ทัวร์จักรยานไทย… ห่างไกลการจัดอันดับโลก จาก ซีเอ็นเอ็นท่องเที่ยว

บทความพิเศษ | บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์

 

ทัวร์จักรยานไทย…

ห่างไกลการจัดอันดับโลก

จาก ซีเอ็นเอ็นท่องเที่ยว

 

สังคมชาติตะวันตก เยาวชนนิยมสะพายเป้ขี่จักรยานไปสถานศึกษา ขณะหนุ่มสาววัยทำงานสนใจปั่นสองล้อถีบรุ่นใหม่ทันสมัยประจำวัน แทนการใช้บริการรถรางเดี่ยวรางคู่หรือมุดดินลอยฟ้า เพราะมี “ไบซิเคิล เวย์” การันตีความปลอดภัย

ประชาชนมีวินัยขับขี่มากกว่าเป็นฆาตกรบนท้องถนน ขยายผลต่อยอดสู่ “ไบซิเคิล ทัวริ่ง” ขับขี่ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจได้อีกด้วย

จีนมหาอำนาจใหม่ซีกโลกตะวันออกที่กำลังออร่าแข่งฟากตะวันตก เปลี่ยนวิถีประชากรจากทำนาส่งรัฐ แล้วรับคูปองปันส่วนแลกข้าวสารกรอกหม้อ สู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ทำลายความยากจนภายใต้ระบบสังคมนิยมนำพาบ้านเมืองสู่ความก้าวหน้าทันตาเห็น

ชีวิตคนจีนถึงดูทันสมัยแต่ยังเรียบง่าย ได้เห็นผู้ชายสวม “เสื้อคลุมกระดุม 5 เม็ด 4 กระเป๋า” หรือชุด “ซุนจงซาน” ผู้หญิงตื่นรับเทรนด์ใหม่แต่ก็ไม่ทิ้งชุดโบราณประจำชาติ “กี่เพ้า” หรือ “ฉีผาว” ชาวกวางตุ้งขี่จักรยานซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าก่อนกว่า 223 ปี…ทุกวันนี้ก็ยังเห็นร่วมทางบนถนนกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ

มีเรื่องเล่าว่า…เมื่อปี 1936 นักธุรกิจญี่ปุ่นในจีนเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตจักรยานขึ้นก่อน โดยใช้ยี่ห้อ “สมอ” ต่อมาใช้ “ชัยชนะ” และเปลี่ยนเป็น “โซหงี่” ในที่สุด

ขณะธุรกิจให้เช่าจักรยานรายใหญ่ในเมืองหลวงปักกิ่งชื่อ “โอโฟ” เผยว่า…จีนมีจักรยานปีละ 2.4 ล้านคัน และลงทะเบียนใช้งาน 11 ล้านคน เกือบเท่าประชากรครึ่งหนึ่งของปักกิ่ง

ส่วนนิวยอร์กมียอดจักรยาน 10,000 คัน แต่คนใช้ปีละ 236,000 คน ปารีสมี 21,000 คัน ลอนดอนมี 16,500 คัน

เครดิสภาพ จาก
เครดิสภาพ จาก Narut Su
มาถึงไทยแลนด์ที่แสนอะเมซิ่ง…ดูจากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศราว 2.25 ล้านคน อยู่เมืองหลวงและชานเมืองรวม 1.5 แสนคน ที่เหลือกระจายอยู่จังหวัดต่างๆ 2.1 ล้านคน รวมตัวทำกิจกรรมในรูปชมรมสมาคมจังหวัดแล้ว 43 แห่ง เพื่อแข่งขันกันทางใกล้ไกลถึงมาราธอน หรือแอดเวนเจอร์กึ่งวิบากด้วยเสือภูเขา และเพื่อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวนผู้มีจักรยานประเภทต่างๆ 2.1 ล้านคน เริ่มมีผู้ปั่นสองน่องท่องเที่ยว 2.6 แสนคน/ครั้ง คือคนหนึ่งอาจจะปั่นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และ 3 แล้วขยายเป็น 3.2 แสนคน/ครั้งในปีถัดมา สร้างกระแสเงินหมุนเวียนได้ถึง 1.1 พันล้านบาทต่อปี อัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 25% จากความถี่ต่อคน/ครั้ง

นั่นหมายถึงดัชนีชี้ชัดว่า…ปัจจุบันเพิ่มเกินสถิติเดิมๆ ที่ทำไว้ปีละ 400,000 คน/ครั้ง ทำรายได้ 1,350 ล้านบาท

แต่ก็นั่นแหละ…ขึ้นอยู่กับหน่วยงานจะสนันสนุนอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคิดจัดกิจกรรมไอเดียใหม่ๆ ส่งไม้ต่อให้ ททท.สำนักงานภูมิภาคทั่วประเทศ 40 กว่าแห่งเรียกคนมาร่วมเวที และสำนักงานตำรวจแห่งชาติคุ้มครองความปลอดภัย

อย่าลืม…เรามีสินค้าคือแหล่งท่องเที่ยวดีๆ เช่น กรุงเทพฯ มีเกาะรัตนโกสินทร์ เชียงใหม่มีโบราณสถานรอบเวียง ภูเก็ต เกาะสมุยมีทะเลรอบเกาะ และอีสานมีปราชญ์ท้องถิ่นเล่าตำนานโบราณและพื้นบ้านน่ารู้แก่นักปั่นสองน่องทัวร์

เครดิสภาพ จาก Narut Su
แต่ว่าก็ว่า…บ้านเราขาดการเอาใจใส่ดูแล “ไบซิเคิล เวย์” ที่สมบูรณ์ปลอดภัย สำหรับทัวร์จักรยานที่เป็นกลุ่ม “นีชมาร์เก็ต” ทางการตลาด ซึ่งสนใจมาปั่นใช้จ่ายเงินทิ้งไว้บ้านเรา…กระนั้นอุปสรรคใหญ่หลวงคือผู้ใช้รถใช้ถนนยังขาดวินัยต่อกฎหมายจราจร จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งกับคนกลุ่มนี้ และแต่ละครั้งก็เป็นข่าวกระฉ่อนตามกระแสยุคสื่อดิจิทัลไร้สายครองโลก

อย่างเช่น เมื่อกุมภาพันธ์ 2558 นักปั่นรอบโลกชาวชิลี อยู่ในระหว่างการทำสถิติใหม่กินเนสส์เวิลด์ ปั่น 5 ทวีปภายใน 5 ปี ระยะทาง 250,000 กิโลเมตร และจะครบที่เมืองไทย แต่น่าเศร้าไม่สำเร็จเพราะถูกรถกระบะพุ่งชนจนเสียชีวิตเสียก่อน…หยุดสถิติตัวเองไว้แค่นั้น

ต่อมาพฤษภาคม 2565 สาวนักปั่นท่องเที่ยววัย 26 ชาวฝรั่งเศส ถูกรถเก๋งพุ่งชนสยองที่สี่แยกสัญญาณไฟจราจรคลองมะขามเรียง ต.ประตูชัย จ.พระนครศรีอยุธยา

มิถุนายนปีเดียวกันนักปั่นทัวริ่งชื่อดังไทย ที่ผ่านเวทีแข่งขันมาหลายประเทศ ถูกรถบรรทุก 10 ล้อชนทับร่างจนเสียชีวิตที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในเดือนเดียวกันสองสามีภรรยาแคนาเดียน กำลังขี่จักรยานอยู่บนถนนหน้ารีสอร์ตที่พัก ต.ท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี โชคร้ายถูกรถกระบะวิ่งมาด้วยความเร็วสูงชนภรรยาดับ สามีบาดเจ็บสาหัส

นี่ไม่ใช่ปัญหาจิ๊บจ๊อยที่เกิดซ้ำครั้งแต่ละปีในไทย แต่จงมองเหยื่อซึ่งเป็นต่างชาติย่อมไม่ใช่เรื่องกระจ้อยร่อย เพราะสังคมข่าวสารปัจจุบันมันรวดเร็วว่อนไปทั้งประเทศผู้เคราะห์ร้าย และโซเชียลมีเดียสื่อหลักและอินดีวิดอลพากันเสนอถ้วนหน้า สร้างความเสียหายแก่ไทยจากการสูญเสีย

โดยเฉพาะความล้มเหลวด้านตลาดกลุ่มไบซิเคิลทัวริ่งโลกกว้างอยู่พักใหญ่

ซีเอ็นเอ็นภาคท่องเที่ยวได้สะท้อนล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งโพสต์ให้ชาวโลกรู้ “10 อันดับเมืองยอดเยี่ยมในโลกที่สัมผัสได้ขณะขี่จักรยาน”…โดยไม่เห็นฝุ่นประเทศไทย!

ทั้งนี้ เกิดจากผลการสำรวจเมืองชวนให้หลงใหลแต่ละแห่ง โดยผู้มีทักษะการทำงานด้านจักรยานท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ด้วยปัจจัยส่งเสริมเมืองซึ่งมีศักยภาพและคุณค่าต่อสุขภาพ

10 เมืองที่ถูกคัดเลือกเป็นซอฟต์เพาเวอร์กับการทำทัวร์ซอฟต์แอดเวนเจอร์จักรยาน ได้แก่ “แอนต์เวิร์ป” เมืองทางตอนเหนือเบลเยียม เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์ศิลปะแสดงงานศิลปินเบลเยียม เหมาะเที่ยวด้วยจักรยานคู่ชีพช่วงอากาศดีสุดเมษายนถึงตุลาคม

“กรุงเบิร์น” สวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของแปลงกุหลาบอันลือชื่อที่นักปั่นรู้จัก เป็นเส้นทางออกกำลังกายที่รายล้อมด้วยสิ่งน่าสนใจ ไปจนถึงแหล่งประวัติศาสตร์ เช่น วิหารเบิร์นบนภูเขา

“กรุงโคเปนเฮเกน” เมืองจักรยานเดนมาร์ก มีเส้นทางปั่นเก่าแก่ยาว 385 กิโลเมตร สร้างแต่ปี 1892 ถึงวันนี้ ระหว่างทางผ่านเป็นชนบทริมน้ำและปาร์กซึ่งมีความปลอดภัยสูง “ไลพ์ซิก” แห่งรัฐซัคเซิน เขตปกครองพิเศษเยอรมนี ซีนเนอรีธรรมชาติสุดอลังการตลอดระยะทาง 185 กิโลเมตรสู่กรุงเบอร์ลินทางตะวันตกเฉียงใต้

“เมลเบิร์นซิตี้” ออสเตรเลีย เมืองฟู่ฟ่าด้านวัฒนธรกรรมเก่าก่อน มีถนนจักรยานระยะทาง 135 กิโลเมตร ผ่านริมฝั่งน้ำกับสนามแข่งม้าสู่ท้องถิ่นชนบท

ส่วน “มอนทรีออล” แคนาดา เมืองขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของประเทศ เมื่อปี 1980 มอลทรีออลได้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างทางจักรยานใหม่กว่า 100 กิโลเมตร โดยมีแผนการขยายเป็น 200 กิโลเมตรในอีก 5 ปีต่อไปในอนาคต

ซานฟรานซิสโก เมืองเสน่ห์แคลิฟอร์เนีย ที่มีสะพานโกลเด้นเกตเป็นหัวใจเรียกนักปั่นจากทั่วโลก และเมื่อยุโรปคือดินแดนจักรยาน สหรัฐอเมริกาก็คือเมืองท่องเที่ยวรองรับคนกลุ่มนี้ มีเส้นทางการปั่นมากถึง 747 กิโลเมตร บางช่วงท้าทายการปั่นบนเนินเขาด้วยความปลอดภัย

“สตราซบูร์” แห่งแคว้นอาลซัส ฝรั่งเศส ริมฝั่งแม่น้ำอีลใกล้ชายแดนเยอรมนี และเป็นแหล่งมีชื่อเสียงสุดปังสำหรับนักปั่น จนได้ชื่อว่าคือ “เมืองหลวงนักปั่นชาวฝรั่งเศส” ด้วยเส้นทางชวนให้สัมผัสบรรยากาศทั่วมุมเมือง 375 กิโลเมตร

“เทลอาวีฟ” อิสราเอล เป็นถิ่นย้อนยุคนักปั่นริมชายหาดฮิลตัน และเป็นประเทศบาวเฮาส์สไตล์ คือหัวก้าวหน้าทันสมัยริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือก็คือสวรรค์ของการปั่นทั่วโลก

“อูเทรคต์” เมืองใหญ่อันดับ 4 ของเนเธอร์แลนด์ และอัมสเตอร์ดัมได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองท่องเที่ยวของนักปั่นชั้นนำอันดับ 1 ของโลกมานาน จุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งสามารถสร้างสรรค์ความสุขให้นักปั่น เช่น ในสวนสาธารณะ ลำคลองหลายสาย มิวเซียม และแหล่งประวัติศาสตร์ อาคารในอัมสเตอร์ดัมมีวงจรจักรยานเชื่อมถึงกันตลอด และเส้นทางจักรยาน 420 กิ โลเมตร ขณะเดียวกันที่นี่เป็นศูนย์กลางสิ่งอำนวยความสะดวกด้านที่พักรับนักปั่น 12,500 ห้อง

เสียดาย…เมืองไทยมีแหล่งสวยงามอวดนักปั่นมากมาย แต่นักปั่นกลัวตายจึงไม่อยากหอบหิ้วจักรยานคู่ชีพมาเสี่ยงโดยไม่จำเป็น…และไม่อยู่ในสายตากระทั่งสายข่าวซีเอ็นเอ็น