การหวนคืนสู่ยุคทองของ ‘แผ่นเสียงไวนิล’ : ปรากฏการณ์ คุณค่า และความหมาย

คนมองหนัง

ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ของอุตสาหกรรม-ธุรกิจดนตรีร่วมสมัย ก็คือ ยอดขาย “แผ่นเสียงไวนิล” ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง อย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยอดจำหน่ายแผ่นเสียงเมื่อปี 2022 นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญ (กว่า 4 หมื่นล้านบาท) สูงขึ้นกว่ายอดขายเมื่อปี 2021 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งกว่านั้น นี่ยังเป็นครั้งแรกสุดนับแต่ปี 1988 ที่ยอดขายแผ่นเสียงไวนิลพุ่งแซงยอดขายแผ่นซีดี (ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาทีหลัง)

ขณะที่การมีผลงานเพลงจำนวน 41.3 ล้านชุด ถูกผลิตออกมาในรูปแบบของแผ่นเสียงเมื่อปีที่แล้ว ก็ถือเป็นปริมาณ (ของความหลากหลาย) ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับแต่ปี 1988 เช่นเดียวกัน

มองในกรอบพัฒนาการที่ยาวนานกว่านั้น ยอดขายแผ่นเสียงไวนิลได้ค่อยๆ กระเตื้องตัวกลับสู่ภาวะ “ขาขึ้น” ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา แม้ “ยุคทองใหม่” นี้จะไม่รุ่งเรืองถึงขีดสุดเท่าช่วง 1970-80 แต่กราฟความเจริญเติบโตก็ยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวี่แววจะลดต่ำชะลอตัวลง

 

ที่ผ่านมา มักมีแนวคิดซึ่งพยายามอธิบายถึงปรากฏการณ์บูมของแผ่นเสียงไวนิลในช่วงสองทศวรรษแรกของสหัสวรรษใหม่ อยู่ 2-3 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรก ตั้งสมมุติฐานว่า ยอดขายแผ่นเสียงนั้นพุ่งขึ้นสูงตามกำลังซื้อของคนรุ่น “บูมเมอร์” ซึ่งก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ และกำลังกลับไปโหยหาวันเวลาเยาว์วัยของตนเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาไปยังข้อเท็จจริงที่มีการเก็บบันทึกสถิติเอาไว้ จะพบว่าแผ่นเสียงขายดีในยุคปัจจุบันล้วนเป็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยยุคใหม่ ไม่ใช่ศิลปินรุ่นเก๋าแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่สุดในตลาดแผ่นเสียง ณ ปี 2022 ก็คือ “คนเจนแซด” ซึ่งเกิดระหว่างปี 1997-2002

ทฤษฎีที่สอง คือการทึกทักอย่างง่ายๆ สั้นๆ ว่า แผ่นเสียงไวนิลกลับมาขายดีเพราะมันมีราคาถูก

นี่อาจเป็นเรื่องจริงในบริบทเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบัน ทุกคนต่างทราบกันดีว่าแผ่นเสียงออกใหม่ นั้นเป็นสินค้าระดับ “พรีเมียม” ที่มีราคาสูงมาก

แผ่นเสียงบางชุดมีราคาแพงกว่าแผ่นซีดีถึงสองเท่า แถมยังแพงกว่าค่าสมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบทเพลงได้หลายล้านเพลงเสียอีก

ทฤษฎีที่สาม อธิบายว่า คนหันมานิยมฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง เพราะคุณภาพเสียงจากสื่อกลางประเภทนี้ นั้นดีกว่าเสียงเพลงจากสื่อกลางชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะไฟล์เพลงในระบบดิจิทัล

เนื่องจากแผ่นเสียงไวนิลสามารถเก็บคลื่นเสียงได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่า รวมทั้งไม่ต้องถูกบีบอัดไฟล์ จนคุณภาพเสียงลดลงดังเช่นเพลงในระบบสตรีมมิ่งทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าเมื่อแผ่นเสียงถูกใช้งานไปนานๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพ-ปัญหาติดขัดเชิงกายภาพต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพเสียงจากแผ่นลดต่ำลง ซึ่งนี่ถือเป็นจุดด้อยที่ไม่มีทางเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีดิจิทัล

หรือหากจะว่ากันที่เรื่องคุณภาพอย่างจริงจังแล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็มีฉันทามติร่วมกันว่า “แผ่นซีดี” ถือเป็นสื่อกลางทางดนตรีที่มีคุณภาพเสียงสูงที่สุด

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่ายอดจำหน่ายซีดีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับแต่ปี 2000

แถมยังถูกยอดขายแผ่นเสียงแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ดังที่ระบุไว้ในตอนต้นบทความ

 

เมื่อสามทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงการฟื้นคืนชีพของแผ่นเสียงไวนิล ล้วนมีจุดอ่อนชัดเจน ที่สามารถถูกโต้แย้งได้หมด แล้วอะไรคือสาเหตุหลักจริงๆ ของปรากฏการณ์นี้

“เจย์ แอล. ซากอร์สกี” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้อธิบายภาวะการฟื้นตัวของแผ่นเสียงในอีกมุมมองหนึ่ง ผ่านการวิเคราะห์ว่า การบริโภคสินค้า-สิ่งของต่างๆ นั้นมีความเชื่อมโยงกับการแสวงหาและการแสดงสถานะทางสังคมของผู้บริโภค

ยิ่งได้บริโภคสินค้าที่ผ่านกระบวนการอันละเอียดซับซ้อน ต้องใช้เวลาละเลียดกับมัน หรือมีความแปลกแตกต่าง และที่สำคัญมีราคาแพงมากขึ้นเท่าใด ผู้บริโภคก็ยิ่งจะแลดูมีสถานะทางสังคมที่สูงเด่นมากขึ้นเท่านั้น

ซากอร์สกีมองว่า “แผ่นเสียง” ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ช่วยตอบโจทย์ความปรารถนาดังกล่าว

ถ้ามองว่าแนวทางการวิเคราะห์ข้างต้นดูธรรมดาและเชยเกินไป เราอาจต้องนำปรากฏการณ์คืนชีพของแผ่นเสียงไวนิลไปจัดวางเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของเรื่องราวภาพรวมที่ใหญ่โตกว้างขวางกว่านั้น ว่าด้วยการหวนกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ของบรรดาเทคโนโลยี-ความบันเทิงยุคเก่า

ตั้งแต่กล้องดิจิตอลจากยุคปลาย 1990 ถึงต้น 2000 ไปจนถึงเครื่องพิมพ์ดีดและบอร์ดเกม

มีนักวิชาการบางส่วนที่วิเคราะห์ว่า “ของเก่าๆ” เหล่านี้ ยึดโยงกับวิถีการบริโภคที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ใช้ชีวิต “ช้าลง” และได้ครุ่นคิดใคร่ครวญถึงคุณค่า-ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ตลอดจนคุณค่า-ความหมายของวัตถุสิ่งของบางอย่างมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็น “ทางเลือก” ที่นำพาคนยุคใหม่ออกจากโลกที่ถูกครอบงำด้วยอัลกอริธึ่ม การโหมประโคมเรื่องเมตาเวิร์สอย่างเกินจริง หรือโลกที่ถูกผลักดันด้วยความเร็ว โดยมุ่งใส่ใจกับเรื่องประสิทธิภาพและผลิตภาพเป็นหลัก •

 

ที่มา

https://theconversation.com/vinyl-record-sales-keep-spinning-and-spinning-with-no-end-in-sight-201444

https://theconversation.com/why-are-so-many-gen-z-ers-drawn-to-old-digital-cameras-198854

 

| คนมองหนัง