เสถียร โพธินันทะ : เขมะโพธินันโท ภิกขุ [ดังได้สดับมา]

ความสัมพันธ์ระหว่าง สมพร เทพสิทธา กับ เสถียร โพธินันทะ เป็นความสัมพันธ์ที่น่าศึกษา เป็นความสัมพันธ์โดยมี “งานเขียน” เป็นสะพานเชื่อม

ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นก็ยังมี “พระพุทธศาสนา” เป็นเหมือนเส้นไหมเชื่อมร้อย

“ข้าพเจ้าเลื่อมใสในงานของคุณเสถียร เมื่อได้บวชเป็นพระในปี 2491 โดยได้อ่านเรื่องจากหนังสือพิมพ์ธรรมจักษุ คุณเสถียรเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ธรรมจักษุที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง ผู้ที่อ่านเรื่องของคุณเสถียรจะต้องอัศจรรย์ใจที่เด็กหนุ่มอายุเพียง 17 ปี

“ช่างมีความรู้ในเรื่องพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และสามารถเขียนเรื่องได้ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะจับใจ”

และ “ในเดือนสิงหาคม 2492 ข้าพเจ้าต้องเดินทางจากประเทศไทยเพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา คุณเสถียรได้มอบหนังสือชื่อ “ธรรมสมบัติ” ให้แก่ข้าพเจ้า 1 ชุด โดยได้เขียนคำมอบไว้ที่หนังสือว่า

“พระพุทธพจน์แปลนี้ขอมอบให้แก่อุบาสกสมพร เทพสิทธา ผู้เป็นกัลยาณมิตรไว้เป็นที่ระฤกในสมัยที่จาริกไปเพื่อการศึกษาในไพรัชประเทศ หวังว่าจะได้นำเอาประทีบ กล่าวคือ พระธรรมที่ได้จากหนังสือเหล่านี้ส่องขจัดโมหะของเหล่าชน ณ แผ่นดินนั้น อย่างน้อยคงจะได้โปรดชาวหนุ่มสาวนักศึกษาไทยด้วยกันให้เข้าใจการศาสนา

รัตนัตยาภาวนะ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ด้วยความรักและนับถือ เสถียร โพธินันทะ”

นั่นคือสายสัมพันธ์ระหว่าง สมพร เทพสิทธา กับ เสถียร โพธินันทะ อันมีจุดร่วมมาจากพระพุทธศาสนา

จากการเปลี่ยนนามสกุล “กมลมาลย์” มาเป็น “โพธินันทะ” จากการร่วมในการก่อตั้ง “คณะยุวพุทธิกะ” กระทั่งพัฒนาเป็น “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย”

จากนี้ก็เป็นพัฒนาการอันสำคัญอีกก้าวหนึ่งในชีวิตของ เสถียร โพธินันทะ

สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุว่า เสถียร โพธินันทะ ได้อุปสมบทที่วัดกันมาตุยาราม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2493

โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌายะ

ท่านเจ้าคุณพระธรรมธัชมุนี (ชิตทัตโต) วัดเทพศิรินทราวาส และ สุชีโว ภิกขุ วัดกันมาตุยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับนามในภาษาบาลีว่า “เขมะโพธินันโท”

ฉลองเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2494 และลาสิกขาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2494 รวมเวลาที่อุสมบทอยู่ 1 เดือนกับ 26 วัน

ในระหว่างที่อุปสมบทได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ ณ วัดกันมาตุยาราม เป็นครั้งคราว ตามคำอาราธนาของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ชี้ชัดว่างานของยุวพุทธิกสมาคมสำคัญสำหรับ เสถียร โพธินันทะ

ดังที่ สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุ เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นยุวพุทธิกสมาคมแล้ว นายบุญยง ว่องวานิช ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก

สมพร เทพสิทธา เล่าความหลังอย่างเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา

“ข้าพเจ้าได้นำหนังสือ “ธรรมสมบัติ” ทั้งชุดที่คุณเสถียรให้ติดตัวไปสหรัฐอเมริกาด้วย และได้ใช้ศึกษาหาความรู้ตลอดจนใช้ในการเขียนบทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเรื่องในระหว่างที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยแล้วคุณเสถียรอีกนั่นแหละที่ชักชวนให้ข้าพเจ้ามาร่วมงานกับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และขอร้องให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งนายกสมาคม”

นายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย นอกเหนือจาก นายบุญยง ว่องวานิช แล้วจึงมี นายปรก อัมระนันทน์ นายสมพร เทพสิทธา และ พ.ท.ประสาร ทองภักดี ต่อมาก็มีการจัดตั้งยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดต่างๆ

และพัฒนาขึ้นเป็น “สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ”

การที่สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติจะจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเป็นการสดุดีและรำลึกถึงในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ เสถียร โพธินันทะ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2510

จึงเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้

เพราะ เสถียร โพธินันทะ มีความสัมพันธ์กับ “ยุวพุทธิกสมาคม” ตั้งแต่เริ่มก่อหวาด ตั้งไข่ และไม่ว่าอยู่ในสมณเพศหรือฆราวาสเพศก็ตาม