ตาม)

สภาวะดังกล่าวก่อให้เกิด “มหาสมุทรของตัวเลข” ก่อนที่นโยบายเกือบทั้งหมดของพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะค่อยๆ จมหายลงไป และไม่หลงเหลือติดค้างอยู่ในความทรงจำของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง

(ในทรรศนะของประกิต แม้แต่พรรคการเมืองที่โดดเด่นด้านอุดมการณ์และการมีจุดยืนแหลมคมอย่างก้าวไกล ก็ยังพยายามเล่นเกมแบบนี้ และคล้ายจะค่อยๆ จมหายลงไปใน “มหาสมุทรของตัวเลข” เช่นเดียวกัน)

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า “นโยบายขายตัวเลข” ของพรรคเพื่อไทยมักไม่จมหายลงไปในมหาสมุทรข้างต้น ทว่า “ตัวเลขของเพื่อไทย” กลับโดดเด่นออกมาจากตัวเลขของพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วกลายสภาพเป็นทั้ง “จุดขาย” และ “เป้าถล่ม” ในทางการเมือง

ไล่มาตั้งแต่เรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท” จนถึงการเติมเงิน 10,000 บาท ลงในกระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าเพื่อไทย (สืบเนื่องมาจากไทยรักไทย) มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำแคมเปญหรือทำการตลาดทางการเมืองในลักษณะนี้เสมอมา

พวกเขารู้วิธีที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถจดจำ “ตัวเลข” และ “นโยบาย” ของตน และสะดุดใจกับ “นโยบายขายตัวเลข” เหล่านั้น (ไม่ว่าจะ “ชอบใจ” “ประทับใจ” หรือ “หงุดหงิดใจ” ก็ตาม)

 

สําหรับประเด็นที่ว่านโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” มีศักยภาพดูดกลืนในทางการเมือง การดูดกลืนที่ว่าก็มีอยู่ 2 นัยยะความหมาย

ความหมายแรก คือ การดูดกลืนทั้ง “แรงสนับสนุน” และ “แรงต่อต้าน”

ดังที่เราได้รับรู้ว่าโหวตเตอร์ของเพื่อไทย คนจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย หรือชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนนโยบายนี้

ขณะที่แรงต้านซึ่งก่อตัวขึ้น ในรูปคำท้วงติงทั้งด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริงและจุดประสงค์อื่นๆ ถูกสำแดงออกมาผ่านท่าทีของหลายพรรคการเมือง นักวิชาการ-นักธุรกิจบางส่วน รวมถึงการกระตือรือร้นอย่างยิ่งยวดของ กกต.

ความหมายที่สอง คือ “การดูดกลืนเชิงนโยบาย”

เอาเข้าจริง นโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” มีความทับซ้อนกับนโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ อยู่พอสมควร

ไม่ต้องอื่นไกล เอาแค่พรรคการเมืองที่คิดนโยบายเยอะและมีความเป็นระบบระเบียบไม่แพ้กัน เช่น พรรคก้าวไกล ก็มีนโยบายในแนวทางใกล้เคียงกันที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

อาทิ “หวยใบเสร็จ” ช่วยอุดหนุนกิจการเอสเอ็มอี หรือ “คูปองเปิดโลกเรียนรู้นอกห้องเรียน” ที่ตั้งเป้าจะแจกคูปองมูลค่า 1,000-2,000 บาทต่อปี ให้เด็กวัยประถม-มหาวิทยาลัย นำไปใช้จ่ายเพื่อฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม หรือเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ นอกสถาบันการศึกษา

แม้ในเชิงรายละเอียด นโยบายแบบก้าวไกลดูจะหวังผลระยะยาวกว่า มีความสม่ำเสมอกว่า และมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงชัดเจนกว่า

แต่หากมองภาพกว้างในระยะสั้น ก็ต้องยอมรับว่า “นโยบายขายตัวเลข” ที่เพื่อไทยนำเสนออย่างชวนว้าว นั้นมีศักยภาพในการดูดกลืน-ควบรวมนโยบายเด่นๆ ของก้าวไกล (หรือพรรคการเมืองอื่นๆ) ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาหรือตกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติมเงิน 10,000 บาท ลงไปใน “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ได้อย่างน่าทึ่ง

(พอได้เงินหมื่นมา คุณก็เอาไปจับจ่ายใช้สอยเพื่ออุดหนุนธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ ได้ หรือสำหรับเยาวชนที่อายุเกิน 16 ปี คุณก็สามารถนำเงินในกระเป๋าดิจิทัลไปใช้ศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียนได้ ถ้าภายในรัศมี 4 กิโลเมตรของที่อยู่อาศัย มีแหล่งเรียนรู้ประเภทดังกล่าว)

นี่แหละคือศักยภาพของการดูดกลืนเชิงนโยบาย ซึ่งช่วยยืนยันว่า อย่างไรเสีย ในแง่มุมของการตลาดทางการเมืองหรือการแข่งขันกันทางนโยบายเพื่อจูงใจผู้คนส่วนใหญ่ เรายังหาพรรคการเมืองอื่นๆ ที่กินเพื่อไทยได้ยากจริงๆ •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน