อุษาวิถี (23) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (23)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

อี้ หมายถึง ความเที่ยงตรงหรือความซื่อสัตย์ (righteousness) โดยรูปของตัวอักษรอาจแยกได้เป็น 2 คำ คำหนึ่งอยู่ด้านบนคือ หยาง ที่หมายถึง แพะหรือแกะ อีกคำหนึ่งอยู่ด้านล่างคือ หว่อ ที่หมายถึง ข้าพเจ้า

จากรูปตัวอักษรนี้เมื่อรวมกันเป็นคำว่า อี้ ก็จะมีความหมายที่สื่อได้ว่า มนุษย์พึงอ่อนน้อม (ข้าพเจ้า) ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตใจ ฉะนั้น มนุษย์จึงพึงมีความซื่อสัตย์เที่ยงตรงต่อกัน ประดุจแพะหรือแกะที่เป็นสัตว์เชื่องปราศจากอัตตามาอยู่เหนือจิตใจ เพียงเพื่อจะเอาชนะคะคานกัน

จากความหมายนี้จึงมีบางที่แปลคำว่า อี้ ว่าหมายถึง คุณธรรม ไปด้วย

หลี่ หมายถึง รีต (propriety) โดยรูปตัวอักษรอาจแยกได้เป็น 3 คำ คำหนึ่งอยู่ด้านซ้ายคือ ซื่อ ที่หมายถึง การแสดงให้ปรากฏ อีกคำหนึ่งอยู่ด้านขวาบนคือ ชวี คำนี้มีอยู่ 2 ความหมาย ความหมายแรกคือ โค้ง งอ วกวน อีกความหมายหนึ่งคือ บทเพลง กวี ดนตรี

คำที่สามอยู่ด้านขวาล่างคือ โต้ว โดยทั่วไปจะหมายถึง ถั่ว แต่ในสมัยโบราณคำคำนี้ยังหมายถึง ภาชนะที่ใส่เนื้อหรืออาหาร

เมื่อรวมทั้งสามคำมาเป็นรูปตัวอักษรอ่านว่า หลี่ จึงสื่อความหมายได้ว่า การแสดงออกอย่างเปิดเผยด้วยความคารวะนอบน้อม (โค้ง) หรือสรรเสริญ (ผ่านบทกวี บทเพลง หรือดนตรีที่ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต ไพเราะ ทรงคุณค่าต่อจิตใจ เพื่อให้หรือถวายบางสิ่งบางอย่างแก่ผู้ที่เราเคารพนับถือหรือแก่เทวดาฟ้าดิน

จากความหมายที่ว่านี้ หลี่ จึงมีความหมายที่กว้างขวางไม่เฉพาะแต่พิธีกรรม หากยังหมายถึง การแสดงความเคารพ กิริยามารยาท อากัปกิริยาท่าทาง ฯลฯ อีกด้วย

ในที่นี้จึงแปลว่า รีต เพราะให้ความหมายครอบคลุมกว้างขวางไปถึงคำว่า ธรรมเนียมปฏิบัติ ขนบจารีต ประเพณี พิธีกรรม หรือค่านิยม เป็นต้น

 

ส่วนนัยที่ขงจื่อหมายถึงก็คือ รีต ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือสื่อที่สะท้อนถึงจริยธรรมของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายพึงมี ในทางตรงข้าม หากผู้ใดปราศจากซึ่งรีตแล้ว ผู้นั้นก็เท่ากับไม่มีแม้แต่สามัญสำนึกทางด้านจริยธรรม

หากว่ากันตามนัยดังกล่าวแล้ว ลักษณะการยกมือไหว้ผู้ใหญ่ของผู้น้อยในประเพณีไทยที่ยึดถือเป็นปกติก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของรีตหรือหลี่เช่นกัน เป็นต้น

ดังนั้น หากมองให้ลึกกว่าการยกมือไหว้สวัสดีแล้ว การกล่าวคำว่า ขอบคุณหรือขอโทษของบุคคล หรือการเรียกบุคคลว่า พี่ ป้า น้า อา ฯลฯ ที่ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมในสังคมไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของรีต ที่สะท้อนว่าบุคคลนั้นได้รับการขัดเกลาให้เป็นสุภาพชนมาดีแล้ว

ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลไร้ซึ่งรีตดังตัวอย่างที่ยกมาแล้ว สังคมก็จะอยู่ร่วมกันด้วยยาก เพราะบุคคลจะไม่รู้สำนึกถึงสิ่งที่ดีงามที่ผู้อื่นมอบให้แก่ตนจึงไม่กล่าวคำว่า ขอบคุณ ไม่รู้สำนึกว่าตนได้ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อบุคคลอื่นจึงไม่กล่าวคำว่า ขอโทษ

กรณีคำว่า ขอโทษ นี้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเรื่องที่จีนและเกาหลีเรียกร้องให้ญี่ปุ่นกล่าวคำคำนี้ จากที่ญี่ปุ่นเคยไปก่อกรรมทำเข็ญต่อชาวจีนและชาวเกาหลีตั้งแต่ ค.ศ.1895 จนถึง ค.ศ.1945 (50 ปี) คือตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงเมื่อสงครามสิ้นสุดลงนั้น แต่ญี่ปุ่นไม่กล่าวหรือกล่าวโดยไม่จริงใจ จีนและเกาหลีย่อมเห็นว่า ญี่ปุ่นไม่รู้สำนึกว่าตนผิด

เมื่อไม่รู้สำนึกก็ย่อมคิดว่าตนไม่ผิด เมื่อไม่ผิดก็ย่อมที่จะก่อกรรมทำเข็ญเช่นนั้นขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้

ดังนั้น สังคมจีนจึงเห็นว่า บุคคลที่ไร้รีตหรือปฏิเสธรีตจึงเป็นคนทรามหรือคนถ่อย หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า เสี่ยวเหญิน (??) นั้นเอง

 

จื้อ หมายถึง ภูมิปัญญา (wisdom) โดยรูปของตัวอักษรแล้วอาจแยกได้เป็น 2 คำ คำหนึ่งอยู่ด้านบนคือ จือ ที่หมายถึง รู้ ความรู้ อีกคำหนึ่งอยู่ด้านล่างคือ ญื่อ ที่หมายถึง ดวงอาทิตย์

เมื่อคำทั้งสองรวมเป็นคำเดียวอ่านว่า จื้อ จึงสื่อความหมายได้ว่า ความรู้ (จือ) ที่กระจ่างแจ้ง (ดวงอาทิตย์)

กล่าวอีกอย่างคือ ความรู้จริงรู้แจ้ง ที่ไม่ใช่รู้เรื่องใดเพียงโดดๆ แต่เป็นความรู้ในเรื่องหนึ่งที่สามารถอย่างเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความรู้อื่นๆ อีกด้วย

จะเรียกว่ารู้อย่างรอบด้านก็คงไม่ผิดนัก

จากทั้งสี่คำที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หลักจริยธรรมของขงจื่อเป็นหลักที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน จะขาดหลักใดหลักหนึ่งไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้คำทั้งสี่จะมีความเชื่อมโยงต่อกันก็ตาม แต่หลังยุคขงจื่อไปแล้ว คำว่า หลี่ ดูเหมือนจะเป็นเพียง 1 ใน 4 คำที่ถูกชนชั้นปกครองจีนหยิบยกขึ้นมาให้มีบทบาทในการกำกับสังคมจีนอย่างนัยสำคัญ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า)

 

แนวคิดที่สอง เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรง แนวคิดนี้แม้ขงจื่อจะแสดงออกในหลายด้านด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ แนวคิดที่เรียกว่า ความเที่ยงแห่งนาม

ความเที่ยงแห่งนาม (Rectification of Names) หรือ เจิ้งหมิง นี้คำว่า นาม ในที่นี้มิได้หมายถึงนามของบุคคล (เช่น สมชาย สมหญิง เป็นต้น) หากแต่เป็นนามในทางสังคม เช่นนามว่า กษัตริย์ ขุนนาง ครู ศิษย์ พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ฯลฯ

โดยขงจื่อเห็นว่า นามแต่ละนามมีความหมายหรืออีกนัยหนึ่งคือ มีหน้าที่ที่แน่นอนอยู่ในตัวอยู่แล้ว

ฉะนั้น หากนามแต่ละนามปฏิบัติตนอย่างเที่ยงตรงกับนามของตนแล้ว สังคมก็จะอยู่อย่างสงบสุข

แต่ถ้าหากเป็นไปในทางตรงกันข้าม สังคมก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย หาความสงบไม่ได้ ดังในยุคที่ขงจื่อมีชีวิตอยู่

เช่น หากนามที่เรียกว่า กษัตริย์ ไม่ปฏิบัติตนด้วยการเป็นผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีเมตตาธรรม เอาแต่ข่มเหงประชาชน สังคมก็อยู่ไม่เป็นสุข

หรือหากนามที่เรียกว่า ประชาชน ไม่ปฏิบัติตนด้วยการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เอาแต่หลีกเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีแล้ว สังคมก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้

หรือหากนามที่เรียกว่า ศิษย์ ไม่ตั้งใจเล่าเรียน และนามว่า ครู ไม่ตั้งใจสอนสั่ง สังคมในอนาคตก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมามากมายได้

หรือนามว่า นักการเมือง ไม่ปฏิบัติตนเป็นผู้ปกครองที่ดี คิดแต่จะฉ้อฉล บ้านเมืองก็ยากที่จะเจริญขึ้นได้ เป็นต้น