ทำไมนโยบายพรรคการเมืองไทย ถึงแลดูไม่แตกต่างกัน | ณัชชาภัทร อมรกุล

การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ก็แลดูคึกคักดีอยู่เหมือนกันนะ แต่ในเนื้อหาของนโยบายที่ใช้หาเสียงแล้ว ทำไมไม่ค่อยแตกต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเรียนฟรี นโยบายแจกเงินผู้สูงอายุ ลดค่าไฟฟ้า ประกันรายได้เกษตรกร ต่างกันแค่ในรายละเอียด หรือมูลค่าเม็ดเงิน

ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหน ที่จะมีนโยบายที่โดดเด่นแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ เท่าไหร่เลย

ซึ่งเมื่อพิจารณาเงื่อนไขที่ทำให้นโยบายของพรรคการเมือง แลดูคล้ายคลึงน่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการ

ดังนี้

 

1. พรรคการเมืองไทยไม่ได้แตกต่างกันโดยฐานอุดมการณ์ ตามทฤษฎีแล้ว พรรคการเมืองเกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน

หากพรรคการเมืองมีที่มาจากฐานอุดมการณ์ นโยบายก็จะออกมาจากฐานอุดมการณ์นั้น เช่น พรรคการเมืองในประเทศอื่นที่มีฐานอุดมการณ์เป็นฝ่ายซ้าย หรือสังคมนิยม ก็จะเอื้อเฟื้อต่อสหภาพแรงงาน ดูอย่างพรรคแรงงานในประเทศอังกฤษ ก็จะมีนโยบายที่ดูแลแรงงาน สวัสดิการแรงงาน

ส่วนพรรคการเมืองที่มีฐานจากฝ่ายอนุรักษ์ ก็จะไม่นิยมแนวทางสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างพรรคอนุรักษนิยมในประเทศอังกฤษ จะเอื้อเฟื้อสวัสดิการให้เฉพาะแก่ผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ และไม่สนับสนุนผู้อพยพเข้าประเทศ

ในส่วนพรรคการเมืองที่มีฐานอุดมการณ์แบบขวาหรือชาตินิยม เช่น พรรคเนชั่นนอลฟรอนต์ ของฝรั่งเศส ที่มีคุณมารี เลอแปง เป็นหัวหน้าพรรค ก็จะมีนโยบายชาตินิยมที่ดูโดดเด่น เช่น การเลิกใช้เงินยูโร การต่อต้านสหภาพยุโรป ไม่ต้อนรับผู้อพยพ และใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม โดยการเก็บภาษีอุตสาหกรรมที่ไปตั้งโรงงานในต่างประเทศ

ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองมีฐานอุดมการณ์แตกต่างกัน ก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่พรรคการเมืองในประเทศไทยจำนวนมาก ผูกพันกันที่ผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ ดูจากการที่ลูกพรรคย้ายพรรคกันมโหฬารในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องของอุดมการณ์ของแต่ละพรรคเลย

 

2. พรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นตัวแทนของความปริแยก (cleavage)

ความปริแยกเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม เป็นร่องรอยที่ทำให้เห็นสมาชิกของชุมชนหรือสังคมแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ อุดมการณ์ อาชีพ รายได้ ฯลฯ

ความปริแยกไม่ได้แปลว่าขัดแย้ง และสามารถผันผวนเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปัจจัยการผลิต เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

นิธิ เนื่องจำนงค์ (2563) ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือเรื่อง “ประชานิยมในโลกที่เหลื่อมล้ำ” ว่า นโยบายของพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จ เพราะยืนอยู่บนรอยปริแยกของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นมายาวนานก่อนหน้านั้นกว่า 40 ปี เป็นระหว่างคนในเมือง (ที่มีโอกาสมากและเสียงดังมาก) กับคนในชนบท (ที่มีโอกาสน้อยและถูกดึงทรัพยากรออกไป)

นโยบายของพรรคนี้จึงเน้น pain point ของคนชนบท เช่น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารประชาชน, ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก, การพักชำระหนี้) การสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) การเข้าถึงสวัสดิการสังคม (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า)

แต่สถานการณ์ใน พ.ศ.2566 กลับมีความแตกต่างจาก พ.ศ.2544 อย่างมาก ระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านไปในขณะที่รอยปริแยกเดิมก็ยังคงอยู่ แต่ก็เกิดรอยปริแยกใหม่ๆ และร้าวลึกมากขึ้น

แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ เป็นพรรคการเมืองแบบกินรวบ (catch all party) คือมีเป้าหมายเป็นคนทุกชนชั้นทุกหมู่เหล่า มีนโยบายที่ตอบสนองทุกๆ คน

ดังนั้น นโยบายที่ออกมาจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นนโยบายที่ตอบสนองได้กับส่วนใหญ่ในสังคม

เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกร นโยบายแจกเงินผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส นโยบายเรียนหนังสือฟรี ตลอดจนการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในวิธีการต่างๆ โดยเน้นความแตกต่างด้วยจำนวนเงิน

 

3. ความไม่ต่อเนื่องของพรรคการเมือง ที่ผ่านมา พรรคการเมืองตั้งง่าย ยุบง่าย เกินไป ใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องยกไมค์ไปถามความเห็นผู้นำกองทัพว่า รับได้ไหม คิดเห็นอย่างไรกับแคนดิเดตพรรคนั้นพรรคนี้ บวกกับอำนาจในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยที่มากเกินไปขององค์กรอิสระ ผู้คนก็ย้ายพรรคกันอลหม่านไปหมด เลือกตั้งแต่ละครั้งก็เปลี่ยนแจ๊กเก็ตอีกแล้ว พรรคการเมืองจึงอ่อนแอลงเรื่อยๆ และยิ่งเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองจำนวนมากเกินไป ก็ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจทำหน้าที่ผลักดันนโยบายที่ตนเองหาเสียงไว้ได้

ในภาพรวม สาเหตุที่นโยบายพรรคการเมืองของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ แลดูคล้ายคลึงกัน เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานมาจากความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ หรือเป็นตัวแทนของรอยปริแยกทางสังคม

แถมที่ผ่านมายังโดนยุบพรรคการเมืองได้ง่ายๆ ผู้สมัครในนามพรรคการเมืองก็เปลี่ยนพรรคกันบ่อยมาก ทำให้ภาพจำของความเป็นพรรคการเมืองในสายตาของประชาชนเลือนรางลง กลายเป็นภาพจำของตัวบุคคลแทน เช่น พรรคลุงตู่ พรรคลุงป้อม พรรคคุณหญิงสุดารัตน์ ฯลฯ การหาเสียงในนามของพรรคการเมืองก็ยิ่งเกิดยาก ไปผูกพันอยู่กับบุคลิกของหัวหน้าพรรคหรือคนเด่นคนดังในพรรคการเมืองมากกว่า

แล้วการสร้างนโยบายให้แตกต่าง จะมีความสำคัญอะไร