เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (7) : เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมืองน้อยในตำนาน
ตำนานในเมืองน้อย

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว กล่าวว่า ไม่อยากเชื่อเลยว่า “เมืองที่ปรากฏชื่อในตำนาน” จำนวนคณานับที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีอยู่จริง แต่สุดท้ายก็ค้นพบหลักฐานทางรูปธรรมจนได้

ดังเช่น “เมืองแกนอินทขีล” ที่อำเภอแม่แตง ก็เคยอ่านพบแต่ในตำนาน ไปๆ มาๆ ที่แท้ก็คือบริเวณที่เราเรียกกันว่า “ช่อแล” นั่นแล

หรือกรณีของ “เวียงกุมกาม” เป็นดำฤษณามานานหลายร้อยปี เพิ่งมาค้นพบเวียงนี้ท่ามกลางสวนลำไย สลับกับหมู่บ้านจัดสรร ในเขตอำเภอสารภี เมื่อปี 2527 นี่เอง

เช่นเดียวกับ “เมืองน้อย” ดูเหมือนจะเป็นเมืองในตำนานที่ตกสำรวจ จนนักประวัติศาสตร์แทบจะลืมเลือนกันไปแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะไปติดตามหาได้ที่ไหน

กระทั่งราว 20 ปีเศษที่ผ่านมา ได้มีพระภิกษุนักวิชาการระดับปริญญาเอกรูปหนึ่ง เคยสอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย (ม.ม.ร. สาขาวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่) ได้เขียนบทความชิ้นแรก เปิดประเด็นว่า ได้ค้นพบแล้วว่าเมืองน้อยตั้งอยู่ที่เมืองปาย

แต่น่าเสียดายว่าวงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนากลับเงียบเฉย ไม่มีใครขานรับแนวคิดของพระด๊อกเตอร์รูปนั้น ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ประเทศเบลเยียม

กระแสเรื่องตำนานแห่งเมืองน้อยจึงนิ่งเงียบ กลายเป็นเมืองน้อยในตำนานอีกต่อไปตามเดิม

 

เมืองน้อย vs เมืองสะมาด
คติการเรียกชื่อเมืองคู่

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ตั้งคำถามว่า “เมืองน้อย” กับ “เมืองสะมาด” คือเมืองเดียวกันหรือไม่ ไยในเอกสารฝ่ายพม่าชิ้นสำคัญชื่อ “ซินเหม่ยาสะวิน” ตอนท้ายเล่มที่ระบุว่าเชียงใหม่มีเมืองในสังกัดทั้งหมด 57 หัวเมือง หรือที่เรียกกันว่า “สตปัญญาสล้านนา” (สต = 7, ปัญญาส = 50)

เหตุไฉนจึงไม่พบชื่อ “เมืองน้อย” ว่าเป็นหนึ่งในทำเนียบ 57 หัวเมืองนั้นเล่า แต่กลับพบชื่อของ “เมืองสะมาด” ในลำดับที่ 54

หรือว่าพม่าจะเรียกเมืองน้อยว่า เมืองสะมาด?

อาจารย์ภูเดช แสนสา มีความเห็นตรงกันว่า ตำนานฝ่ายล้านนามักระบุชื่อของเมืองน้อยคู่กับเมืองสะมาดเสมอ โดยมักเรียกขานแบบคู่ว่า “เมืองสะมาดเมืองน้อย”

ที่มาของเมืองสะมาด พอจะเข้าใจได้ว่า เรียกตามลำน้ำแม่สะมาดที่ไหลผ่าน ต้นน้ำสะมาดอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอปาย ทางทิศตะวันตกของเมืองน้อย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน แต่ที่มาของชื่อเมืองน้อยนั้น ไม่มีใครทราบว่าได้มาอย่างไร

อาจารย์อรุณรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการที่เคยศึกษาเมืองกลุ่มนี้ พบว่าเมืองสะมาด คือเมืองสะมาด เมืองน้อย คือเมืองน้อย สองเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ชิดกันมาก แต่ในความเป็นจริง แยกกันคนละเมือง

เหตุที่คนโบราณมีคติชอบเรียกชื่อเมืองเป็นคู่ๆ เช่น “กุมกาม-เชียงใหม่” “เชลียง-เชียงชื่น” หรือ “สะมาด-เมืองน้อย” นั้น ก็เพื่อป้องกันความสับสน ในกรณีที่ชื่อเมืองนั้นอาจเป็นชื่อโหลหรือชื่อซ้ำกัน หากเรียกโดดๆ อาจไม่รู้ว่าตั้งอยู่ที่ใด

โดยเฉพาะชื่อเมืองน้อยอาจมีหลายแห่ง เวลาจะเรียกชื่อเมืองน้อย จึงจำเป็นต้องใส่ชื่ออีกเมืองที่อยู่ใกล้กันกำกับตามไปด้วย นั่นคือเมืองสะมาด ให้ผู้อ่านรู้ว่า เมืองน้อยที่กล่าวถึงนี้ หาใช่เมืองน้อยที่อื่นใดไม่ หากคือเมืองน้อยที่อยู่ใกล้เมืองสะมาดนั่นเอง

เป็นความรอบคอบและลุ่มลึกของนักจารึกตำนานยุคก่อน

 

เมืองน้อยในหลักฐานโบราณคดี

ยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า ลักษณะทางกายภาพของเมืองน้อย เป็นเมืองที่อยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาล้อมรอบ เรียกว่า “แอ่งเมืองน้อย” มีแม่น้ำปายไหลผ่านกลางแอ่ง และยังมีลำห้วยอีกหลายเส้นทางทิศตะวันตก ห้วยทั้งหมดลาดลงสู่แม่น้ำปาย

กรมศิลปากรในอดีตเคยทำการสำรวจเมืองน้อย บันทึกไว้ว่ามีซากโบราณสถานจำนวนมากถึง 37 แห่ง แต่สภาพเมืองน้อย ณ ปัจจุบัน แทบไม่เหลือโบราณสถานที่สมบูรณ์อีกเลย มีแต่ซากดินกี่กระจัดกระจาย

เนื่องจากมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูงเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ได้ลงมาใช้สอยทรัพยากรในแอ่งเมืองน้อย ทุกวันนี้เหลือโบราณสถานที่พอจะศึกษาได้เพียงแค่ 3-4 แห่งเท่านั้น ในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินเศรษฐี เป็นชื่อเรียกตามคำบอกเล่าว่าพบสมบัติมีค่าจำนวนมาก

วัดร้างเหล่านั้นได้แก่ วัดห้วยงู วัดป่าเมืองน้อย และวัดพระธาตุเมืองน้อย วัดแห่งหลังนี้คือสถานที่เดียวที่ยอดดนัยได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี เป็นวัดที่มีแม่น้ำปายไหลผ่านด้านหน้าทางทิศตะวันออก

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นเช่นไร จะนำเสนอให้ทราบคราวหน้า

เนื่องจากฉบับที่แล้วได้กล่าวทิ้งไว้ว่า เมืองน้อยกลายเป็นสถานที่รองรับการเนรเทศเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์มังราย แทนที่เมืองนาย เชียงตุง เมืองสาด เมืองฝาง และเมืองยวมใต้

ด้วยเหตุที่มีภูมิประเทศแสนจะทุรกันดาร ยากแก่การเข้าถึง ยากเกินกว่าจะคิดหลบหนี

มีเจ้านายชั้นสูงของล้านนา ถูกส่งมาอยู่เมืองน้อยถึง 3 พระองค์ องค์แรกคือ ท้าวบุญเรือง โอรสของพระเจ้าติโลกราช องค์ที่สอง คือพระยอดเชียงราย ผู้เป็นหลานปู่ของพระเจ้าติโลกราช และองค์สุดท้ายคือ พระเมืองเกษเกล้า พระราชสวามีของพระนางเจ้าจิรประภาเทวี

เชื่อว่าผู้อ่านกำลังเฝ้ารอติดตามเงื่อนงำหรือสาเหตุ ว่าเพราะเหตุใดหนอ จึงทำให้เจ้านายชั้นสูงของล้านนาเป็นถึงท้าวพระญามหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์ ต้องถูกเนรเทศมาที่นี่ในระยะเวลาต่อเนื่องกัน

 

“แม่ท้าวหอมุก” ผู้ “ลักใจ”

มาดูรายแรกก่อน กรณีของ “พ่อท้าว (ศรี) บุญเรือง” ผู้เป็นถึงพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าติโลกราช ที่เกิดแต่พระอัครมเหสีหลัก (ไม่ปรากฏนาม)

มูลเหตุแห่งการแตกแยกของราชวงศ์มังราย เกิดขึ้นเพราะมี “อิสตรีต่างถิ่น” นางหนึ่ง ผู้เป็นชายา (พระสนมเอก) ของพระเจ้าติโลกราช นาม “แม่ท้าวหอมุก” นางมีอิทธิพลครอบงำต่อมหาราชแห่งล้านนาอย่างไม่น่าเชื่อ

ถึงกับทำให้เกิดการเนรเทศ ท้าวบุญเรือง และลงท้ายด้วยการประหารชีวิต

สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์ อดีต ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ผู้สันทัดกรณีด้านล้านนา-ล้านช้างศึกษา เคยวิเคราะห์ไว้ว่า แม่ท้าวหอมุก น่าจะเป็นชาวไทใหญ่?

แต่ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี นักวิชาการรุ่นใหม่ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระมหาเทวีในล้านนา ได้แลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาครั้งนั้นว่า “แม่ท้าวหอมุก” น่าจะเป็นสตรีที่ติดตาม พระญายุทธิษเฐียร (ท้าวยุทธิษเจี๋ยง) มาจากกลุ่มเมืองสุโขทัย

ยุทธิษเฐียรเป็นคีย์แมนสำคัญ ที่ทำให้สถานการณ์ระหว่างศึกล้านนา-อยุธยาพลิกผัน เพราะเขาคือผู้แปรพักตร์จากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช

อนึ่ง คำว่า แม่ท้าว เฉลิมวุฒิมองว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนในเอกสารฝ่ายล้านนา แต่พบมากในเอกสารฝ่ายสุโขทัย และอยุธยา

อีกทั้งชื่อของแม่ท้าวหอมุก ก็ไม่เคยพบก่อนหน้าการเดินทางมาของพระญายุทธิษเฐียรสู่ราชสำนักล้านนาเลย จึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่ “แม่ท้าวหอมุก” จะเป็นญาติวงศ์กับพระญายุทธิษเฐียรผู้เคยปกครองเมืองเชลียงแถบสุโขทัย

เงื่อนงำของ “แม่ท้าวหอมุก” ไม่ว่านางจะเป็นชาวไทใหญ่หรือชาวสุโขทัยนั้น คงต้องศึกษากันต่อไป แต่ข้อสำคัญคือการมาอยู่ในราชสำนักล้านนาของนางผู้นี้ มีฐานะเป็นพระสนมเอกหรืออัครชายา ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่ราชวงศ์ของพระเจ้าติโลกราชเป็นอย่างมาก

อาจารย์สมฤทธิ์ กล่าวว่า พงศาวดารฝ่ายล้านนา ระบุว่า แม่ท้าวหอมุกปฏิบัติการ “ลักใจ” ต่อพระเจ้าติโลกราช ทว่าพงศาวดารฝ่ายอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ กลับบอกว่า พ่อท้าวบุญเรืองก่อกบฏต่อพระราชบิดา

แม้เอกสารสองฝ่ายจะเขียนขัดแย้งกัน แต่มีนัยสะท้อนถึงความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่าง ฝ่ายใน กับ ฝ่ายหน้า

คำว่า “ลักใจ” หมายถึงอะไร อาจารย์อรุณรัตน์ อธิบายว่า คำนี้มีความลึกซึ้งยิ่งนัก ไม่ใช่มีความหมายว่าเป็น “โจรหัวใจ” หรือ “จอมนางปล้นใจ” ทำให้พระเจ้าติโลกราชหมกมุ่นลุ่มหลง จนถึงกับยอมฆ่าลูกตัวเองเช่นนั้นไม่

แต่ “ลักใจ” คำนี้ หมายถึง การกลืนคำพูด การหักหลัง หรือตกลงกันแล้วแต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง กล่าวคือ แม่ท้าวหอมุกรับปากกับพระเจ้าติโลกราชว่า ถึงแม้ท้าวบุญเรืองจะมีความผิดคิดกบฏ แต่ก็จะไม่ฆ่า ทว่า สุดท้ายแล้ววันหนึ่งก็แอบทำ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ “ลักใจ” แล้ว มีเงื่อนงำว่า พระเจ้าติโลกราชได้สถาปนาพระญายุทธิษเฐียรขึ้นเป็นพระราชโอรสบุญธรรม ซึ่งก็เข้าทางแม่ท้าวหอมุก โดยหวังใจว่าราชบัลลังก์คงตกแก่ฝ่ายตนชาวสุโขทัย (หากเชื่อว่านางเป็นฝ่ายยุทธิษเฐียร)

แต่ที่ไหนได้ พระเจ้าติโลกราชคงจะไหวตัวทัน ได้สติสตังค์กลับคืนมา จึงมอบราชบัลลังก์ให้แก่ ท้าวยอดเชียงราย (พระยอดเชียงราย หรือพระญายอดเชียงราย) ผู้เป็นหลานปู่ (โอรสของท้าวบุญเรือง) เลือดเนื้อเชื้อไขสายตรงของตนแทน

นั่นคือ บทบาทของเมืองน้อยครั้งแรก ที่รองรับการเนรเทศของพ่อท้าวบุญเรือง ผู้เป็นถึงพระราชโอรสของกษัตริย์ (คือพระเจ้าติโลกราช) และต่อมาถูกเรียกตัวกลับเชียงใหม่ ถูกจับประหารในที่สุด

การฆ่าลูกตนเองของพระเจ้าติโลกราช มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางมาหลายเวทีแล้ว บ้างก็ว่า เป็นเพราะพระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษก จับพระราชบิดาเนรเทศไปอยู่เมืองสาด จิตใต้สำนึกลึกๆ จึงหวาดระแวงว่า กรรมอาจตามสนอง จำต้องชิงฆ่าลูก เสียก่อนที่จะรอให้ลูกฆ่าตน

แต่ก็มีบางท่านมองว่า หรือพระเจ้าติโลกราช อาจถูกทำคุณไสยใส่เสียจนหน้ามืดตามัว ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ว่าลูกเขาเมียใครกันแล้ว

ผ่านไปแล้วรายที่หนึ่ง ท้าวบุญเรือง โอรสของมหาราช ผู้ถูกเนรเทศด้วยน้ำมือของอิสตรี แห่งรัฐสุโขทัย (หรือจะรัฐไทใหญ่ก็แล้วแต่)

ไม่ว่าแม่ท้าวหอมุกจะเป็นใครมาจากไหน แต่ประวัติศาสตร์หน้านี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงบทบาทของรัฐภายนอกที่เข้ามาปั่นป่วนราชวงศ์ล้านนาให้เกิดการแตกแยกได้สำเร็จแล้วในยกแรก

สัปดาห์หน้า จะมาว่ากันต่อถึงเชื้อพระวงศ์ลำดับที่ 2 และ 3 ที่ถูกเนรเทศมาเมืองน้อย คราวนี้ทั้งคู่ไม่ใช่เป็นแค่ลูกกษัตริย์ แต่เป็นถึงกษัตริย์เองเลยทั้งสองราย

รายหนึ่งถูกกล่าวหาว่า “รักลูกฮ่อมากกว่าลูกตน” อีกรายถูกปรักปรำว่าอ่อนแอ บริหารงานล้มเหลว

ทั้งยังจะได้นำเสนอถึงหลักฐานทางโบราณคดีต่ออีกด้วย