ธนาเคียแคมโบเดีย จากสู่ฝัน เป็นพังครืน?

อภิญญา ตะวันออก
(Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)

ดูท่าว่า ระบอบฮุนเซนกำลังจะพังคาที่ในอีกไม่ช้า

สัญญาณนั้น มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

กรณีธนาคารสหรัฐล้มละลาย และลามมาถึงธนาคารแห่งสวิสที่ฝั่งยุโรป ฟังดูเหมือนคนละประเด็น เหมือนกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน!

เมื่อ “แบงก์ล้ม” ที่นั่น สักวัน จะลามมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในประเทศที่ว่านั้นคือกัมพูชา

น่าประหลาดที่สถานะแบบนี้ก็มีในกัมพูชา และแถมผู้นำนาวายังเป็นเจ้าของธนาเคีย/ธนาคารนั้นอีกด้วย

ย้อนอดีตก่อนการเลือกตั้งทั่วไป/1993 นั้น สถาบันการเงินกัมพูชามีสภาพล้มละลายในตัวเองอยู่แล้ว จากระบอบคอมมิวนิสต์ ซ้ำร้าย เมื่อกองกำลังทหารยูเอ็นและต่างชาติมาจัดการเลือกตั้งชั่วคราวนั้น ก็ยิ่งทำให้ค่าเงินเรียลลอยตัวไร้สภาพเมื่อเทียบยูเอสดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ หลังการเลือกตั้งไม่นานจึงมีธนาคารเอกชนปิดตัว เจ้าของหนีออกนอกประเทศ ปล่อยชาวเขมรลูกที่อุตส่าห์เก็บออมออกมาประท้วงรายวัน

นั่นเองที่ทำให้เรารู้ว่า ชาวเขมรฝังใจเข็ดหลาบต่อระบบการเงินการธนาคารในประเทศของตน

ตั้งแต่สมัยสงครามการเมืองและเขมรแดง การออมเงินครัวเรือนลงดินลงไหไปตามสภาพ กระทั่งเปิดประเทศ มีการลงทุนใหม่ มีการนำเข้าสินค้าจากต่างปรเทศ ระบบเงินตราธนาคารที่มั่นคงจึงกลับมา แม้ว่าค่าเงินเรียลเขมรจะไม่กลับไปเหมือนเดิม และกัมพูชาหันไปออมเงินสหรัฐซึ่งกลายเป็นว่า สร้างความแข็งแกร่งให้ภาคธนาคารกัมพูชาเร็วกว่าที่คิด

แต่กว่าจะรอดมาได้ ก็มีธนาคารบางแห่งล้มครืนไปก่อน บางแห่งนั้น ถูกผู้ร่วมทุนใหม่อ้างข้อกฎหมายเข้ามายึดกิจการก็มี ชื่อแบงก์อะไรให้ลองไปถามเจ้าของบริษัทรอยัลกรุ๊ปกัมพูชา ปัจจุบันซึ่งขณะนี้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของสัมปทานและเป็นนายหน้าในกิจการต่างประเทศของรัฐบาลกัมพูชา

ระหว่างที่ศึกษาการได้ประโยชน์จากธนาคารเอกชนของต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศ ผู้นำรัฐนาวากัมพูชาเองก็ก่อตั้งธนาคารของตนไปด้วย และด้วยเป็นอินไซเดอร์ จึงสร้างความมั่งคั่งให้แก่ธนาคารมาขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม คงถึง “รอบเวลา” ที่กัมพูชาจะต้องเรียนรู้ภาคการเงินระหว่างประเทศที่ตนหลีกเลี่ยงจะสังฆกรรมมานาน อันจะว่าไปแล้วด้วยซ้ำ เมื่อต่างรู้กันดีว่า สถาบันการเงินเขมรนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาชญากรรมทางการเงิน หรือ “ฟอกเงิน” ขนาดไหน?

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เว้นเสียแต่พฤติกรรมซ้ำๆ ของผู้นำในความไม่กล้านำนโยบายสากลมาใช้กับสถาบันการเงินของตนเรื่อยมาตั้งแต่ยุคสีหนุ เขมรแดงของพล พต ที่เคยประกาศยกเลิกใช้เงินเรียลมาแล้ว

แล้วฮุน เซน ล่ะนั่น เขามีจริตพิสดารด้านเศรษฐกิจการเงินกัมพูชาอย่างไร?

อาทิ การผูกเงินเรียลกับเงินหยวนที่ผ่านมา? ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีผลอะไรในเชิงเศรษฐกิจ เว้นเสียแต่เศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชามีสถานะถดถอยจากนโยบายจีนเดียวแทนระบบเศรษฐกิจเดิมกับตะวันตก

และการที่สถาบันการเงินหลายแห่งในพนมเปญเสีย “สภาพคล่อง” ทั้งหมด เกิดจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่จีนและภาครัฐกัมพูชาร่วมกันก่อไว้

เกียด ชน (Photo by TOSHIFUMI KITAMURA / AFP)

ความถดถอยภาคเศรษฐกิจกัมพูชายุคใหม่ที่ว่านี้ ยังมีความแปลกร่วมสมัยกันมาจากขุนคลังทางเศรษฐกิจ ที่ไม่น่าเชื่อว่าอยู่มาตั้งแต่ยุค 60 เรื่อยมา กัมพูชาใช้ขุนพลคนเดียวกัน!

เขามีนามว่า เกียด ชน (89) อดีต รมว.เศรษฐกิจและการคลัง มาตั้งแต่สมัยสีหนุยุคปลาย เขายังเป็นสหายเขียว สัมพัน เอียง สารี และพล พต ปัญญาชนปฏิวัติที่มีแนวคิดสายกลาง ที่ทำงานถึง 3 ยุคสมัย ตั้งแต่สีหนุ-พล พต-ฮุน เซน ที่ประกาศยุติรับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง/2018

ได้รับความเชื่อระดับไหนจากฮุน เซน จึงครองตำแหน่งนี้ยาวนาน

นี่คือบุคคลที่พัวพันระบอบการปกครองเขมรที่ว่ากันว่าเต็มไปด้วยความฉ้อฉล แต่เกียด ชน กลับสามารถฟันฝ่าในทุกระบอบปกครอง ตั้งแต่เขมรแดงซึ่งแตกต่างอย่างมากกับระบอบฮุนเซน

อย่างเห็นได้ชัด เขาไม่เคยขัดแย้งกับฝ่ายใด สำหรับขุนคลังเขมร 3 ยุคสมัย กินเวลารวมกันเกือบ 4 ทศวรรษ ที่ปราศจากคู่แข่งในการดำรงตำแหน่งแต่ละวาระ

เกียด ชน สำหรับระบอบฮุน เซนแล้ว เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของระบอบฮุน เซน ที่แม้ว่ายังมีการฉ้อฉลคอร์รัปชั่นมโหฬารเหมือนสมัยสีหนุ ทว่า ด้วยการที่ประเทศมีรายได้จากการส่งออกและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจึงประคองตัวไปได้

ว่ากันตามตรงนั้น หลายฝ่ายต่างเห็นว่า ยุทธศาสตร์การคลังกัมพูชานั้น ออกจะล้าหลังไม่เท่าทันกระแสโลก โดยเฉพาะข้อกำหนดที่จะไม่เปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส

เกียด ชน นั้น รู้อยู่แก่ใจว่า การถือครองผลประโยชน์ในสถาบันการเงินการธนาคารอย่างลับๆ ของผู้นำรัฐนาวากัมพูชาและนอมินีที่จงใจแช่แข็งข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อต่อระบอบของตนอย่างปลอดภัยนั้น สร้างความสุ่มเสี่ยงและอาจก่อผลเสียตามมาหากภาคการเงินกัมพูชามีทีท่าสะดุดจนอาจล้มครืนลงได้

ตลอดยุคของเกียด ชน ระบบเศรษฐกิจกัมพูชาไม่ได้มีอะไรใหม่

และยังมีสถานะอันสุ่มเสี่ยงมานาน โดยภาครัฐเสียเองที่อุ้มสมภาคการธนาคารของเอกชนซึ่งตนเป็นนอมินีมีปัญหามาตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 เรื่อยมาจนถึงอสังหาริมทรัพย์ ที่มีหนี้เสียจำนวนมาก และกัมพูชาเองกำลังสูญเสียรายได้มหาศาลจากภาคส่งออก

ตลอด 30 ปีมานี้ กัมพูชาไม่เคยเลยที่จะต้องควักทุนสำรองตัวเองในการลงทุน ทุกอย่างได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะในฐานะประเทศยากไร้หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม การถูกบีบบังคับให้อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในทุกด้าน

โดยเฉพาะความจริงที่ว่า กัมพูชานั้นกำลัง “ถังแตก”

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า กัมพูชากำลังจะไปยืนบนจุดถังแตกนั้น?

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จตลาดแข่งขันทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการส่งออก สิ่งทอ เกษตรกรรมและอื่นๆ พิสูจน์ให้เห็นว่า กัมพูชากำลังไปสู่อนาคตที่ดี และไม่แปลกเลยที่วันนี้ ที่มันจะถึงเวลาในการปักธงความสำเร็จในสายตาชาวโลก ในแต่ละด้าน

ฉากหลังแห่งความอลังการเหล่านี้ กลับตรงข้ามในการที่ถูกชาวโลกและเพื่อนบ้านขุดคุ้ยตีแผ่ในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ความไม่ปกติด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างโครงการบ้านพักนักกีฬา และสภาพคล่องเม็ดเงินที่เห็นชัดเจนว่า อยู่ในภาวะถังแตก

ว่ากันตามจริง สถาบันสินเชื่อและธนาคารบางแห่งอยู่ในภาวะส่อล้มและอาจถึงขั้นสิ้นสภาพคล่อง หากประชาชนพากันแห่ไปถอนเงิน

หลังจาก 1975 ที่กัมพูชาประสบวิกฤตการค้าเงินเรียลครั้งใหญ่ ในรอบ 48 ปีที่ผ่านมา กัมพูชายังไม่เคยประสบหายนะทางการเงิน ซึ่งนั่นไม่ใช่จะการันตีว่าจะไม่มี สำหรับเหล่า “ธนาเคีย” แคมโบเดียซึ่งถือครองโดยชนชั้นนำ ทั้งนอมินีและอีลิตเขมร

ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยสีหนุ แต่คราวนี้ เปลี่ยนสถานะไปแล้ว เมื่อชาวเขมรส่วนใหญ่หันไปครองเงินเหรียญสหรัฐ และกัมพูชามีสถาบันการเงินต่างชาติที่ชาวเขมรนิยมใช้บริการ

กระนั้น จะเกิดอะไรขึ้น หากธนาเคียเหล่านี้ซึ่งมีตระกูลนอมินีฮุน เซน ร่วมเป็นเจ้าของ มันล้มครืนลงไป?

รัฐบาลฮุน เซน จะสามารถเข้าไปอุ้มกิจการไหม ตลอดจนจะนำรัฐนาวาในระบอบของตนไปในทิศทางใด?

หรือนี่คือสัญญาณเศรษฐกิจกัมพูชารอบนี้? ทำไมกัมพูชาถึงเปิดหน้า รับยกเรียม-กำโปด 2 พันไร่ในการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บในเขตยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้ให้แก่ทางการจีนอย่างไม่รั้งรอคำทักท้วงของฝ่ายใด?

และหากทฤษฎีโดมิโนเดียวกันที่เคยล้มครืนระบอบสีหนุในอดีตจากปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายการเมืองอิงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฯลฯ

หรือเป็นไปได้ว่า “กับดัก” นี้กำลังกลืนกินระบอบฮุน เซนไปสู่ตะแลงแกงเดียวกัน!