คณะทหารหนุ่ม (35) | ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน กับ พล.อ.เปรม

“สัญญาณจากคึกฤทธิ์”…

ก่อนมีประกาศพระบรมราชโองการให้นายทหารรับราชการ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 ผู้สนใจการเมืองและหนังสือพิมพ์ทั่วไปต่างเชื่อมั่นว่า พล.อ.เสริม ณ นคร จะควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยกเว้นแต่เพียงคอลัมน์ “ข้างสังเวียน” ในสยามรัฐรายวันฉบับวันที่ 25 กันยายน 2521 ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เท่านั้นที่ “ฟันธง” ว่าบุคคลซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไปคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แม้จะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นมีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับสถาบัน แต่ไม่มีใครคิดถึง

ย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก่อนหน้านี้

 

ความสำเร็จของกองทัพภาคที่ 2

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่ทำให้ขบวนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดประสานกับความสำเร็จของฝ่ายสังคมนิยมในอินโดจีนทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2518 ที่ให้การสนับสนุนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ จนมีคำขวัญในหมู่พลพรรคว่า “จากวนาสู่นาครในปี 2525”

ท่ามกลางความหวาดวิตกของสังคมไทยซึ่งแทบมองไม่เห็นทางออก ได้ปรากฏแสงสว่างแห่งความหวังขึ้นเริ่มแรกที่จังหวัดสกลนคร อันเป็นที่ตั้งของ “กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า” ภายใต้การบังคับบัญชาของรองแม่ทัพภาคที่ 2 “มือใหม่” จากศูนย์การทหารม้า กับคณะนายทหารความคิดก้าวหน้าของกองทัพภาคที่ 2 ได้ทดลองใช้ “ความคิดใหม่” ในการเอาชนะสงครามประชาชนที่ยืดเยื้อยาวนานและฝ่ายรัฐตกเป็นรองมาโดยตลอด

ความคิดใหม่นี้จะรู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมาว่า “การเมืองนำการทหาร”

รองแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านนั้นคือ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเข้ารับหน้าที่นี้เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516

 

ราชประชาสมาสัย

“กว่าจะครองอำนาจนำ” ของอาสา คำภา สะท้อนภาพอีกด้านของความสำเร็จนี้…

“นายทหารที่เติบโตจากกองทัพภาคที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันเป็นพิเศษ หลัง 14 ตุลา นายทหารกลุ่มนี้ได้สร้างผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะสงครามแย่งชิงมวลชนในชนบทกับ พคท. และนโยบายการเมืองนำการทหารที่ทดลองปฏิบัติในกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับพระราชกรณียกิจ ‘ลงไปสู่ประชาชน’ ภายใต้อุดมการณ์ราชประชาสมาสัย ประกอบกับได้ถวายงานรับใช้ในระหว่างการทรงงานในพื้นที่ภาคอีสานจนพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันกษัตริย์มานับแต่นั้น”

“ความใกล้ชิดระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับราชสำนักเริ่มต้นจากบทบาทการทำงานมวลชนในชนบทผ่านกองทัพภาคของ พล.อ.เปรม สมัยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 (2517-2520) ต่อมาราวปี 2521 ขณะดำรงตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ. ควบคู่กับ รมช.มหาดไทย”

“พล.อ.เปรมเริ่มมีบทบาทสำคัญในนโยบายการรวมอาสาสมัครจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในชนบทที่มีอยู่ประมาณ 200,000 คนให้เป็นกลุ่มเดียวกันภายใต้ชื่อ ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ’ โดยกระทรวงมหาดไทยควบคุมดูแลและกองทัพภาคเป็นผู้อบรม”

“เหตุที่ พล.อ.เปรมเป็นที่โปรดปรานพิเศษจากสถาบันจึงไม่แค่เพราะบุคลิก แต่ด้วยบทบาทของ พล.อ.เปรม สัมพันธ์กับมวลชนกลุ่มใหญ่ในชนบทซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยมีจุดร่วมเดียวกันคือการช่วงชิงมวลชนในชนบทจากฝ่ายคอมมิวนิสต์”

ด้วยเหตุปัจจัยนี้ รวมทั้งความห่วงกังวลต่อภัยคุกคามใหม่นอกประเทศ ที่มาจากชายแดนตะวันออกซึ่งเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2521 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงอยู่ในความสนใจของสถาบัน ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สะท้อนผ่านคอลัมน์ “ข้างสังเวียน” เพียง 7 วันก่อนมีพระบรมราชโองการโยกย้ายนายทหารประจำปี พ.ศ.2521

 

จดหมายเปิดผนึก พล.ต.มนูญกฤต

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คณะทหารหนุ่มก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังความในจดหมายเปิดผนึกของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ลง 9 กันยายน 2551

“ผมอยากให้ ฯพณฯ พิจารณาตนเอง (รูป-นาม) ว่า ฯพณฯ จากที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 มาเป็นผู้ช่วยบัญชาการทหารบกนั้นเป็นอย่างไร ฯพณฯ มีเพื่อนเพียงไม่เกิน 5 คน คือ พล.ต.สุดสาย, พล.อ.ประจวบ, พล.อ.ไพจิต, พล.ท.สท้าน

ในขณะนั้น ฯพณฯ พูดกับรณชัย (ปี้ด) ว่า ฯพณฯ คงเกษียณแค่ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แต่ผมคิดว่าเหล่าม้าเราหาคนดียาก ผมจึงนำเสนอเพื่อน ขอร้องให้พิจารณา ฯพณฯ เมื่อส่วนใหญ่เห็นด้วย ผมกับ พ.ท.ชายชาญ เทียนประภาส จึงไปขอความกรุณาจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในขณะนั้น (กลางเดือนกันยายน 2521)

ตอนแรก ฯพณฯ ถามผมว่า จะเอา พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นไปอยู่ที่ไหน แล้ว 5 เสือ ทบ.เก่า อาวุโสกว่าทั้งนั้น เขาจะว่าอย่างไร ผู้ใหญ่ใน ทบ., บก.สส. (เสือป่า) ในกลาโหม ขณะนั้นไม่มีผู้ใดเห็นด้วยเลยกับการที่ ฯพณฯ จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยไปไล่ พล.อ.เสริม ณ นคร

ฯพณฯ ทราบไหมว่า ทำไมท่านจึงได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก 1 ตุลาคม 2521 ข้ามผู้ใหญ่หลายคน และดัน พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.สส.

 

ด้วยความที่ ฯพณฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องเสียสละให้ ฯพณฯ ส่วน พล.อ.เสริมต้องเสียใจมาก แต่ท่านดีใจบนความไม่สบายใจของคนอื่น แล้วท่านเคยถามผมสักคำไหมว่า ผมกับ พ.ท.ชายชาญ เทียนประภาส ต้องปฏิบัติการอย่างไร ผมต้องทำทุกอย่างให้ ฯพณฯ เป็น ผบ.ทบ.ในเดือนตุลาคม 2521 ให้จงได้ ในที่สุด 1 ตุลาคม 2521 ท่านก็ได้เป็น ผบ.ทบ. ท่ามกลางคนด่า ผมถูกรุ่นพี่ จปร.5-6 ด่าทุกวัน

ท่านรู้ไหมครับ เขาด่าว่าผมทำลายระบบกองทัพบก อีกอย่าง ฯพณฯ ไม่มีผลงานอะไรที่เป็นการริเริ่มและโดดเด่น และเป็นต้นเหตุให้เกิดการแตกความสามัคคีในกองทัพ

แม่ทัพภาคที่ 1 (พล.ท.อำนาจ ดำริกาญจน์) เรียกผมไปพบที่กองทัพภาคที่ 1 ในขณะที่ผมเดินทางไปทหารราบ ร.1 รอ. เขาเตรียมกำลัง เบิกอาวุธกันแล้ว แต่ถูกคุณหญิงแสงเดือนบอก พล.อ.เสริม ณ นคร ให้หยุด ท่านจึงหยุด มิฉะนั้น เช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2521 คงได้มีการปะทะกันระหว่างทหารม้า (ผม) กับทหารราบแล้ว…”

สำรวจสถานการณ์อย่างรอบด้านเพื่อทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น แรงสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่มจึงเสมอเป็นเพียง “ปัจจัยหนึ่ง” เท่านั้นในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยอันมีลักษณะชี้ขาด

 

ปัจจัยภายนอก

ก่อนหน้าเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชา หลังเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญจากรัฐบาลของนายพลลอน นอล สำเร็จเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2518 แล้ว ความตึงเครียดที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ก็เกิดขึ้นทันที จนนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะด้วยกำลังหลายครั้งระหว่างกองกำลังเขมรแดงกับกองกำลังของไทย

ครั้งที่สำคัญและรุนแรงได้แก่เหตุการณ์ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2519

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2520